กพช. ถกทางออก หลังเลื่อนก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน (8 ธ.ค. 59)

Thai PBS 8 ธันวาคม 2559
กพช.ถกทางออก หลังเลื่อนก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน

กระทรวงพลังงาน เสนอที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) อนุมัติสร้างคลังสำรองก๊าซธรรมชาติเหลว หรือ LNG เพิ่ม หลังประเมินเปิดประมูลผลิต สำรวจปิโตรเลียม และการสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินยังไม่ได้ข้อสรุป

วันนี้(8 ธ.ค.2559) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) เตรียมพิจารณาแผนบริหารจัดการก๊าซธรรมชาติ (Gas Plan 2015) ฉบับปรับปรุงแก้ไขใหม่ เพื่อประมาณความต้องการใช้ก๊าซธรรมชาติ ให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน ตามที่คาดการณ์ว่าการเปิดประมูลสัมปทานปิโตรเลียม ในแหล่งเอราวัณ และแหล่งบงกช ซึ่งผลิตก๊าซถึงร้อยละ 76 ของการใช้ทั้งหมดของประเทศยังไม่ได้ข้อสรุป

สำหรับการปรับแผนบริหารจัดการก๊าซธรรมชาติ (Gas Plan 2015) ใหม่ใน 2 ส่วน คือ 1.)การเร่งโครงการขยายคลังรับ-จ่ายก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) ซึ่งได้รับการอนุมัติจาก กพช.ไปก่อนหน้านี้แล้วให้เร็วขึ้นอย่างน้อย 1 ปี คือ โครงการคลังรับ-จ่ายก๊าซ LNG แห่งที่ 2 ของบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) กำลังผลิต 7.5 ล้านตัน/ปี บริเวณบ้านหนองแฟบ จ.ระยอง ที่จะเข้าระบบในปี 2565 กับโครงการคลังก๊าซธรรมชาติเหลวลอยน้ำ (FSRU) ของ กฟผ. กำลังผลิต 5 ล้านตัน/ปี บริเวณอ่าวไทยที่จะผลิตเข้าระบบในปี 2566

และ 2.)การนำเข้าก๊าซ LNG เพิ่มเติมจากต่างประเทศ โดยเฉพาะที่เป็นสัญญาระยะยาว ในประเด็นที่ว่าใครจะเป็นผู้นำเข้าก๊าซ LNG เพิ่มเติม เนื่องจาก กพช.ไม่ต้องการให้บริษัท ปตท.เป็นผู้นำเข้าก๊าซ LNG เพียงรายเดียว

ส่วนความคืบหน้าการทำโพลสำรวจความพึงพอใจของประชาชนในพื้นที่ จ.กระบี่ ว่าต้องการให้มีโรงไฟฟ้าถ่านหินหรือไม่ ตามที่นายกรัฐมนตรีมอบนโยบายนั้น กฟผ.ได้เร่งรัดว่าจ้างสถาบันการศึกษาให้เร็วที่สุด คาดว่าจะได้ความชัดเจนภายในเดือน ธ.ค.นี้

ขณะที่ วานนี้ (7 ธ.ค.) ตัวแทนพรรคประชาธิปัตย์เข้ายื่นหนังสือถึงนายกรัฐมนตรี เรียกร้องให้เปลี่ยนแผนโครงการสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน มาเป็นเชื้อเพลิงแอลเอ็นจี ซึ่งมีมุมมองที่แตกต่างกับ กฟผ.ในด้านราคา นายกรณ์ จาติกวณิช รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ เชื่อว่าค่าไฟฟ้าในอนาคตจะไม่แพง เมื่อเทียบกับการผลิตจากถ่านหิน

อย่างไรก็ตาม นอกจากความกังวลว่าอัตราค่าไฟฟ้าจะสูงขึ้นหากไม่ใช้ถ่านหิน ฝ่ายรัฐยังกังวลว่าการพึ่งพาเชื้อเพลิงประเภทใดประเภทหนึ่ง เหมือนในปัจจุบันที่ใช้ก๊าซไม่น้อยกว่าร้อยละ 60 และยังต้องนำเข้าจากต่างประเทศ จะเสี่ยงเกิดปัญหาขาดแคลนไฟฟ้า ซึ่งขัดแย้งกับแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้า (พีดีพี) ที่พยายามจะกระจายเชื้อเพลิงให้หลากหลาย

นายอมฤต ศิริพรจุฑากุล ประธานสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยว จ.กระบี่ กล่าวว่า ภาคการท่องเที่ยวของกระบี่เตรียมหารือร่วมกันถึงผลที่จะเกิดขึ้น ของโรงไฟฟ้าแอลเอ็นจี วันที่ 10 ธ.ค.นี้ หากโรงไฟฟ้าแอลเอ็นจี ไม่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมก็เห็นด้วยที่จะสร้างแทนโรงไฟฟ้าฟ้าถ่านหิน แม้ว่าต้นทุนการผลิตไฟฟ้าจะเเพงกว่าก็ตาม