ประชาธิปัตย์ค้าน"บิ๊กตู่" ผุดโรงไฟฟ้าถ่านหิน กฟผ.ย้ำคนในพื้นที่หนุนสร้าง – เดินหน้าทำโพลล์ (8 ธ.ค. 59)

Green News TV 8 ธันวาคม 2559
ประชาธิปัตย์’ ค้าน ‘บิ๊กตู่’ ผุดโรงไฟฟ้าถ่านหิน กฟผ.ย้ำคนในพื้นที่หนุนสร้าง – เดินหน้าทำ ‘โพลล์’ 

อดีต ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ ออกโรงค้านโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหิน ทำหนังสือถึง พล.อ.ประยุทธ์ ให้ทบทวน เสนอทางเลือกให้ใช้ “แอลเอ็นจี” แทน ด้าน กฟผ.ยืนยัน คนกระบี่ส่วนใหญ่สนับสนุนให้เดินหน้า

นายกรณ์ จาติกวณิช อดีต ส.ส.กรุงเทพมหานคร พรรคประชาธิปัตย์ นายถาวร เสนเนียม นายวิรัตน์ กัลป์ยาศิริ และ นายศิริโชค โสภา อดีต ส.ส.สงขลา พรรคประชาธิปัตย์ ได้ยื่นหนังสือถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เมื่อวันที่ 7 ธ.ค.2559 เพื่อให้เปลี่ยนแผนโครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน ที่ อ.เทพา จ.สงขลา ขนาด 2,200 เมกะวัตต์ และโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่ ขนาด 880 เมกะวัตต์ เป็นโรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนร่วมเชื้อเพลิง (แอลเอ็นจี) แทน

นายกรณ์ กล่าวว่า แอลเอ็นจีเป็นเชื้อเพลิงที่มีแหล่งผลิตหลากหลาย ไม่ขึ้นอยู่กับผู้ผลิตรายใดรายหนึ่งหรือภูมิภาคใดภูมิภาคหนึ่ง และมีตลาดซื้อขายที่พัฒนา จึงทำให้ลดความเสี่ยงในด้านการจัดหาและแหล่งผลิต นอกจากนี้ ราคาแอลเอ็นจีและราคาถ่านหินในปัจจุบันใกล้เคียงหรือต่ำกว่าต้นทุนการผลิต รวมถึงเงินลงทุนในการสร้างโรงไฟฟ้าแอลเอ็นจีต่ำกว่าเงินลงทุนในการสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินประมาณ 50%

นายกรณ์ กล่าวอีกว่า การยกเลิกการสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินยังเป็นการแสดงจุดยืนที่ชัดเจน พรรคประชาธิปัตย์จึงเสนอให้ พล.อ.ประยุทธ์ เปลี่ยนโครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินมาเป็นโรงไฟฟ้าแอลเอ็นจีแทน

นายถาวร กล่าวว่า การสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินนั้นมีทั้งด้านดีและด้านเสีย แต่ขณะนี้ประชาชนในพื้นที่มีความกังวลในเรื่องบรรยากาศของการท่องเที่ยวและสุขภาพอนามัย เพราะเห็นตัวอย่างจากโรงไฟฟ้าแม่เมาะ จ.ลำปาง พรรคประชาธิปัตย์จึงอยากให้ทบทวนในเรื่องนี้

วันเดียวกัน การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ชี้แจงความคืบหน้าการสำรวจความคิดเห็นของประชาชนรอบโครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้ากระบี่ (โพลล์) เพื่อให้ได้ข้อยุติในเรื่องความต้องการของประชาชนส่วนใหญ่ในพื้นที่ ตามข้อสั่งการของ พล.อ.ประยุทธ์

นายบุญญนิตย์ วงศ์รักมิตร รองผู้ว่าการฝ่ายกิจการสังคม กฟผ. กล่าวว่า ภายในเดือน ธ.ค.นี้ กฟผ.เตรียมจ้างสถาบันการศึกษาเข้ามาร่วมทำผลสำรวจความคิดเห็นของคนในชุมชน เพื่อให้ได้ความชัดเจนว่าในภาพรวมประชาชนในพื้นที่พึงพอใจกับการก่อสร้างโรงไฟฟ้าในพื้นที่หรือไม่ เนื่องจากที่ผ่านมา กฟผ.เป็นผู้ลงพื้นที่ดำเนินการสำรวจเอง และอาจทำให้บุคคลที่ค้านการก่อสร้างไม่เชื่อถือ

“การสำรวจที่ผ่านมาพบว่าประชาชนส่วนใหญ่ในพื้นที่เห็นด้วยกับการก่อสร้าง ส่วนกลุ่มคนที่คัดค้านจะอยู่ในกลุ่มนักธุรกิจ นักวิชาการ เอ็นจีโอที่ไม่อยู่ในพื้นที่ ซึ่งทำให้ประชาชนในพื้นที่อาจเกรงกลัวอำนาจผู้มีอิทธิพล ดังนั้นการถามความเห็นหลังจากนี้ต้องเป็นกลางและเป็นคำตอบจากประชาชนจริงๆ”นายบุญญนิตย์ กล่าว

สำหรับข้อเสนอที่ให้ก่อสร้างโรงไฟฟ้าเชื้อเพลิงก๊าซธรรมชาติเหลว (แอลเอ็นจี) แทนโรงไฟฟ้าถ่านหิน แม้จะเป็นทางเลือกที่ง่ายต่อการดำเนินการของ กฟผ.แต่จะส่งผลให้ค่าไฟฟ้าในระยะยาวปรับตัวสูงขึ้นเกินกว่า 4 บาทต่อหน่วย

 

ภาพโดย: ธัญพิสิษฐ์ เลิศบำรุงชัย