ขยะพิษ: ปัญหาโลกแตกที่ไม่มีเจ้าภาพรับผิดชอบ ตอนที่ 1 (24 พ.ค. 56)
ไทยพับลิก้า 24 พฤษภาคม 2556
ขยะพิษ:ปัญหาโลกแตกที่ไม่มีเจ้าภาพรับผิดชอบ (1)
24 พฤษภาคม 2013
รายงานโดย อิสรนันท์
ที่มาภาพ: http://images.nationalgeographic.com
ขยะพิษล้นโลก
ขณะที่ประชาชนมั่วทุกมุมโลกต่างตื่นตัวไปกับความทันสมัยของเทคโนโลยีชั้น สูง ซึ่งพัฒนาอย่างรวดเร็วในแทบจะทุกเมื่อเชื่อวันก็ว่าได้ พลอยทำให้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ทั้งหลาย ไม่ว่าจะเป็นโทรศัพท์มือถือ คอมพิวเตอร์ ฯลฯ มีราคาถูกลง กระทั่งคนทั่วไปสามารถหาซื้อได้ง่ายและยังต้องเปลี่ยนบ่อยๆ เนื่องจากอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์เหล่านั้นมีอายุการใช้งานสั้นลง อย่างคอมพิวเตอร์ มีอายุการใช้งานแค่ 3-5 ปี ส่วนโทรศัพท์มือถือ ก็มีอายุการใช้งานราว 18 เดือน เท่านั้น หลังจากนั้นอุปกรณ์เหล่านี้ก็ถูกโยนทิ้งกลายเป็นขยะอิเล็กทรอนิกส์หรือขยะ พิษ ซึ่งนับวันยิ่งกลายเป็นปัญหาใหญ่ระดับโลก เนื่องจากการกำจัดขยะพิษที่ท่วมสูงเป็นภูเขาเลากานั้นทำได้ยากยิ่ง หนำซ้ำต้องใช้เงินมหาศาลในการกำจัด ซึ่งเป็นเรื่องกลับตาลปัตรกับราคาขายที่มีแต่ถูกลง ที่สำคัญก็คือ ขยะพิษเหล่านั้นเหมือนกับระเบิดลูกใหญ่ ที่มีแต่จะทำลายสิ่งแวดล้อมและสุขภาพอนามัยของประชาชนที่อยู่ในพื้นที่นั้น หรือต้องคลุกคลีอยู่กับขยะพิษเป็นเวลานาน
รายงานของโครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ (ยูเอ็นดีพี) ระบุว่า ขยะพิษทั่วทุกมุมโลกมีปริมาณเพิ่มขึ้นถึงปีละ 18 เปอร์เซ็นต์ หรือราว 40 ล้านตัน คาดว่าในปี 2563 ปริมาณขยะพิษจะเพิ่มขึ้น 4 เท่า เมื่อเทียบกับปี 2550 โดยประเทศที่เป็นตัวการก่อขยะพิษมากที่สุดในโลกก็คือสหรัฐฯ ซึ่งแต่ละปี มีขยะพิษราว 3 ล้านตัน หรือเท่ากับ 45 เปอร์เซ็นต์ของปริมาณขยะพิษทั่วโลก รองลงมาก็คือ จีน ราว 2.3 ล้านตัน ตามด้วยยุโรป ส่วนญี่ปุ่นและอิสราเอลเป็นอีก 2 ประเทศ ที่ผลิตขยะพิษมากถึง 10 เปอร์เซ็นต์ของขยะพิษทั้งหมด
ในรายงานของยูเอ็นดีพียังให้รายละเอียดปลีกย่อยด้วยว่า ภายในปี 2563 ขยะคอมพิวเตอร์รุ่นเก่าในจีนและแอฟริกาใต้จะเพิ่มขึ้น 2-4 เท่าจากปี 2550 ในอินเดียจะเพิ่มขึ้น 5 เท่า ส่วนขยะโทรศัพท์มือในจีนถือจะเพิ่มขึ้น 7 เท่า และในอินเดียจะเพิ่มขึ้น 18 เท่า ขณะที่สำนักงานสิ่งแวดล้อมยุโรปประเมินว่าขยะพิษมีอัตราความเร็วในการเพิ่ม ขึ้นมากกว่าขยะครัวเรือนถึง 3 เท่า
ปัดสวะให้พ้นตัว
ยูเอ็นดีพีได้แสดงความวิตกครั้งแล้วครั้งเล่าว่า ในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า ขยะพิษเหล่านี้ก็อาจจะล้นประเทศกำลังพัฒนา ไม่ว่าจะเป็นที่ทวีปแอฟริกา ละตินอเมริกา หรือแม้กระทั่งประเทศยักษ์ใหญ่ในเอเชีย อาทิ จีนและอินเดีย ซึ่งกลายเป็นที่ทิ้งขยะหรือบ่อพิษขนาดใหญ่ และหากขยะพิษเหล่านี้ไม่ได้รับการกำจัดอย่างถูกวิธีหรือไม่เร่งดำเนินการ อย่างจริงจัง ก็จะกลายเป็นสารพิษที่ซึมลงสู่พื้นดินและแหล่งน้ำใต้ดิน อันจะเป็นภัยต่อสภาพแวดล้อมและสุขภาพประชาชน
ซ้ำร้ายกว่านั้นก็คือ บริษัทยักษ์ใหญ่ยักษ์เล็กที่เป็นตัวการผลิตขยะพิษเหล่านั้น กลับปัดสวะไม่ยอมรับผิดชอบต่อปัญหาที่ตัวเองก่อขึ้น โดยเฉพาะการไม่ยอมทุ่มทุนพัฒนาเทคโนโลยีการกำจัดขยะพิษ ส่วนใหญ่ใช้วิธีผลักภาระให้สังคมหรือประเทศกำลังพัฒนา ด้วยการแอบขุดฝังกลบตามพื้นที่รกร้างหรือลำเลียงไปทิ้งที่ประเทศยากจน ซึ่งยังไม่มีกฎหมายคุมเข้มเรื่องสิ่งแวดล้อมเป็นพิษเหมือนประเทศพัฒนาแล้ว หรือด้วยการหลอกขายเป็นสินค้ามือสองราคาถูกแต่มีอายุใช้งานน้อยมาก เพื่อผลักภาระให้ประเทศกำลังพัฒนาเหล่านั้นไปหาทางแก้ไขปัญหาเองในภายหลัง
ในเมื่อหาเจ้าภาพที่จะเป็นหัวหอกในการกำขัดขยะพิษไม่ได้ องค์การสหประชาชาติ (ยูเอ็น) ซึ่งได้ประกาศให้วันที่ 5 มิถุนายน ของทุกปี เป็น “วันสิ่งแวดล้อมโลก” เพื่อกระตุ้นเตือนให้ประชาคมโลกตระหนักถึงประเด็นปัญหาสิ่งแวดล้อมต่างๆ ตลอดจนส่งเสริมให้มีการเคลื่อนไหวทางการเมืองเพื่อผลักดันให้มีการลงมือ ปฏิบัติอย่างจริงจัง จึงจำเป็นต้องเป็นตัวตั้งตัวตีเสนอโครงการแก้ปัญหาขยะพิษระดับโลก (สเตป) โดยจะเป็นความร่วมมือระหว่างภาครัฐกับบริษัทเอกชนรายใหญ่ เช่น ไมโครซอฟต์ อิริคสัน ฮิวเลตต์-แพคการ์ด (เอชพี) และเดลล์ ที่จะร่วมกันกำหนดกรอบมาตรฐานโลกเกี่ยวกับการรีไซเคิลเครื่องใช้ อิเล็กทรอนิกส์ หรือการยืดอายุสินค้า หรือปรับปรุงตลาดเครื่องใช้อิเล็กทรอนิกส์มือสอง ฯลฯ
ประนามสหรัฐฯ และประเทศอุตสาหกรรม
ด้านเครือข่ายปฏิบัติการอนุสัญญาบาเซิล ที่มีประเทศภาคีสมาชิกที่ให้สัตยาบันแล้วกว่า 170 ประเทศ นับตั้งแต่เริ่มมีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม 2535 รวมทั้งกลุ่มพันธมิตรปัญหาสารพิษแห่งซิลิคอนแวลลีย์ ซึ่งเป็นองค์กรพัฒนาเอกชน (เอ็นจีโอ) ที่สอดส่องปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมของสหรัฐฯ ได้ร่วมกันประนามสหรัฐฯ และประเทศอุตสาหกรรม ซึ่งเป็นตัวการก่อขยะพิษรวมกันมากถึง 80 เปอร์เซนต์ของปริมาณขยะพิษทั่วโลก ว่าใช้วิธีกำจัดขยะพิษอย่างมักง่ายด้วยการส่งออกไปยังประเทศกำลังพัฒนาใน เอเชียหลายประเทศด้วยกัน รวมไปถึงจีนและอินเดีย เนื่องจากสามารถลดต้นทุนในการจัดการขยะได้มากกว่า อาทิ ต้นทุนการรีไซเคิลกระจกจากจอคอมพิวเตอร์ในสหรัฐฯ สูงถึง 0.5 เหรียญต่อน้ำหนัก 1 ปอนด์ เทียบกับ 0.05 เหรียญในจีน ไม่ต้องพูดไกลไปถึงความหละหลวมในการบังคับใช้กฎหมายด้านการรักษาสิ่งแวดล้อม
ตอนหนึ่งของรายงานว่าด้วยการละเมิดอนุสัญญาบาเซิลระบุว่า จากการตรวจสอบท่าเรือ 18 แห่งในยุโรปเมื่อปี 2548 พบว่ามีการลักลอบส่งออกขยะพิษมากถึง 47 เปอร์เซ็นต์ของปริมาณขยะทั้งหมดที่ส่งออกอย่างผิดกฎหมาย โดยเฉพาะอังกฤษได้ลักลอบส่งออกขยะพิษอย่างน้อย 23,000 เมตริกตันไปที่แอฟริกา จีน และอินเดีย โดยไม่ยอมระบุว่าเป็นสินค้าประเภทใด เช่นเดียวกับสหรัฐฯ ซึ่งจะส่งออกขยะพิษมากถึง 50-80 เปอร์เซนต์ของขยะที่รวบรวมไว้เพื่อการรีไซเคิล แต่กลับอ้างว่าไม่ผิดกฎหมาย เนื่องจากสหรัฐฯ ไม่ได้ให้สัตยาบันรับรองอนุสัญญาบาเซิล
ที่มาภาพ :http://static3.depositphotos.com
เอ็นจีโอกลุ่มนี้ยังได้ประนามบริษัทยักษ์ใหญ่ด้านคอมพิวเตอร์ของสหรัฐฯ ซึ่งมีรายได้รวมกันในแต่ละปีถึง 550,000 ล้านดอลลาร์ แต่กลับเห็นแก่ตัวและเห็นแก่ได้ด้วยการสนับสนุนร่างกฎหมายที่ถือว่าขยะ อิเล็กทรอนิกส์เหล่านี้ไม่ใช่ขยะพิษ อ้างว่าสามารถนำมาใช้หมุนเวียนใหม่ได้ โดยปิดบังความจริงว่าการรีไซเคิลนั้นได้ผลเพียงน้อยนิด แถมยังเป็นอันตรายต่อสุขภาพด้วย
ก่อนหน้านี้ กลุ่มกรีนพีซได้อ้างข้อมูลของผู้ผลิตคอมพิวเตอร์ 4 ราย เมื่อปี 2549 และ 2550 พบว่ามีเพียง 10 เปอร์เซนต์ของคอมพิวเตอร์ที่หมดอายุการใช้งานถูกนำไปรีไซเคิล ส่วนโทรศัพท์มือที่หมดอายุการใช้งานแล้วถูกนำไปรีไซเคิลแค่ 2-3 เปอร์เซนต์ เท่านั้น
ส่วนสำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า กลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมของสหรัฐฯ ได้ทุ่มเงิน 2.5 ล้านดอลลาร์ (ราว 75 ล้านบาท) ตั้งโครงการตามรอยขยะพิษจากสหรัฐฯ ที่กระจายไปทั่วโลกเพื่อนำกลับมารีไซเคิลใหม่ ซึ่งนอกจากจะช่วยป้องกันพิษจากขยะไม่ให้ซึมสู่ผืนดินและผืนน้ำแล้ว ยังมีจุดมุ่งหมายแฝงเร้นที่ต้องการจะสกัดสินแร่มีค่าที่มีอยู่ในขยะพิษมาใช้ ด้วย หลังจากมีรายงานก่อนหน้าว่า โทรศัพท์มือถือหนึ่งล้านเครื่องสามารถสกัดทองคำได้ถึง 24 กิโลกรัม เงิน 250 กิโลกรัม ทองแดงเกือบ 10 ตัน รวมถึงแร่มีค่าอื่นๆ
สหรัฐฯ: กงเกวียนกำเกวียนหรือขว้างงูไม่พ้นคอ
อาจกล่าวได้ว่า อดีตรองประธานาธิบดีอัล กอร์ แห่งสหรัฐฯ เป็นผู้จุดประกายให้ทั่วโลกตื่นตัวหันมาสนใจปัญหาโลกร้อนและปัญหาสิ่งแวด ล้อมเป็นพิษมากขึ้น จากการนำเสนอภาพยนตร์สารคดีเรื่อง An Inconvenient Truth ขณะที่ฮอลลีวูดเองได้สร้างภาพยนตร์หลายสิบเรื่องที่สะท้อนถึงปัญหาสิ่งแวด ล้อมที่มนุษย์โดยเฉพาะชาวอเมริกันเองเป็นผู้ก่อขึ้น อาทิภาพยนตร์เรื่อง Silent Spring ว่าด้วยปัญหาการใช้สารเคมีปราบศัตรูพืชจำนวนมากจนเกิดภาวะตกค้างในสิ่งแวด ล้อม หรือภาพยนตร์ที่สะท้อนปัญหาสารปรอทจากโรงงานอุตสาหกรรมปนเปื้อนสู่แหล่งน้ำ จนเป็นที่มาของโรคมินามาตะที่รู้จักกันดี หรือปัญหาสารพิษไดออกซินรั่วไหลจากโรงงานออกสู่ชุมชนในเมืองเซเวโซ่ ประเทศอิตาลี ปัญหาการรั่วไหลของกัมมันตรังสีจากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ที่เกาะทรีไมล์ รัฐเพนซิลเวเนีย ฯลฯ
แต่ภาพยนตร์เหล่านี้ยังไม่สามารถกระตุ้นให้ชาวอเมริกันตื่นตัวกับปัญหา ขยะพิษที่ทวีความรุนแรงมากขึ้นตามลำดับ ทั้งๆ ที่สหรัฐฯ ได้ชื่อว่าเป็นหนึ่งในประเทศที่ผลิตสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ที่ใหญ่ที่สุดในโลก อีกทั้งยังเป็นประเทศที่บริโภคสินค้าอิเล็กทรอนิกส์มากที่สุดในโลกด้วยเช่น กัน
รายงานของกระทรวงคุ้มครองสิ่งแวดล้อมสหรัฐฯ เมื่อปี 2550 เผยว่า เมื่อกว่าสิบปีที่แล้ว สหรัฐฯ ได้แก้ปัญที่เกิดขึ้นด้วยการกลบฝังขยะพิษกว่า 4.6 ล้านตันภายในประเทศ ตัวเลขล่าสุดเผยว่า การกลบฝังขยะพิษพุ่งสูงขึ้นถึงปีละ 254 ล้านตัน ซึ่งถ้านำพื้นที่ที่ใช้กลบฝังมาเทียบกับสนามฟุตบอลขนาดมาตรฐาน ก็มีพื้นที่เท่ากับสนามฟุตบอลกว่า 82,000 สนาม แต่ละสนามมีความลึกกว่า 6 ฟุต ซึ่งในจำนวนนี้ มีการนำมารีไซเคิลไม่ถึง 1 ใน 3 ของปริมาณขยะพิษทั้งหมด
กระนั้น ตัวการใหญ่ก็ยังไม่วายเลือกปฏิบัติ เพราะขยะพิษส่วนใหญ่จะถูกกลบฝังบริเวณพื้นที่อนุรักษ์ของอินเดียนแดงหรือใน เขตที่อยู่อาศัยของอเมริกันผิวดำ โดยไม่สนใจว่าสารเคมีพิษซึ่งเป็นตัวก่อมะเร็งและความผิดปรกติของทารกในครรภ์ ที่ตกค้างอยู่ในขยะพิษกว่า 230 ล้านปอนด์ ได้ซึมสู่ผืนดินและตามแม่น้ำลำคลองกว่า 1,900 สาย ทั่ว 50 มลรัฐ หรือแพร่เข้าสู่บรรยากาศ จนส่งผลกระทบต่อชุมชนและสิ่งแวดล้อมบริเวณใกล้เคียง
ผลจากการเลือกปฏิบัติดังกล่าว ทำให้ชาวอเมริกันส่วนใหญ่ไม่สนใจปัญหาที่เกิดขึ้น มักจะปล่อยให้เป็นปัญหาของชุมชนที่จะต่อกรกับบริษัทต้นตอของขยะพิษ รวมทั้งผู้บังคับใช้กฎหมายและรัฐบาลกลางที่จะต้องยื่นมือเข้ามาแก้ไขปัญหา นี้ ไม่ต้องพูดไกลไปถึงปัญหาที่บริษัทผู้ผลิตคอมพิวเตอร์ส่งออกขยะพิษไปยัง ประเทศต่างๆ เกือบทั่วโลกโดยปราศจากความรับผิดชอบใดๆ และทำเป็นหน้าซื่อตาใส อ้างว่าไม่ผิดกฎหมายเนื่องจากไม่ได้รับรองอนุสัญญาบาเซิล