"อนันตพร" โยน "กพช." ชี้ชะตาโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่เดือน ม.ค. 60 (8 ธ.ค. 59)

MGR Online 8 ธันวาคม 2559
“อนันตพร” โยน “กพช.” ชี้ชะตาโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่เดือน ม.ค. 60

        การประชุม กพช.ครั้งหน้าราวเดือน ม.ค. 60 กระทรวงพลังงานจะเสนอแผนโรงไฟฟ้าถ่านหิน จ.กระบี่ให้ตัดสินใจว่าจะเดินหน้าหรือยุติ หลังมอบให้ กฟผ.เร่งจัดทำแผนทั้งหมด รวมถึงการรับฟังความเห็นของคนในพื้นที่ ขณะที่การเจรจากัลฟ์ฯ รับมีทั้งเลื่อนสร้างโรงไฟฟ้าและลดกำลังผลิตแต่ยังไม่ได้ข้อยุติ พร้อมทบทวน GAS PLAN รองรับก๊าซฯ อ่าวไทยลดพึ่งนำเข้า LNG เพิ่ม
       
       พล.อ.อนันตพร กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานเปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธานว่า ขณะนี้ได้มอบให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ทำแผนการดำเนินงานโรงไฟฟ้าถ่านหิน จ.กระบี่ทั้งหมด รวมถึงผลสำรวจความเห็นของประชาชนในพื้นที่เพื่อที่จะเสนอต่อที่ประชุม กพช.ครั้งถัดไปหรือราวเดือน ม.ค. 60 เพื่อให้ตัดสินใจว่าจะเดินหน้าหรือไม่อย่างไรก่อนรายงานคณะรัฐมนตรี (ครม.) รับทราบต่อไป
       
       “กรณีที่มีผู้เสนอให้นำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) เข้ามาแทนถ่านหินเพื่อผลิตไฟไม่จำเป็นต้องมีใครมาเสนอ เพราะที่ผ่านมาเราเองก็ทำตามมติ กพช. และหากโรงไฟฟ้ากระบี่ไม่สามารถเกิดได้ก็ได้ทำแผนสำรองในการนำเข้า LNG ไว้แล้ว ซึ่งระยะยาวราคา LNG จะมีต้นทุนผลิตไฟกว่าถ่านหินทำให้ค่าไฟจะแพงขึ้น รวมถึง กฟผ.เองก็ได้เตรียมสร้างสายส่งรองรับไปภาคใต้เพราะการผลิตภาคใต้น้อยกว่าความต้องการ แต่สิ่งสำคัญของการใช้ถ่านหินเพราะต้องการกระจายเชื้อเพลิงเนื่องจากเราใช้ก๊าซผลิตไฟมากถึง 70%” รมว.พลังงานกล่าว
       
       สำหรับการเจรจากับกลุ่มบริษัทกัลฟ์ ที่ชนะประมูลโครงการผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนอิสระรายใหญ่ (ไอพีพี) 5,000 เมกะวัตต์ (MW) ยังอยู่ระหว่างการเจรจาซึ่งยังไม่สามารถเปิดเผยได้ แต่การเจรจาก็จะมีทั้งการเลื่อนโรงไฟฟ้าออกไป และลดกำลังการผลิตลง โดยจะเจรจาควบคู่ไปกับการสร้างสายส่งของ กฟผ.ที่จะต้องสร้างมารองรับโครงการดังกล่าวอีกด้วย
       
       นายอารีพงศ์ ภู่ชอุ่ม ปลัดกระทรวงพลังงานกล่าวว่า การประชุม กพช. วันที่ 8 ธ.ค.ได้เห็นชอบทบทวนและปรับประมาณการความต้องการใช้ก๊าซฯ ตามแผนบริหารจัดการก๊าซฯ (Gas Plan) พ.ศ. 2558-2579 โดยคาดว่าปี 2579 ความต้องการใช้ก๊าซธรรมชาติจะอยู่ที่ 5,062 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน ขณะที่การจัดหาก๊าซฯ ในอ่าวไทยจะลดลงในอนาคต ทำให้ไทยต้องนำเข้า LNG เพิ่มขึ้น คาดว่าในปี 2565 ความต้องการนำเข้าจะอยู่ที่ 17.4 ล้านตันต่อปี เพิ่มขึ้นจากประมาณการเดิม 13.5 ล้านตันต่อปี และปี 2579 การนำเข้า LNG จะสูงถึง 34 ล้านตันต่อปี
       
       นอกจากนี้ ที่ประชุมยังได้รับทราบข้อสรุปการเปิดเสรีธุรกิจก๊าซแอลพีจี โดยให้ลดควบคุมธุรกิจการผลิตและการจัดหา ซึ่งจะแบ่งการดำเนินงานออกเป็น 2 ระยะ คือ 1. ช่วงเวลาเปลี่ยนผ่านก่อนที่จะเปิดเสรีทั้งระบบ โดยให้ยกเลิกระบบโควตาการนำเข้าและให้มีการนำเข้าเสรีตั้งแต่มกราคม 2560 เป็นต้นไป ระยะที่ 2 เปิดเสรีทั้งระบบ ยกเลิกการควบคุมราคาและปริมาณทุกแหล่งผลิตและจัดหา ยกเลิกประกาศราคา ณ โรงกลั่นและราคาขายส่ง ณ คลังก๊าซ