โอซากา อีโคทาวน์ โมเดล "ไทย-ญี่ปุ่น" นำร่องนิคมเชิงนิเวศ 5 โซน (5 มิ.ย. 56)
ประชาชาติธุรกิจออนไลน์ 5 มิถุนายน 2556
โอซากา อีโคทาวน์ โมเดล "ไทย-ญี่ปุ่น" นำร่องนิคมเชิงนิเวศ 5 โซน
รัฐบาลญี่ปุ่นโดยกระทรวงสิ่งแวดล้อม กับกระทรวงเศรษฐกิจการค้าและอุตสาหกรรม (METI) ใช้เวลาถึง 17 ปี เริ่มต้นจากเมื่อ พ.ศ. 2538 มุ่งสนับสนุนให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นตั้งเป้าทำโครงการ "พัฒนาเมืองนิเวศ" จากนั้นปี 2548 จังหวัด "โอซากา" แคว้นคันไซ ได้ลุกขึ้นมาทำโครงการ Osaka Eco-Town Plan อย่างจริงจัง
เนื่องจากเป็นพื้นที่ที่มีกากของเสียอุตสาหกรรม แต่เดิมมีการจัดการไม่เหมาะสม แถมทำรีไซเคิลเฉลี่ยต่ำกว่ามาตรฐาน เพื่อความอยู่รอดของทั้ง 2 ฝ่ายคือ ภาคธุรกิจ และภาคสังคมชุมชน จึงต้องหันมายกเครื่องสิ่งแวดล้อมใหม่ทั้งหมด
โดยนำร่องทำ 6 โครงการ ประกอบด้วย 1.การสร้างโรงงานรีไซเคิลที่มีเทคโนโลยีล้ำหน้าบนพื้นที่ฝังกลบทะเล 2.การสร้างโรงงานรีไซเคิลกากของเสียอันตรายจากโรงงานขนาดกลางและเล็ก 3.การสร้างโรงงานรีไซเคิลที่มีส่วนช่วยลดปัญหาโลกร้อน 4.การใช้ประโยชน์พื้นที่ที่เป็นพื้นที่ฝังกลบกากของเสีย เป็นพื้นที่ตัวอย่างในสังคมเรื่องรีไซเคิลไปพร้อมกับร่วมฟื้นฟูธรรมชาติ 5.ใช้ประโยชน์จากพลังงานเหลือทิ้งที่เกิดขึ้นจากการจัดการของเสียอุตสาหกรรม และ 6.ส่งเสริมอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับสิ่งแวดล้อม เพื่อสนับสนุนการสร้างสังคมรีไซเคิล
นายอาทิตย์ วุฒิคะโร อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า โอซากา อีโคทาวน์ โมเดล ที่ครอบคลุมทั้ง 6 โครงการ ถือเป็นต้นแบบสำคัญที่กระทรวงอุตสาหกรรมและรัฐบาลไทยมุ่งความสนใจนำมาใช้พัฒนาประเทศ รณรงค์ทำโครงการ "อุตสาหกรรมเชิงนิเวศ" เริ่มต้นจากปีงบประมาณ 2555 เป็นต้นไป นำร่องใน 5 พื้นที่ ได้แก่ เขตประกอบการอุตสาหกรรมไออาร์พีซี จ.ระยอง สวนอุตสาหกรรมสหพัฒน์ 2 แห่ง ใน จ.ชลบุรี และ จ.ปราจีนบุรี สวนอุตสาหกรรม 304 จ.ปราจีนบุรี เขตประกอบการอุตสาหกรรมไทยซูซูกิ จ.ปทุมธานี
หลังจากเมื่อปลายเดือนพฤษภาคม 2555 ได้นำคณะสื่อมวลชนไทยเดินทางไปเยี่ยมชมโครงการอุตสาหกรรมต้นแบบในโอซากา เพื่อขยายความร่วมมือด้านเทคนิคกับกระทรวงเศรษฐกิจการค้าและอุตสาหกรรม ซึ่งไทยและญี่ปุ่นพร้อมจะร่วมมือกันทำทันที 3 เรื่องคือ
เรื่องแรก ขยายความร่วมมือพัฒนาศูนย์บริการจัดการของเสียระยะที่ 2 นิคมอุตสาหกรรมอมตะนคร ชลบุรี ตามแผนนายนากาโอะ มาซาฮิโกะ อธิบดีกระทรวงเมติ จะเดินทางมาลงนามเอ็มโอยูกับกรมโรงงานอุตสาหกรรม และการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) ระหว่าง 6-7 มิถุนายนนี้ เรื่องที่ 2 กระทรวงเมติกำลังพิจารณาส่งผู้เชี่ยวชาญระยะสั้นด้านการพัฒนาอุตสาหกรรมเชิงนิเวศมาให้คำปรึกษากรมโรงงานฯที่เตรียมเดินหน้าโครงการอีโคทาวน์ อินดัสทรี 5 พื้นที่แรก
เรื่องที่ 3 ญี่ปุ่นรับข้อเสนอของกรมโรงงานฯ โดยจะสนับสนุนผู้เชี่ยวชาญเข้ามาแนะนำการจัดทำแผนแม่บทเชิงปฏิบัติการ ซึ่งจะกำหนดเป็นพื้นที่ "แม่แบบ" เป็น "ตัวอย่าง" และมี "ระบบ" ชัดเจน ทั้งระยะสั้น ระยะกลาง ระยะยาว ครอบคลุม 5 มิติ ทั้งด้านกายภาพ เศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม สังคม การบริหารจัดการ โดยจะนำร่องพัฒนาในพื้นที่ที่มีปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมสูง 3 จังหวัด ได้แก่ สมุทรปราการ สมุทรสาคร พระนครศรีอยุธยา
ส่วนหัวใจหลักความสำเร็จของญี่ปุ่นจากโครงการโอซากา อีโคทาวน์ แพลนคือ รัฐบาลญี่ปุ่นสามารถ "ออกกฎหมาย" มารองรับหลายฉบับ ปรับปรุงกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับภาคอุตสาหกรรม อาทิ กฎหมายรีไซเคิลอาคารและอาหาร รถยนต์ กฎหมายพิเศษขจัดความเสียหายขยะอุตสาหกรรม กฎหมายกำจัดขยะ
ปี 2553 เมืองโอซากาเก็บสถิติการกำจัดขยะได้ถึง 31.5% ราว 112,804 ตัน อีก 3-5 ปีข้างหน้าจะรีไซเคิลให้ได้ทั้งหมด
นายจุลพงษ์ ทวีศรี อัครราชทูตที่ปรึกษาฝ่ายอุตสาหกรรม ร่วมคณะเดินทางครั้งนี้ด้วย อธิบายเพิ่มเติมว่า เหตุผลในการเลือก "โอซากา อีโคทาวน์ แพลน" เป็นโมเดลเพราะธุรกิจกลุ่มลงทุนใหญ่สุดในไทยขณะนี้มาจากโอซากา แคว้นคันไซ กระจายในหลากหลายอุตสาหกรรม
สำหรับโรงงานต้นแบบที่กรมโรงงานอุตสาหกรรม กับกระทรวงเมติ ญี่ปุ่น เปิดให้เข้าชมระบบการผลิตทั้งวงจร 3 แห่ง
แห่งแรก บริษัท Rematec SC จำกัด ผู้ประกอบการโรงงานรีไซเคิลกากของเสียอุตสาหกรรม ซึ่งนำเทคโนโลยีน้ำที่เรียกว่า subcritical water หรือกึ่งวิกฤต มาแยกกากของเสียออกเป็นสารแต่ละชนิด โดยสามารถแยกสิ่งที่ใช้แล้วได้ทั้งน้ำมัน กรดด่าง พลาสติก เศษไม้ ซากพืชซากสัตว์ กากตะกอนแห่งที่ 2 บริษัท DINS Sakai จำกัด
ผู้ประกอบการโรงงานผลิตเอทานอลจากเศษไม้วัสดุก่อสร้าง ไบโอแมส โดยใช้จุลินทรีย์ KO11 เป็นตัวย่อยสลายกระดาษ เศษพืช โรงงานนี้กำลังการผลิต 1.4 ล้านลิตร/ตัน สามารถใช้ประโยชน์จากชีวมวลผลิตไฟฟ้าได้อีก 1.95 เมกะวัตต์
แห่งที่ 3 บริษัท Kansai Recycling network จำกัด ผู้ประกอบการโรงงานรีไซเคิลด้วยเทคโนโลยีคาร์บอนไนเซชั่น
ของเสียอุตสาหกรรม และขยะชุมชน เช่น เศษอาหาร เปลี่ยนเป็นถ่านชีวภาพสำหรับทำเชื้อเพลิงหรือปรับปรุงดินเพื่อการเกษตร