"อัคราฯ" เลิกจ้าง 1 พัน พนง.เหมืองทอง - รัฐเมินต่อใบอนุญาต (11 ธ.ค. 59)

ประชาชาติธุรกิจออนไลน์ 11 ธันวาคม 2559
"อัคราฯ"เลิกจ้าง1พันพนง.เหมืองทอง-รัฐเมินต่อใบอนุญาต

อัครา รีซอร์สเซส ถอดใจหลังใบต่ออนุญาตประกอบโลหกรรม เหมืองแร่ทองคำในพิจิตร-เพชรบูรณ์ไม่คืบ ประกาศหยุดผลิต-เลิกจ้างบริษัทในเครือแล้ว พนักงานกว่า 1,000 คนเคว้ง ทั้งที่ศักยภาพเหมืองทองยังเหลือผลิตได้จนถึงปี"71 กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่แจง การตัดสินใจต่อใบอนุญาตขึ้นอยู่กับคณะกรรมการนโนบายบริหารจัดการแร่

ผู้สื่อข่าว "ประชาชาติธุรกิจ" รายงานว่า เมื่อวันที่ 28 พ.ย. 59 บริษัท อัครา รีซอร์สเซส จำกัด (มหาชน) ได้ประกาศเลิกจ้างพนักงานที่มีอยู่ 1,004 คน โดยหนังสือเลิกจ้างดังกล่าวระบุว่า สืบเนื่องจากกระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม รวมถึงกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ได้มีมติหลังการหารือประชุมร่วมกัน โดยเห็นสมควรให้ "ยุติ" การอนุญาตอาชญาบัตรพิเศษ สำรวจแร่ทองคำและประทานบัตรทำเหมืองแร่ทองคำ รวมถึงคำขอต่ออายุประทานบัตร และให้ต่ออายุใบอนุญาตประกอบโลหกรรมของเหมืองแร่ทองคำชาตรีออกไปถึงวันที่ 31 ธ.ค. 59 ซึ่งมีผลกระทบต่อการดำเนินกิจการของบริษัทเป็นอย่างมาก บริษัทจึงมีความจำเป็นต้องปิดตัวโครงการเหมืองแร่ทองคำชาตรี (สาขาพิจิตร) ของบริษัทลง ซึ่งมีผลกระทบโดยตรงต่อการปฏิบัติหน้าที่ของพนักงานและรายได้ของบริษัท จึงต้องเลิกจ้างนับตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 60 เป็นต้นไป 

อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้มติคณะรัฐมนตรี มีคำสั่งให้ต่อใบอนุญาตประกอบโลหกรรมให้กับบริษัทอัครา รีซอร์สเซส สำหรับพื้นที่เหมืองแร่ทองคำชาตรีในพื้นที่ ต.เขาเจ็ดลูก อ.ทับคล้อ จ.พิจิตร และ ต.ท้ายดง อ.วังโปง จ.เพชรบูรณ์ ถึงวันที่ 31 ธ.ค. 2559 จากนั้นบริษัทอัคราฯจึงยื่นขอต่อใบอนุญาตประกอบโลหกรรมอีกครั้งต่อกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ แต่จนถึงขณะนี้ยังไม่มีการพิจารณาแต่อย่างใด ส่งผลให้บริษัทอัครา รีซอร์สเซสตัดสินใจประกาศเลิกจ้างพนักงานดังกล่าว

นายเชิดศักดิ์ อรรถอารุณ ผู้จัดการฝ่ายประสานกิจการภายนอก บริษัท อัครา รีซอร์สเซส จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า เนื่องจากยังไม่มีความชัดเจนจากภาครัฐว่าจะให้ต่อใบอนุญาตประกอบโลหกรรมหรือไม่ จึงประกาศเลิกจ้างพนักงานดังกล่าว โดยจะมีพนักงานใน 8 บริษัทที่ได้รับผลกระทบทันที 1) บริษัท อัครา รีซอร์สเซส จำกัด (มหาชน) เลิกจ้างพนักงานฝ่ายผลิตทั้งหมดรวม 336 คน 2) บริษัท โลตัสฮอลวิศวกรรมเหมืองแร่และก่อสร้าง จำกัด พนักงาน 458 คน 3) บริษัท บอร์ท ลองเยียร์ จำกัด พนักงาน 28 คน 4) บริษัท ทีเคพีวี จำกัด พนักงาน 20 คน 5) บริษัท เมโทรแมชีนเนอรี่ จำกัด พนักงาน 67 คน 6) บริษัท แอตลาส คอปโก้ (ประเทศไทย) จำกัด พนักงาน 20 คน 7) บริษัท ริสค์ โปรเท็คชั่น (ประเทศไทยจำกัด) จำกัด พนักงาน 40 คน และ 8) ผู้รับเหมารายย่อยอื่น ๆ พนักงาน 35 คน

"เท่ากับว่าตอนนี้บริษัทอัครา รีซอร์สเซส ได้ทำตามมติของ ครม.ที่ให้ดำเนินกิจการเหมืองแร่ทองคำได้ถึงแค่สิ้นปีนี้เท่านั้น ซึ่งก่อนหน้าก็ได้พยายามยื่นหนังสือเพื่อขอเข้าพบท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม แต่ก็ไม่ได้รับการตอบรับแต่อย่างใด ฉะนั้น จึงตัดสินใจที่จะหยุดเลิกจ้างพนักงานในที่สุด

นายเชิดศักดิ์กล่าวเพิ่มเติมว่า ส่วนประเด็นที่บริษัทอัครา รีซอร์สเซสจะฟ้องร้องหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจากกรณีที่ไม่มีการต่อใบอนุญาตประกอบโลหกรรมนั้น จนถึงขณะนี้ยังไม่มีนโยบายจากบริษัทให้ดำเนินการใด ส่วนขั้นตอนหลังจากนี้ คือ ผู้ตรวจการแผ่นดินจะมีการเรียกหารือทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง เช่น กระทรวงแรงงาน เพื่อสรุปถึงแนวทางการเยียวยาพนักงานที่ถูกเลิกจ้างต่อไป 

นายสมบูรณ์ ยินดียั่งยืน รองอธิบดี รักษาการแทนอธิบดีกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ (กพร.) กล่าวว่า การพิจารณาขอต่ออายุใบอนุญาตประกอบโลหกรรมของบริษัทอัครา รีซอร์สเซส อยู่ระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมการนโยบายบริหารจัดการแร่แห่งชาติ ที่มีพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีเป็นประธาน ขณะเดียวกัน การพิจารณาต่อใบอนุญาตนั้นจะต้องเป็นไปตามระเบียบ กพร.ที่ว่าด้วย ผู้รับใบอนุญาตจะต้องปฏิบัติตามแผนผังและกรรมวิธีประกอบโลหกรรมโดยถูกต้องตลอดมา และไม่มีเหตุขัดข้องหรือนโยบายเป็นอย่างอื่น ซึ่งการประกอบโลหกรรมของบริษัทอัคราฯ ได้มีการร้องเรียนคัดค้านอย่างต่อเนื่อง และภายหลังจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ร่วมกันตรวจสอบข้อเท็จจริงตามคำสั่งนายกรัฐมนตรี จึงเป็นที่มาว่าให้ยึดมติ ครม.ต่อใบอนุญาตประกอบโลหกรรมไปถึงสิ้นปี 2559 เท่านั้น

นางอรรชกา สีบุญเรือง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่าทีมที่ปรึกษาด้านกฎหมาย ซึ่งมี นายอาทิตย์ วุฒิคะโร อดีตปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม, นายชาติ หงส์เทียมจันทร์ อดีตอธิบดีกรมพื้นฐานอุตสาหกรรมและการเหมืองแร่ (กพร.) และนายธวัช ผลความดี อดีตเลขาธิการ สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) นั้นยังคงหารือร่วมกัน หากเกิดกรณีที่บริษัท อัครา รีซอสเซสฯ มีการฟ้องร้องโดยเฉพาะเรื่องกรอบของกฎหมาย และข้อตกลงเขตการค้าเสรี( FTA) ระหว่างไทยและออสเตรเลีย และอำนาจของ พ.ร.บ.แร่ ฉบับที่ใช้ปัจจุบัน ที่ต้องคำนึงตามนโยบายป้องกันเชิงสาธารณะ ซึ่งในกรณีที่ปิดเหมืองแล้วในส่วนการฟื้นฟูก็ต้องดำเนินการทันที

รายงานข่าวเพิ่มเติมสำหรับปริมาณแร่ทองคำชาตรีของบริษัทอัครา รีซอร์สเซส คาดว่ายังเหลือศักยภาพถึง 40 ล้านตัน และสามารถขุดได้ถึงปี 2571 ตามที่เหลือของอายุประทานบัตร