กฟผ. งัดโรงไฟฟ้าก๊าซแทนถ่านหิน ปัดฝุ่นพื้นที่ จ.ระนอง-พังงา ผุดกำลังผลิตใหม่เพิ่ม (11 ธ.ค. 59)
ประชาชาติธุรกิจออนไลน์ 11 ธันวาคม 2559
กฟผ.งัดโรงไฟฟ้าก๊าซแทนถ่านหิน ปัดฝุ่นพื้นที่จ.ระนอง-พังงาผุดกำลังผลิตใหม่เพิ่ม
กฟผ.ปัดฝุ่นโรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติแห่งใหม่ ทดแทนโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่ล่าช้า เล็งศึกษาเชิงลึกพื้นที่ จ .ระนอง, กระบี่, ภูเก็ต และพังงา บอกปัดเอ็กโก้ที่เสนอตัวขยายโรงไฟฟ้าในพื้นที่ขนอม จ.นครศรีฯ ทดแทนโรงไฟฟ้าถ่านหิน มองไม่เป็นธรรมกับเอกชนรายอื่น
นายสหรัฐ บุญโพธิภักดี รองผู้ว่าการ ประจำสำนักผู้ว่าการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เปิดเผย "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า ภายหลังจากที่การพัฒนาโรงไฟฟ้าถ่านหิน จังหวัดกระบี่ กำลังผลิต 870 เมกะวัตต์ มีความล่าช้าและไม่สามารถผลิตไฟฟ้าเข้าระบบได้ในช่วงปี 2562 ตามที่กำหนดไว้ในแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศ หรือ PDP (Power Development Plan 2558-2579) นั้น ในกรณีที่กระทรวงพลังงานมีความชัดเจนว่าให้ กฟผ.พัฒนาโรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติทดแทน กฟผ.เตรียมที่จะศึกษาเพิ่มเติมใน 2 ประเด็น คือ 1) โรงไฟฟ้าก๊าซแห่งใหม่จะสามารถใช้พื้นที่ของโรงไฟฟ้ากระบี่เดิมได้หรือไม่ ในกรณีที่ศึกษาแล้วไม่เหมาะสม กฟผ.ได้เตรียมนำผลศึกษาที่ทำไว้ก่อนหน้านี้ว่าพื้นที่เหมาะสมพัฒนาคือ จังหวัดระนอง กระบี่ ภูเก็ต และจังหวัดพังงา และ 2) ก๊าซธรรมชาติที่จะมารองรับโรงไฟฟ้าใหม่จะมาจากส่วนใด
ตามข้อมูลเบื้องต้นที่ กฟผ.ได้ศึกษาไว้ก่อนหน้านี้ โดยเฉพาะที่ดินจังหวัดภูเก็ต พบว่ายังมี "ข้อจำกัด" ด้านขนาดที่ค่อนข้างเล็ก อาจจะไม่เหมาะสมในการสร้างโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ที่กำลังผลิต 800 เมกะวัตต์ขึ้นไป ฉะนั้นอาจจะต้องไปศึกษาเชิงลึกในพื้นที่ระนอง กระบี่ และพังงาต่อไป
สำหรับพื้นที่อำเภอทับสะแก จังหวัดประจวบคีรีขันธ์นั้น กฟผ.มองว่าพื้นที่ดังกล่าวถือว่าอยู่ในพื้นที่ทะเลฝั่งอ่าวไทย ซึ่งไม่ตอบโจทย์การแก้ปัญหาความมั่นคงทางไฟฟ้าให้กับพื้นที่ฝั่งทะเลอันดามัน
"ตั้งแต่ กฟผ.เริ่มศึกษาความเป็นไปได้ของโรงไฟฟ้าถ่านหินในพื้นที่ภาคใต้แล้ว กฟผ.ได้เตรียมแผนสำรองไว้รองรับเพื่อลดความเสี่ยงด้วยการศึกษาโรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติแห่งใหม่ด้วย ถือเป็นการปัดฝุ่นของเดิมและมาลงรายละเอียดเชิงลึกมากขึ้น แต่ถ้าสามารถจะพัฒนาโรงไฟฟ้าถ่านหินได้น่าจะสามารถแก้ปัญหาได้ดีกว่าทั้งในแง่ของการลดต้นทุนการผลิตไฟฟ้าและสร้างความมั่นคงทางไฟฟ้าให้กับพื้นที่ภาคใต้ ที่ความต้องการใช้ขยายตัวเพิ่มขึ้น 5% ในทุกปี"
นายสหรัฐกล่าวเพิ่มเติมถึงกรณีที่บริษัท ผลิตไฟฟ้า จำกัด (มหาชน) หรือ EGCO ได้นำเสนอให้มีการพิจารณาโรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติแห่งใหม่ในพื้นที่ส่วนขยายของโรงไฟฟ้าขนอม จังหวัดนครศรีธรรมราชว่า ในประเด็นนี้ต้องขึ้นอยู่กับระดับนโยบายว่าจะมีการพิจารณาอย่างไร ซึ่งหากมีการอนุมัติให้เอ็กโก้เป็นผู้ดำเนินการ อาจจะทำให้ผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนรายใหญ่ (IPP) รายอื่น ๆ มองว่าไม่เป็นธรรม ส่วนก่อนหน้านี้ที่มีการอนุมัติให้ขยายโรงไฟฟ้าขนอมเพิ่มเติม เพราะว่าโรงเดิมหมดอายุและหากไม่มีกำลังผลิตใหม่เข้ามาเพิ่มเติมอาจจะส่งผลกระทบต่อโรงแยกก๊าซธรรมชาติในพื้นที่ด้วย
อย่างไรก็ตาม นอกเหนือจากการดำเนินการศึกษาพื้นที่โรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติแห่งใหม่เพิ่มเติมแล้ว กฟผ.ยังได้รับมอบหมายจาก ก.พลังงาน ให้ดำเนินการถามความเห็นของประชาชนในพื้นที่รอบโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่อีกครั้ง โดยเน้นให้ความสำคัญกับประชาชนที่อยู่ในพื้นที่อย่างแท้จริง ซึ่ง กฟผ.จะหาหน่วยงานที่ได้รับความเชื่อถือมาดำเนินให้แล้วเสร็จภายในเดือนกุมภาพันธ์ 2560 นี้
รายงานข่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับแผนสำรองจากกรณีที่ไม่สามารถพัฒนาโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่ได้นั้น ก่อนหน้านี้ กฟผ.ได้นำเสนอ 2 แนวคิด คือ 1) การพัฒนาโรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติ โดยใช้ก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) เป็นเชื้อเพลิง และ กฟผ.จะเป็นผู้นำเข้าเอง ด้วยการสร้างคลังก๊าซ LNG ลอยน้ำ หรือ FSRU (Floating Storage Regasification Unit) เพิ่มอีก 1 แห่ง และ 2) การสร้างโรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติแห่งใหม่ ซึ่ง ก.พลังงานมองว่ามีความเป็นไปได้มากกว่า และใช้เวลาดำเนินการเพียง 5 ปีเท่านั้น
สำหรับโรงไฟฟ้าถ่านหินภายใต้ความรับผิดชอบของ กฟผ.ตามแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศนั้น ระบุจะต้องมีโรงไฟฟ้าถ่านหินเพิ่มขึ้น 4 แห่ง กำลังผลิตรวม 4,000 เมกะวัตต์ โดยเริ่มต้นศึกษาที่จังหวัดกระบี่ และในอำเภอเทพา จังหวัดสงขลาก่อน สำหรับโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่ กฟผ.จะใช้เทคโนโลยีถ่านหินสะอาด และจะมีการนำเข้าถ่านหินจากประเทศอินโดนีเซีย หรือออสเตรเลีย ประมาณ 7,260 ตัน/วัน โดยใช้เส้นทางเดินเรือเดียวกันกับเรือขนส่งน้ำมันเตาของโรงไฟฟ้ากระบี่ในปัจจุบัน โดย กฟผ.ได้เตรียมระบบลำเลียงถ่านหินที่มีทั้งสายพานลำเลียงและขุดอุโมงค์เพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม