สนช. ผ่านวาระ 3 "ร่าง กม.แร่" มีมติขยายเวลาพิจารณา กม.ปิโตรเลียม รอบที่ 4 (8 ธ.ค. 59)

MGR Online 8 ธันวาคม 2559
สนช.ผ่าน วาระ 3 ร่าง กม.แร่ มีมติขยายเวลาพิจารณา กม.ปิโตรเลียม รอบที่ 4

สนช.ผ่าน วาระ 3 ร่าง พ.ร.บ.แร่ ตั้ง กก.นโยบายบริหารจัดการแร่แห่งชาติ กำหนดออกแผนแม่บทป้องกันผลกระทบสิ่งแวดล้อม ทบทวนแผนทุก 5 ปี พร้อมมีมติขยายเวลาพิจารณาร่าง กม.ปิโตรเลียมออกไปอีก 30 วัน
       
       ที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช). ได้พิจารณาร่าง พ.ร.บ.แร่ พ.ศ. ... ที่คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาเสร็จแล้ว โดยนายมหรรณพ เดชวิทักษ์ ประธานคณะกรรมาธิการฯ ชี้แจงว่า ร่าง พ.ร.บ.แร่ พ.ศ. ... มีทั้งหมด 188 มาตรา และมีบัญชีแนบท้ายเกี่ยวกับอัตราค่าธรรมเนียม โดยร่าง พ.ร.บ.แร่ พ.ศ. ... ฉบับนี้มีการวิจารณ์ในเชิงลบในลักษณะที่ไม่เห็นด้วยจากหลายภาคส่วน และคณะกรรมาธิการวิสามัญได้รับเรื่องร้องเรียนพร้อมข้อเสนอแนะจากองค์กรต่างๆ โดยได้เชิญผู้แทนจากองค์กรดังกล่าวเข้ามาเป็นที่ปรึกษากิตติมศักดิ์ และเป็นผู้สังเกตการณ์ และได้เข้าร่วมประชุมเพื่อให้ข้อมูล ข้อเท็จจริง และแสดงความคิดเห็นในประเด็นต่างๆ ต่อคณะกรรมาธิการวิสามัญ
       
       นายมหรรณพกล่าวว่า คณะกรรมาธิการวิสามัญฯ ได้พิจารณาโดยคำนึงถึงดุลยภาพในการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม และผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของประชาชนอย่างรอบด้าน โดยคณะกรรมาธิการวิสามัญได้นำหลักการให้มีคณะกรรมการนโยบายบริหารจัดการแร่แห่งชาติ ตามร่างระเบียบสำนักนายรัฐมนตรีว่าด้วยคณะกรรมการนโยบายบริหารจัดการแร่แห่งชาติ พ.ศ. 2559 มากำหนดไว้ในร่าง พ.ร.บ.แร่ พ.ศ ... เพื่อให้ร่าง พ.ร.บ.มีความสมบรูณ์มากยิ่งขึ้นด้วย
       
       จากนั้นที่ประชุมได้พิจารณาเรียงลำดับรายมาตราจนครบทุกมาตรา โดยที่ประชุมเห็นด้วยกับการแก้ไขเพิ่มเติมตามที่คณะกรรมาธิการฯได้ดำเนินการ และที่ประชุมได้ลงมติให้ความเห็นชอบในวาระ 3 ด้วยคะแนน 183 เสียง งดออกเสียง 3 เสียง ประกาศใช้เป็นกฎหมายบังคับใช้ต่อไป
       

       สำหรับร่าง พ.ร.บ.แร่ พ.ศ. ... เป็นการนำ พ.ร.บ.พิกัดอัตราค่าภาคหลวงแร่ พ.ศ. 2509 และ พ.ร.บ.แร่ พ.ศ. 2510 ที่ใช้บังคับมานานไม่เหมาะสมกับสถานการณ์ปัจจุบัน มาปรับปรุง โดยนำหลักการของกฎหมายทั้ง 2 ฉบับมาบัญญัติไว้ในกฎมายฉบับเดียวกัน เพื่อให้การอนุญาตและการจัดเก็บค่าภาคหลวงแร่เป็นไปอย่างมีระบบ โดยกำหนดให้มีคณะกรรมการนโยบายบริหารจัดการแร่แห่งชาติ มีนายกฯหรือรองนายกฯที่นายกฯมอบหมายเป็นประธานกรรมการ ให้กรมทรัพยากรธรณี เป็นสำนักงานเลขานุการคณะกรรมการ โดยคณะกรรมการมีอำนาจหน้าที่เสนอยุทธศาสตร์ นโยบายและแผนแม่บทการบริหารจัดการแร่ต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อให้การบริหารจัดการแร่เกิดประโยชน์สูงสุด และต้องมีการทบทวนแผนแม่บททุกๆ 5 ปี ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมมีอำนาจประกาศให้มีการประมูลแหล่งแร่ในพื้นที่และให้ผู้ชนะการประมูลได้สิทธิในการสำรวจแร่และทำเหมืองแรในพื้นที่นั้น
       
       นอกจากนี้ได้มีการกำหนดพื้นที่ให้เป็นเขตแหล่งแร่เพื่อการทำเหมืองแร่ต้องไม่ใช่พื้นที่เขตอุทยานแห่งชาติ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า เขตโบราณสถาน เขตพื้นที่ที่มีกฎหมายห้ามการเข้าใช้ประโยชน์โดยเด็ดขาด พื้นที่เขตปลอดภัยและความมั่นคงแห่งชาติ หรือพื้นที่แหล่งต้นน้ำ หรือป่าน้ำซึมซับ พร้อมกับกำหนดมาตรการป้องกันผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของประชาชน และให้มีการประกาศกำหนดหลักเกณฑ์ในการทำแนวพื้นที่กันชนการทำเหมืองการจัดทำข้อมูลพื้นฐานด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของประชาชน ส่วนการขออาชญาบัตรสำรวจแร่ในท้องที่ใดให้ยื่นคำขอต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ท้องถิ่นนั้น .ทั้งนี้ในร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าว ยังมีบัญชีแนบท้ายกำหนดอัตราค่าธรรมเนียมในการออกอาชญาบัตร ประทานบัตร และใบอนุญาต ค่าธรรมเนียมรายปี ค่าธรรมเนียมต่ออายุ โอนสิทธิการทำเหมืองและใบอนุญาต
       
       จากนั้นนายสุรชัย เลี้ยงบุญรอดชัย รองประธาน สนช.ทำหน้าที่ประธานที่ประชุม ได้แจ้งต่อที่ประชุมกรณีที่ พล.อ.สกนธ์ สัจจานิตย์ ประธานกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ปิโตรเลียม (ฉบับที่...) พ.ศ. ... และร่าง พ.ร.บ.ภาษีเงินได้ปิโตรเลียม (ฉบับที่...) พ.ศ. ... ขอให้สภาอนุมัติต่อขยายเวลาการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ทั้งสองฉบับออกไปอีก 30 วัน หลังจากที่ขอขยายเวลามาแล้ว 3 ครั้ง โดยให้เหตุผลว่าเป็นเรื่องสำคัญ และมีหลายประเด็นที่มีเนื้อหาสำคัญต้องพิจารณาให้รอบคอบ โดยที่ประชุมเห็นชอบให้ขยายเวลา ตามคำขอดังกล่าวเป็นครั้งที่ 4