กฟผ. ชี้ยังมีหลายประเทศที่ใช้ถ่านหินเพิ่มขึ้น เพราะต้นทุนผลิตกระแสไฟฟ้าถูกกว่าก๊าซธรรมชาติ (9 ธ.ค. 59)

ประชาไท 9 ธันวาคม 2559
กฟผ. ชี้ยังมีหลายประเทศที่ใช้ถ่านหินเพิ่มขึ้น เพราะต้นทุนผลิตกระแสไฟฟ้าถูกกว่าก๊าซธรรมชาติ

กฟผ. ขอบคุณ พรรคประชาธิปัตย์ที่เสนอให้สร้างโรงไฟฟ้าก๊าซ LNG แทนโรงไฟฟ้าถ่านหิน แต่ชี้ เยอรมัน-ออสเตรเลีย-ญี่ปุ่น-เกาหลี สร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ระบุไทยใช้พลังงานถ่านหินไม่ถึง 12 % จึงจำเป็นต้องกระจายสัดส่วนการใช้เชื้อเพลิงผลิตไฟฟ้าจากถ่านหินเพิ่มขึ้น

9 ธ.ค. 2559 สำนักข่าวไทย รายงานว่า ศานิต นิยมาคม ผู้อำนวยการฝ่ายสื่อสารองค์การ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เปิดเผยว่า ตามที่พรรคประชาธิปัตย์ยื่นหนังสือถึงนายกรัฐมนตรี โดยเสนอขอให้สร้างโรงไฟฟ้าด้วยก๊าซธรรมชาติเหลว หรือ LNG แทนโรงไฟฟ้าถ่านหินในพื้นที่ภาคใต้ เมื่อวันที่ 7 ธ.ค. นั้น  กฟผ.ขอขอบคุณที่พรรคประชาธิปัตย์ให้ความสนใจต่อการพัฒนาไฟฟ้าในภาคใต้ ซึ่งเห็นตรงกันว่ากำลังผลิตไฟฟ้าในภาคใต้ไม่เพียงพอ รวมทั้งเข้าใจถึงภารกิจของ กฟผ.ที่จำเป็นต้องสร้างโรงไฟฟ้าเพิ่ม

ศานิต  กล่าวต่อไปว่า การพัฒนาโรงไฟฟ้าในพื้นที่ภาคใต้เป็นไปตามยุทธศาสตร์ และแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย (PDP2015) เพื่อสนองความต้องการใช้ไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยคำนึงถึงการจัดหาแหล่งพลังงานไฟฟ้าหลักและเชื้อเพลิงพลังงานที่เหมาะสมมีเสถียรภาพมั่นคง รวมถึงใช้เทคโนโลยีประสิทธิภาพสูงที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

สำหรับราคาก๊าซธรรมชาติที่ลดลงอย่างรวดเร็วในช่วง 2 – 3 ปีที่ผ่านมา ทำให้ต้นทุนค่าไฟฟ้าที่ใช้ก๊าซใกล้เคียงกับถ่านหินนำเข้า ซึ่ง กฟผ. ติดตามและประเมินอย่างต่อเนื่องมาโดยตลอด เพราะ กฟผ. จำเป็นต้องทบทวนลำดับการผลิตโรงไฟฟ้า (Merit Order) และแผนการสร้างโรงไฟฟ้าเพิ่มเติมให้มีความเหมาะสมและสอดคล้องกับสถานการณ์


ภาพจาก : GREENPEACE

ทั้งนี้  โรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่และโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพาที่มีแผนการจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบปี 2564 – 2565  ซึ่งช่วงดังกล่าวจะมีการนำเข้า LNG มาใช้ผลิตไฟฟ้าในปริมาณสูงมากและจะมีต้นทุนค่าไฟฟ้าสูงกว่าถ่านหินนำเข้า หากคิดที่โรงไฟฟ้าขนาดกำลังผลิต 1,000 เมกะวัตต์ ต้นทุนค่าไฟฟ้าของโรงไฟฟ้าถ่านหินจะถูกกว่าประมาณ 3,000 ล้านบาทต่อปี และจากการคาดการณ์ราคาเชื้อเพลิงในอนาคต แม้จะประเมินโดยสถาบันที่มีความเชี่ยวชาญก็ตามก็ไม่อาจจะยืนยันได้ตามนั้น  ดังนั้น เรื่องสำคัญที่สุดตามหลักสากลประเทศต่างๆ ใช้หลักการกระจายความเสี่ยงโดยการใช้เชื้อเพลิงผลิตไฟฟ้าที่มีความหลากหลาย โดยมีสัดส่วนเฉลี่ยของประเทศต่างๆ ในโลกในการใช้ถ่านหินประมาณร้อยละ 30 ขึ้นไป และใช้ก๊าซประมาณร้อยละ 20 – 25 จึงทำให้หลายประเทศยังคงมีการสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง  เช่น ประเทศที่เป็นแหล่งท่องเที่ยวสำคัญของโลกอย่าง เยอรมัน ออสเตรเลีย ญี่ปุ่น เกาหลี หรือแม้แต่ มาเลเซีย ซึ่งมีแหล่งก๊าซธรรมชาติจำนวนมากยังเลือกใช้ถ่านหินผลิตไฟฟ้าถึงร้อยละ 30 – 40 เพราะมีต้นทุนถูกกว่า  เเละยังส่งก๊าซธรรมชาติออกไปขายนอกประเทศเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจ สำหรับประเทศไทย ปัจจุบันมีสัดส่วนการใช้ถ่านหินเพียงไม่ถึงร้อยละ 12 จึงจำเป็นต้องกระจายสัดส่วนการใช้เชื้อเพลิงผลิตไฟฟ้าจากถ่านหินเพิ่มขึ้น เพื่อช่วยสร้างความมั่นคงด้านพลังงานไฟฟ้าของประเทศ

ศานิต กล่าวว่า กฟผ.สนับสนุนให้มีการพัฒนาพลังงานทดแทนเพื่อช่วยลดก๊าซเรือนกระจกควบคู่ไปกับพลังงานหลักที่มั่นคงเชื่อถือได้ รวมทั้งโรงไฟฟ้าถ่านหินที่นำมาใช้เป็นระบบ Ultra Super Critical (USC) ช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไซด์สู่ชั้นบรรยากาศได้ถึงร้อยละ 30 ซึ่งได้บรรจุไว้ในแผนการลดก๊าซเรือนกระจกของประเทศไทยตามที่ได้ให้สัตยาบันไว้ในการประชุม COP 21 ซึ่ง กฟผ. ตระหนักเสมอว่าการดูแลชุมชนและสิ่งแวดล้อมถือเป็นสิ่งสำคัญสูงสุดในการสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน โดยมีการติดตั้งเครื่องกำจัดมลสารที่ทันสมัยและมีประสิทธิภาพสูง เพื่อควบคุมให้ดีกว่ามาตรฐานสากลที่องค์การอนามัยโลกกำหนด ตลอดจนให้ชุมชนมีส่วนร่วมตรวจสอบการดำเนินงาน เพื่อแสดงความโปร่งใสและสร้างความมั่นใจให้กับชุมชน

“กฟผ. ยินดีรับฟังข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะจากทุกฝ่ายที่เป็นข้อเท็จจริงและเป็นเหตุเป็นผล โดยเน้นการสร้างความมั่นคงด้านพลังงานไฟฟ้าของประเทศ รวมถึงคำนึงถึงผู้มีส่วนได้ส่วนเสียและยึดมั่นในประโยชน์โดยรวมเป็นสำคัญ” ศานิต กล่าว