‘People Go 2560’ 109 องค์กร ประกาศวาระประชาชน ‘ทิศทางประเทศ’ ประชาชนต้องมีส่วนร่วม (12 ธ.ค. 59)

Citizen Thai PBS 12 ธันวาคม 2559
‘People Go 2560’ 109 องค์กร ประกาศวาระประชาชน ‘ทิศทางประเทศ’ ประชาชนต้องมีส่วนร่วม

 

คำประกาศ People Go 2560 การพัฒนาที่ยั่งยืนต้องให้ประชาชนมีส่วนร่วม เรียกร้องร่างยุทธศาสตร์ชาติใหม่

11 ธ.ค. 2559 ดร.อนุสรณ์ อุณโณ เครือข่ายนักวิชาการเพื่อสิทธิพลเมือง กนกพร ดิษฐกระจันทร์ เครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือก บุญยืน สุขใหม่ สมัชชาคนจน และวศินี บุญที คนรุ่นใหม่เพื่อการเปลี่ยนแปลงสังคม ตัวแทน People Go Network forum จากทั้งหมด 109 องค์กร แถลงข่าว “ประกาศวาระประชาชน 2560” ต้องอยู่เหนือยุทธศาสตร์ชาติ ในกิจกรรม "People GO Network Forum" ระหว่างวันที่ 10-11 ธ.ค. 2559 ที่คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

คำประกาศมีใจความสำคัญ คือ การวางรากฐานทิศทางการพัฒนาประเทศด้วยการบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญฉบับที่กำลังจะบังคับใช้ เช่น แผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ควรสร้างความสมดุลให้เกิดการพัฒนาที่ยั่งยืนลดความเหลื่อมล้ำ และสร้างการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน และจะติดตามตรวจสอบการดำเนินงานของรัฐบาลในมิติต่าง ๆ โดยเฉพาะจะไม่ให้ลิดรอนสิทธิการเลือกตั้งของประชาชน 

รวมทั้งเรียกร้องว่าประชาชนต้องมีส่วนร่วมในการร่างยุทธศาสตร์ชาติฉบับใหม่ คืนสิทธิความเป็นพลเมือง สิทธิเกษตรกร และสิทธิชุมชน ที่มีหน้าที่กำหนดความเป็นไปในทิศทางของประเทศ มีส่วนร่วมในการตัดสินใจเลือก ออกแบบ และคัดค้านการดำเนินการของภาครัฐที่สร้างความทุกข์ยากให้กับพี่น้องประชาชน จัดให้มีการเลือกตั้งโดยบริสุทธิ์และยุติธรรมโดยเร็ว และจัดให้มีการกระจายอำนาจการปกครอง และให้อำนาจประชาชนในการตรวจสอบการทำงานของฝ่ายการเมืองแทนที่จะเป็นองค์กรอิสระที่มาจากการแต่งตั้ง

รายละเอียด ดังนี้

 

คำประกาศ People Go 2560

          เราเครือข่ายประชาชน “People Go Network Forum” ซึ่งประกอบด้วยชาวบ้าน เกษตรกร คณาจารย์ นักวิชาการ องค์กรพัฒนาเอกชน กลุ่มแรงงาน สื่อมวลชน นิสิต นักศึกษา และผู้ประกอบอาชีพอิสระ 109 องค์กร ได้ร่วมกันทบทวนสถานการณ์ของประเทศภายหลังรัฐประหาร โดยเฉพาะอย่างยิ่งปัญหาและความเดือดร้อนที่เกิดกับพี่น้องประชาชน ซึ่งเป็นผลมาจากอคติที่มีต่อกลุ่มบุคคลข้างต้น เราเครือข่ายประชาชนจึงขอประกาศดังนี้

1. เราขอย้ำเตือนให้สังคมตระหนักว่า การวางรากฐานทิศทางการพัฒนาประเทศ ด้วยการบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญฉบับที่กำลังจะบังคับใช้ เช่น แผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี และการดำเนินการของรัฐบาลในช่วงที่ผ่านมา ได้วางทิศทางการพัฒนาประเทศไปสู่

1.1 ความเหลื่อมล้ำในสังคมที่จะขยายวงกว้างขึ้น จากการลดสวัสดิการและการปรับเปลี่ยนระบบสวัสดิการถ้วนหน้าเป็นการสงเคราะห์ให้กับคนเฉพาะกลุ่มที่ไปลงทะเบียน หรือปฏิบัติตามเงื่อนไขที่รัฐกำหนด

1.2 การขาดสมดุลของการพัฒนาระหว่าง คน สังคม เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อม เน้นการพัฒนาที่ทำลายสิ่งแวดล้อมเพื่อสร้างผลตอบแทนทางเศรษฐกิจ ละเลยมิติการพัฒนาคนและสังคม แต่ให้ความสำคัญกับบรรษัทเอกชน ซึ่งจะสร้างความเสียหายต่อทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม และทำลายคุณค่าความเป็นมนุษย์

1.3 การสร้างระบบการศึกษาที่ไม่เชื่อมั่นในระบอบประชาธิปไตย การกระจายอำนาจ และสิทธิเสรีภาพของประชาชน ด้วยการบ่มเพาะค่านิยมการท่องจำและเชื่อฟังผู้มีอำนาจให้กับเด็กและเยาวชนผ่านระบบการศึกษา ซึ่งจะทำให้เด็กและเยาวชนไทยมีลักษณะอำนาจนิยม โอนอ่อนผ่านตามผู้มีอำนาจ ทำเองไม่เป็น คิดเองไม่ได้ เชื่อฟังคำสั่งเพื่อให้ตนเองได้ประโยชน์

1.4 การทำลายวัฒนธรรมคนท้องถิ่น กลุ่มชาติพันธุ์ เกษตรกร ชาวนา ชาวประมงพื้นบ้าน ด้วยการลิดรอนสิทธิเสรีภาพ จำกัดพื้นที่การแสดงออก เอื้ออำนวยให้กลุ่มทุนเข้ามาลงทุนใช้ประโยชน์จากทรัพยากรเดิมที่กลุ่มคนเหล่านี้เคยได้อาศัยทำกิน ประเทศไทยจะขาดความหลากหลายทางวัฒนธรรมและความหลากหลายทางชีวภาพ เกษตรกร ชาวนา ชาวประมง จะกลายเป็นแรงงานรับจ้าง ชีวิตมีความทุกข์ยากเพิ่มขึ้น

1.5 การมีผู้แทนทางการเมืองที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง องค์กรอิสระที่ถูกอำนาจครอบงำและไม่ยึดโยงกับความต้องการของประชาชน การทำประชามติที่คลุมเครือและการข่มขู่คุกคามและการขัดขวางการเคลื่อนไหวของประชาชน

2. เราจะติดตามตรวจสอบการดำเนินงานของรัฐบาล ในด้าน

2.1 การลิดรอนสิทธิการเลือกตั้งของประชาชน จากการเปลี่ยนแปลงระบบการเลือกตั้งที่จะทำให้เสียงของประชาชนลดความสำคัญลง 

2.2 การสืบทอดอำนาจของคณะรัฐประหารและพวกพ้อง ซึ่งถอยไปอยู่หลังฉากและยังคงมีอำนาจกำกับการทำงานของคณะรัฐมนตรีและกลไกรัฐที่จะมีขึ้นหลังการเลือกตั้ง

2.3 กฎหมาย กฎ ประกาศ และคำสั่งที่ละเมิดสิทธิเสรีภาพของประชาชนและสิทธิชุมชน ที่ได้มีผลบังคับใช้แล้ว เช่น พ.ร.บ.ชุมนุม การใช้อำนาจตามมาตรา 44 คำสั่งและประกาศ คสช. ฉบับต่างๆ อาทิ 64/2557 66/2557 97/2557 3/2558 3/2559 4/2559 9/2559 พ.ร.บ.แร่ และที่เตรียมการที่จะยกร่าง ประกาศบังคับใช้ อาทิ กฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ กฎหมายที่แย่งยึดที่ดินและทรัพยากรของประชาชนมาเป็นของรัฐ ประกาศและคำสั่งที่เอื้อประโยชน์ให้กลุ่มทุนเข้ามาดำเนินการแสวงหาประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติ ทำลายสิ่งแวดล้อม และทำลายวัฒนธรรม ชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชน

2.4 การใช้อำนาจรัฐเอื้อประโยชน์ให้กับกลุ่มทุนในชาติและต่างชาติผ่านการเจรจาการค้าและการทำข้อตกลงหรือหนังสือสัญญาระหว่างประเทศ ตลอดจากการส่งเสริมการเกษตรพันธะสัญญาที่เอื้อต่อกลุ่มทุนขนาดใหญ่ ตลอดจนการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษ

3. เราขอเรียกร้องพี่น้องประชาชน ภาครัฐ และเอกชน ดังต่อไปนี้ 

3.1 ประชาชนต้องมีส่วนร่วมในการร่างยุทธศาสตร์ชาติฉบับใหม่

3.2 คืนสิทธิความเป็นพลเมือง สิทธิเกษตรกร และสิทธิชุมชน ที่มีหน้าที่กำหนดความเป็นไปในทิศทางของประเทศ มีส่วนร่วมในการตัดสินใจเลือก ออกแบบ และคัดค้านการดำเนินการของภาครัฐที่สร้างความทุกข์ยากให้กับพี่น้องประชาชน

3.3 จัดให้มีการเลือกตั้งโดยบริสุทธิ์และยุติธรรมโดยเร็ว และจัดให้มีการกระจายอำนาจการปกครอง และให้อำนาจประชาชนในการตรวจสอบการทำงานของฝ่ายการเมืองแทนที่จะเป็นองค์กรอิสระที่มาจากการแต่งตั้ง

3.4 ปฏิรูปสถาบันหลักของชาติ ทั้งสถาบันในกระบวนการยุติธรรม สถาบันการศึกษา ระบบราชการ โดยเฉพาะสถาบันด้านความมั่นคง จะต้องสร้างความเชื่อมั่นในการทำหน้าที่ตามกฎหมาย และเจตจำนงของประชาชน

3.5 เปลี่ยนแบบแผนและโครงสร้างการกระจายประโยชน์จากการพัฒนาประเทศ การเข้าถึงและใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ให้ทั่วถึงและเป็นธรรม มีการปฏิรูปที่ดินที่เอื้อประโยชน์ให้กับกลุ่มผู้เปราะบาง คนยากจน 

3.6 รัฐต้องลดบทบาทลงเป็นเพียงผู้กำกับดูแลสร้างความเป็นธรรมและอำนวยความยุติธรรม โดยส่งเสริมบทบาทและสร้างความเข้มแข็งให้ภาคประชาสังคมร่วมกับภาคธุรกิจเอกชนเป็นภาคส่วนหลักในการพัฒนาประเทศ

3.7 ให้รัฐสวัสดิการเป็นวาระแห่งชาติ ทุกฝ่ายร่วมผลักดันให้เกิดระบบอาทิ รระบบสุขภาพมาตรฐานเดียว ระบบบำนาญพื้นฐาน โครงสร้างภาษีและอัตราดอกเบี้ยการกู้ยืมเรียนที่เป็นธรรม การประกันรายได้ ระบบค่าจ้างที่เป็นธรรม การจ้างงานที่เป็นธรรมและคุ้มครองแรงงานเสมอภาคเท่าเทียม ซึ่งจะเป็นทางออกของปัญหาความเหลื่อมล้ำ แตกต่าง ของคนในสังคม จะต้องเป็นวาระแห่งชาติที่ทุกคนร่วมกันผลักดันให้เกิดขึ้น

3.8 พัฒนาประเทศอย่างสมดุลและยั่งยืน ให้ความสำคัญกับทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ที่นอกจากจะไม่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชนแล้ว ยังต้องดูแลรักษาให้มีใช้อย่างยั่งยืนสำหรับคนรุ่นต่อไป

3.9 เร่งสร้างการยอมรับในความแตกต่างหลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นสถานะทางเศรษฐกิจ สังคม ชาติพันธุ์ ศาสนา วงศ์ตระกูล เพศสภาวะ หรือว่าจุดยืนทางการเมือง เคารพศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ซึ่งกันและกันภายใต้สังคมพหุวัฒนธรรม

3.10 ประชาชนต้องมีส่วนร่วมและตรวจสอบการเจรจาทางการค้า ข้อตกลงและหนังสือสัญญาระหว่างประเทศ ตลอดจนฝ่ายนิติบัญญัติที่ยึดโยงกับอำนาจจากประชาชนจะต้องสามารถตรวจสอบฝ่ายบริหารในการเจรจาและทำข้อตกลงดังกล่าวได้เพื่อประโยชน์ของสาธารณะอย่างแท้จริง

3.11 มีนโยบายสนับสนุนเกษตรกรให้สามารถทำเกษตรได้ด้วยตนเองและอย่างยั่งยืน

11 ธันวาคม 2559
เครือข่ายประชาชน People Go Network Forum

 



องค์กรเครือข่าย People Go Network Forum
ในงาน People Go! ก้าวไปด้วยกัน ใส่ใจรัฐธรรมนูญกับสิทธิมนุษยชน 
ระหว่างวันที่ 10-11 ธันวาคม 2559 ณ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

1. เครือข่ายนักวิชาการเพื่อสิทธิพลเมือง
2. สมาคมรัฐศาสตร์ แห่งมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
3. สถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
4. โครงการรัฐศาสตร์เสวนา หลักสูตรรัฐศาสตร์บัณฑิต สาขาการเมืองและการจัดการปกครอง ภาควิชาการเมืองการปกครอง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
5. มูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม
6. เครือข่ายประชาชนเพื่อรัฐสวัสดิการกลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ-บำนาญแห่งชาติ
7. มูลนิธิบูรณะนิเวศ
8. เครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือก 
9. มูลนิธิเกษตรกรรมยั่งยืน(ประเทศไทย)
10. มูลนิธิพัฒนาที่อยู่อาศัย
11. สมัชชาคนจน
12. กลุ่มละครมะขามป้อม
13. เครือข่ายพลเมืองเน็ต
14. สมัชชาอู่ข้าวอู่น้ำภาคกลาง
15. มูลนิธินโยบายสุขภาวะ
16. ขบวนการประชาธิปไตยใหม่ (NDM)
17. กลุ่ม Mini Drama
18. กลุ่มการเมืองครั้งแรก
19. กลุ่มศึกษาเขตการค้าเสรีภาคประชาชน (FTA Watch)
20. Focus on the Global South
21. เครือข่ายสลัม 4 ภาค
22. มูลนิธิโลกสีเขียว
23. กลุ่มนิเวศวัฒนธรรมศึกษา
24. เครือข่ายประชาชนผู้เป็นเจ้าของแร่ประเทศไทย
25. กลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิด 6 หมู่บ้าน(พื้นที่คัดค้านเหมืองแร่ทองคำ ต.เขาหลวง อ.วังสะพุง จ.เลย)
26. กลุ่มรักษ์บ้านแหง(พื้นที่คัดค้านสัมปทานทำเหมืองแร่ถ่านหินลิกไนต์ ต.บ้านแหง อ.งาว จ.ลำปาง)
27. ชมรมอนุรักษ์ลุ่มน้ำสรอย ต.สรอย อ.วังชิ้น จ.แพร่ (พื้นที่การขอสัมปทานสำรวจแร่เหล็กและทองคำ)
28. กลุ่มพิทักษ์สิ่งแวดล้อมเนินมะปราง อ.เนินมะปราง จ.พิษณุโลก
29. กลุ่มฮักบ้านฮั่นแน้ว ต.เชียงกลม อ.ปากชม จ.เลย
30. กลุ่มคนรักษ์บ้านเกิดบำเหน็จณรงค์ อ.บำเหน็จณรงค์ จ.ชัยภูมิ
31. สมาคมพิทักษ์สิทธิชุมชนเขาคูหา ต.คูหาใต้ อ.รัตภูมิ จ.สงขลา
32. ศูนย์ประสานงานเยาวชนเพื่อสังคมนิยมประชาธิปไตย (YPD)
33. กลุ่มลูกชาวบ้าน ม.บูรพา 
34. กลุ่มเยาวชนบ้านอาสาเพื่อเด็กและเยาวชนปัตตานี
35. กลุ่มแก็งข้าวกล่อง ม.รามคำแหง
36. กลุ่มเพื่อนประชาชน
37. มูลนิธิศูนย์ข้อมูลชุมชน
38. เครือข่ายกลุ่มเกษตรกรภาคเหนือ (คกน.)
39. กลุ่มกระเหรี่ยงภาคเหนือ
40. เครือข่ายเพื่อนตะวันออกวาระเปลี่ยนตะวันออก
41. โครงการอินเตอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (iLaw)
42. สมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน
43. กลุ่มสหภาพแรงงานย่านรังสิตและใกล้เคียง(กสรก.) 
44. กลุ่มการศึกษาเพื่อความเป็นไท
45. สมัชชาเสรีแห่งมหาวิทยาลัยเชียงใหม่เพื่อประชาธิปไตย
46. กลุ่มแม่โจ้เสรีเพื่อประชาธิปไตย
47. สมัชชาสิทธิเสรีภาพนักศึกษาเพื่อประชาธิปไตย มหาวิทยาลัยราชภัฎเชียงใหม่
48. กลุ่มพลเมืองคนรุ่นใหม่(NGC)
49. กลุ่มลุ่มน้ำโขงศึกษา
50. กลุ่มพลเรียน
51. ศูนย์พหุวัฒนธรรมและนโยบายการศึกษา สถาบันวิจัยสังคม มหาวิทยาเชียงใหม่
52. สหพันธ์เกษตรกรภาคใต้ (สกต.)
53. กลุ่ม 24 มิถุนาประชาธิปไตย
54. แนวร่วมนักเขียนแห่งประเทศไทย
55. Cafe Democracy
56. กลุ่มรักษ์เขาชะเมา
57. สำนักปาตานีรายาเพื่อสันติภาพและการพัฒนา (LEMPAR)
58. เครือข่ายประชาชนชายแดนภาคใต้ปกป้องสิทธิชุมชนและสิ่งแวดล้อมเพื่อสันติภาพ(PERMATAMAS)
59. กลุ่มอนุรักษ์อ่าวบางละมุง 
60. สหพันธ์แรงงานอุตสาหกรรมสิ่งทอการตัดเย็บเสื้อผ้าและผลิตภัณฑ์หนังแห่งประเทศไทย
61. เครือข่ายรักษ์อ่าวอุดม 
62. กลุ่มประมงต้นแบบบ้านอ่าวอุดม 
63. กลุ่มประมงต้นแบบบ้านนาเกลือ 
64. กลุ่มประมงต้นแบบบ้านบางละมุง 
65. เครือข่ายสภาพลเมืองจังหวัดชลบุรี
66. โครงการพัฒนาศักยภาพชุมชนคนไร้รัฐ จ.อุบลราชธานี
67. เครือข่ายปกป้องผืนป่าตะวันออก
68. คณะทำงานนักเกรียนเปลี่ยนโลก
69. คณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน(กป.อพช.)
70. มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน
71. สมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชน(สสส.)
72. มูลนิธิผสานวัฒนธรรม
73. องค์กรสิทธิเสรีภาพของประชาชนจังหวัดชายแดนภาคใต้
74. เครือข่ายการศึกษาทางเลือก
75. สมัชชาเครือข่ายปฏิรูปการศึกษา
76. กลุ่มเสรีนนทรี
77. กลุ่มเสรีเกษตรศาสตร์
78. กลุ่มศิลปากรเสรีเพื่อประชาธิปไตย
79. สมาคมแรงงานนอกระบบประเทศไทย
80. มูลนิธิเพื่อการพัฒนาแรงงานและอาชีพ
81. มูลนิธิเข้าถึงเอดส์
82. แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย
83. สถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล
84. มูลนิธิชีววิถี (ฺBiothai)
85. Thai Climate Justice
86. เครือข่ายพลเมืองสงขลา 
87. คณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชนภาคใต้ (กป.อพช.ใต้) 
88. กลุ่ม Save Krabi
89. กลุ่มอนุรักษ์ลุ่มน้ำท่าสะท้อนและสิ่งแวดล้อม สุราษฎร์ธานี
90. เครือข่ายนักวิชาการเพื่อสังคมและองค์กรชุมชนภาคใต้
91. เครือข่ายประชาชนปกป้องทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สงขลา สตูล
92. เครือข่ายปกป้องอันดามันจากถ่านหิน
93. เครือข่ายรักษ์ชุมพร
94. เครือข่ายพลเมืองพัทลุง
95. เครือข่ายคนสงขลา-ปัตตานีไม่เอาโรงไฟฟ้าถ่านหิน 
96. เครือข่ายประชาชนติดตามแผนพัฒนาจังหวัดสตูล 
97. ศูนย์เรียนรู้วิถีธรรมชาติเพื่อชุมชน จะนะ
98. สภาทรัพยากรพันธุกรรมพื้นบ้านภาคใต้
99. สภาประชาชนอำเภอรัตภูมิ
101. สมาคมรักษ์ทะเลจะนะ
102. มูลนิธิอาสาสมัครเพื่อสังคม
103. เครือข่ายคนรุ่นใหม่เพื่อการเปลี่ยนแปลงสังคม
104. กลุ่มกรณีปัญหาที่สาธารณะประโยชน์โคกภูกระแต จ.นครพนม
105. กลุ่มกรณีปัญหาที่สาธารณะประโยชน์ดงคัดเค้า จ.นครพนา
106. กลุ่มอนุรักษ์ต้นน้ำท่าแซะ
107. ชุมชนโคกอีโด่ย
108. กลุ่มกรณีปัญหาทหารประกาศพระราชกฤษฎีกาเขตหวงห้ามฯ 2479 จ.นครสวรรค์ ทับที่ดินทำกิน
109. สภาองค์การลูกจ้างแรงงานสัมพันธ์แห่งประเทศไทย