กรอ. คุม 8 หมื่น รง. ปล่อยมลพิษสูง จี้ส่งข้อมูลวัตถุดิบ-พลังงาน/นำร่องอุตฯเหล็กปี '60 (8 ธ.ค. 59)
ประชาชาติธุรกิจออนไลน์ 8 ธันวาคม 2559
กรอ.คุม8หมื่นรง.ปล่อยมลพิษสูง จี้ส่งข้อมูลวัตถุดิบ-พลังงาน/นำร่องอุตฯเหล็กปี"60
กรมโรงงานฯเร่งคุม "ปล่อยก๊าซเรือนกระจก" สั่ง 8 หมื่นโรงงานส่งข้อมูลการใช้วัตถุดิบ-พลังงาน ต้นปี 2560 พร้อมนำร่องเข้ม "โรงงานเหล็ก" ทำ "รายงานบัญชีการปล่อยก๊าซเรือนกระจก" ก่อนบังคับใช้กฎหมายในอนาคต
นายมงคล พฤกษ์วัฒนา อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) เปิดเผย "ประชาชาติธุรกิจ" ภายหลังการลงนามบันทึกข้อตกลง (MOU) ความร่วมมือการบูรณาการด้านการรายงานปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในภาคอุตสาหกรรมปี 2559-2563 ระหว่าง กรอ. สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) และองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) ว่า ขณะนี้ กรอ.อยู่ระหว่างเตรียมแผนควบคุมปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกกับโรงงานอุตสาหกรรมที่รับผิดชอบประมาณ 80,000 แห่ง (จากโรงงานทั่วประเทศประมาณ 120,000 แห่ง) โดยแบ่งการทำงานออกเป็น 2 ส่วน เบื้องต้นภายใน 1-3 เดือนนี้ กรอ.ต้องรวบรวมข้อมูลการใช้วัตถุดิบ การใช้พลังงานของทุกโรงงานทั่วประเทศส่งให้ สผ. และ อบก.รับทราบก่อน
ขณะเดียวกัน ทาง กรอ.จะเริ่มนำร่องควบคุมปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกกับโรงงานเหล็กขนาดใหญ่ ประมาณกว่า 10 แห่งทั่วประเทศก่อน เนื่องจากเป็นอุตสาหกรรมที่ใช้พลังงานในกระบวนการผลิตมาก มีความเสี่ยงเรื่องการปล่อยมลพิษ โดยโรงงานเหล็กจะต้องรายงานการจัดทำบัญชีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้ กรอ.ทราบภายใน 1-3 เดือนนี้เช่นกัน โดยล่าสุดได้มอบหมายให้สถาบันเหล็กและเหล็กกล้าแห่งประเทศไทยเป็นหน่วยงานกลางประสานกับผู้ประกอบการแล้ว ทั้งนี้ การดำเนินนโยบายช่วงแรกจะเริ่มจากการสมัครใจ และสร้างการจูงใจก่อน หลังจากนั้นจะพิจารณาประกาศเป็นกฎหมายบังคับใช้ต่อไป
"ตามที่ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ต้องการให้ประเทศไทยบริหารจัดการลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกตามเป้าที่ 20% ในปี 2573 หลังจากไทยได้เข้าร่วมประชุมรัฐภาคี สมัยที่ 21 (Conference of Parties : COP21) ภายใต้กรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ (UNFCCC) ที่กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส เมื่อปี 2558 และมีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 4 พ.ย. 59 ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งดำเนินการตามนโยบาย ช่วงแรกจะให้ความรู้ด้วยมาตรการจูงใจก่อน เช่น โรงงานลดก๊าซแล้วจะได้อะไร ใช้วัตถุดิบอะไรที่จะลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลงได้ การควบคุม กำจัดของเสียจะต้องทำอย่างไร ที่ผ่านมา กรอ.มีมาตรการส่งเสริมการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในภาคอุตสาหกรรม อาทิ โครงการถ่ายทอดเทคโนโลยีสะอาด โครงการลดและเลิกใช้สารไฮโดรคลอโรฟลูออโรคาร์บอนในประเทศไทย โครงการอุตสาหกรรมสีเขียว เป็นต้น โชคดีตอนนี้ยังไม่มีประเด็นกีดกันการส่งออกผูกโยงเรื่องการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ทำให้มีเวลาเตรียมตัว"
จากสถิติภาคอุตสาหกรรมมีการปล่อยก๊าซเรือนกระจก มาจาก 3 ภาคหลัก คือ 1.ภาคการใช้พลังงาน 44.52 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า หรือ 14.57% ของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั้งหมดของประเทศ 2.ภาคกระบวนการผลิต 18.23 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า หรือ 5.96% และ 3.ภาคของเสียจากการบำบัดน้ำเสีย 3.17 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า หรือ 1.03%
นางประเสริฐสุข จามรมาน ผู้อำนวยการองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (อบก.) กล่าวว่า ปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของประเทศไทย ปี 2554 มีทั้งสิ้น 305.52 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า ซึ่งมาจากกิจกรรมในภาคอุตสาหกรรมรวมทั้งสิ้น 65.92 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า หรือ 21.57% ของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั้งหมดของประเทศ และได้คาดการณ์ว่าปี 2573 หรืออีก 14 ปีข้างหน้า ประเทศไทยจะมีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกประมาณ 555 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า และมีเป้าหมายที่จะลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของประเทศลง 20% ใน 3 ภาคส่วนด้านเศรษฐกิจ ได้แก่ ภาคพลังงาน ภาคกระบวนการอุตสาหกรรมและการใช้ผลิตภัณฑ์ และภาคของเสียจากอุตสาหกรรม
นางรวีวรรณ ภูริเดช เลขาธิการสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) กล่าวว่า รายงานการจัดทำบัญชีการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ประกอบด้วย 3 เรื่อง คือ การจัดทำบัญชีก๊าซเรือนกระจก การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการจัดทำรายงานแห่งชาติ ฉบับที่ 3 ตามมาตรการของ INDC (Intended Nationally Determined Contribution) และหลังจากที่ได้รับรายงานปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากโรงงานอุตสาหกรรมครบถ้วนแล้ว จะเริ่มกำหนดเป้าหมายและมาตรการออกมาควบคุมการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในเชิงปริมาณให้เป็นรูปธรรม ที่มาจากภาคพลังงาน ภาคกระบวนการอุตสาหกรรม และการใช้ผลิตภัณฑ์ ภาคเกษตร ภาคการเปลี่ยนแปลงการใช้ประโยชน์ที่ดินและป่าไม้ และภาคของเสีย เพื่อคำนวณและจัดทำรายงานเสนอต่ออนุสัญญา UNFCCC ต่อไป