ศาลปกครองสั่งห้าม "สยามแก๊ส" ใช้ 2 ท่าเรือสยามสุขสวัสดิ์ขนถ่าย LPG - ถ่านหินชั่วคราว (5 ธ.ค. 59)

MGR Online 5 ธันวาคม 2559
ศาลปกครองสั่งห้าม “สยามแก๊ส” ใช้ 2 ท่าเรือสยามสุขสวัสดิ์ขนถ่าย LPG-ถ่านหินชั่วคราว

ชาวพระประแดงเฮ ศาลปกครองสั่งห้าม “สยามแก๊ส” ใช้ 2 ท่าเทียบเรือสยามสุขสวัสดิ์ขนถ่าย LPG และถ่านหินเป็นการชั่วคราว พร้อมให้นายกเทศมนตรีควบคุมห้ามละเมิดคำสั่งและรายงานผลทุกเดือน แจงทำผิดเงื่อนไขอีไอเอไม่ขนถ่ายสินค้าสารกัมมันตรังสี น้ำมันเชื้อเพลิง แก๊ส ถ่านหิน แถมท้องถิ่น-กรมเจ้าท่ากลับไม่กำหนดเป็นขอบเขตการใช้ท่าเทียบเรือในอนุญาตตามที่ กม.กำหนด
       
       วันนี้ (5 ธ.ค.) ศาลปกครองกลางแผนกคดีสิ่งแวดล้อมมีคำสั่งกำหนดมาตรการคุ้มครองชั่วคราวก่อนมีคำพิพากษาโดยสั่งห้ามไม่ให้บริษัท สยามแก๊ส แอนด์ ปิโตรเคมีคัลส์ จำกัด (มหาชน) ใช้ท่าเทียบเรือสยามสุขสวัสดิ์ขนาด 500 ตันกรอส ทั้ง 2 ท่าของบริษัทในเขตตำบลบางจาก อ.พระประแดง จ.สุมทรปราการ ขนถ่ายสินค้าประเภทแก๊สแอลพีจีเหลว และถ่านหินไว้เป็นการชั่วคราว จนกว่าศาลจะมีคำพิพากษาหรือมีคำสั่งเป็นอย่างอื่น โดยให้ปฏิบัติในทันทีที่ได้รับคำสั่ง พร้อมให้นายกเทศมนตรีเมืองลัดหลวงในฐานะเจ้าพนักงานท้องถิ่นตามกฎหมายว่าด้วยการควบคุมอาคาร ควบคุม ตรวจสอบการดำเนินการของบริษัท สยามแก๊สฯ ให้ปฏิบัติตามคำสั่งดังกล่าวอย่างเคร่งครัด และรายงานศาลถึงการปฏิบัติหรือไม่ปฏิบัติตามคำสั่งศาลของบริษัท สยามแก๊สฯ ทุกวันที่ 10 ของเดือน
       
       ทั้งนี้ คำสั่งดังกล่าวสืบเนื่องจากนางเฉียบ เนตรฉาย พร้อมพวกรวม 43 คน ชาวบ้านในหมู่ที่ 2, 3, 4, 6, 7, 8 และ 10 ต.บางจาก อ.พระประแดง จ.สมุทรปราการ ยื่นฟ้องนายกเทศมนตรีเมืองลัดหลวง ผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรปราการ สำนักนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติ กรมเจ้าท่า เป็นผู้ถูกฟ้องที่ 1-4 กรณีอนุมัติอนุญาตให้บริษัท สยามแก๊สฯ ก่อสร้างท่าเทียบเรือเพื่อขนถ่ายสินค้าประเภทแก๊ส น้ำมัน ถ่านหิน และก่อสร้างอาคารเพื่อเป็นคลังแก๊สขนาด 1 แสนตัน และคลังเก็บถ่านหิน โดยขาดการมีส่วนร่วมในการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนและผู้มีส่วนได้เสียในชุมชน จึงขอให้ศาลมีคำพิพากษาเพิกถอนใบอนุญาตก่อสร้างอาคาร ดัดแปลงอาคาร รื้อถอนอาคารที่นายกเทศมนตรีลัดหลวงที่ออกให้กับบริษัทสยามแก๊สรวม 22 ฉบับ ให้สำนักนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติเพิกถอนรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมโครงการท่าเทียบเรือสยามสุขสวัสดิ์ ตามมติการประชุมครั้งที่ 6/2552 เมื่อวันที่ 29 ก.ย. 252 ให้กรมเจ้าท่าเพิกถอนใบอนุญาตให้ปลูกสร้างสิ่งล่วงล้ำลำแม่น้ำที่ออกให้กับบริษัทสยามแก๊สใบอนุญาตเลขที่ 7/2554 และเลขที่ 8/2554 ลงวันที่ 8 ก.ค. 2554 และสั่งให้ผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรปราการสั่งบริษัท สยามแก๊สระงับการก่อสร้างตามโครงการท่าเรือสยามสุขสวัสดิ์ทั้งหมด
       

       ส่วนที่ศาลมีคำสั่งกำหนดมาตรการคุ้มครองชั่วคราวดังกล่าวระบุว่า จากการให้ถ้อยคำของคู่กรณีและศาลได้ลงตรวจสอบท่าเทียบเรือดังกล่าวเห็นว่า ข้อพิพาทในคดีเกิดจากบริษัท สยามแก๊ส ก่อสร้างท่าเทียบเรือ 2 ท่า ซึ่งประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เรื่องกำหนดประเภทและขนาดของโครงการหรือกิจการ ซึ่งต้องจัดทำรายงานวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม หลักเกณฑ์ วิธีการ ระเบียบปฏิบัติและแนวทางการจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมลงวันที่ 16 มิ.ย. 2552 ได้กำหนดประเภทโครงการหรือกิจการท่าเทียบเรือเพื่อรับเรือขนาดตั้งแต่ 500 ตันกรอสขึ้นไป ต้องจัดทำรายงานวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) และตามมาตรา 50 วรรคสอง พ.ร.บ.ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ 2535 กำหนดว่า เมื่อคณะกรรมการชำนาญการให้ความเห็นชอบรายงานแล้ว ให้เจ้าหน้าที่ซึ่งมีอำนาจอนุญาตตามกฎหมายนำมาตรการที่ผู้ประกอบการเสนอไว้ในรายงาน ไปกำหนดเป็นเงื่อนไขการอนุญาต โดยให้ถือว่าเป็นเงื่อนไขที่กำหนดตามกฎหมายในเรื่องนั้นด้วย
       
       “เมื่อบริษัท สยามแก๊สฯ เสนอและคณะกรรมการชำนาญการฯให้ความเห็นชอบรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมภายใต้ขอบเขตว่า ท่าเทียบเรือทั้ง 2 ท่าจะไม่มีการขนถ่ายสินค้าประเภทสารกัมมันตรังสี วัตถุระเบิด สารติดไฟง่าย และสินค้าประเภทน้ำมันเชื้อเพลิงอันเป็นสารประเภทเดียวกันกับแก๊สแอลพีจีเหลวและถ่านหิน ตามคำฟ้อง นายกเทศมนตรีเมืองลัดหลวง และกรมเจ้าท่า ผู้มีอำนาจอนุญาตให้ก่อสร้างท่าเทียบเรือทั้ง 2 ท่า ตามกฎหมายว่าด้วยการควบคุมอาคารและการเดินเรือในน่านน้ำไทยตามลำดับ ต้องนำขอบเขตการใช้ท่าเทียบเรือในเรื่องดังกล่าวไปกำหนดไว้ในใบอนุญาต แต่ปรากฏว่าทั้งนายกเทศมนตรีเมืองลัดหลวง และกรมเจ้าท่า กำหนดแต่เงื่อนไขอื่น ไม่ได้กำหนดข้อห้ามดังกล่าวไว้ในใบอนุญาตแต่อย่างใด”
       
       อีกทั้งบริษัท สยามแก๊สฯ เป็นนิติบุคคลที่มีวัตถุประสงค์ค้าน้ำมันเชื้อเพลิง ถ่านหิน ผลิตภัณฑ์อย่างอื่นที่ก่อให้เกิดพลังงาน สถานีบริการน้ำมันเชื้อเพลิง ซื้อขายแก๊สปิโตรเลียมเหลวทุกชนิด ประกอบกิจการตั้งโรงอัดบรรจุแก๊สหุงต้ม และดำเนินการสถานีบริการเพื่อจำหน่ายแก๊สที่ใช้กับรถยนต์ทุกชนิด ทั้งข้อเท็จจริงปรากฏต่อศาลในวันไต่สวนว่า บริษัท สยามแก๊ส ได้ก่อสร้างถังเก็บแก๊สขนาด 100 ตัน รวม 17 ถัง และมีการขนถ่ายแก๊สให้กับลูกค้าในบริเวณเดียวกับที่บริษัท สยามแก๊ส ก่อสร้างท่าเทียบเรือ นางเฉียบและพวก 43 คนที่เป็นผู้ฟ้องคดีย่อมมีเหตุผลเพียงพอที่จะวิตกกังวล และหวั่นเกรงว่าบริษัท สยามแก๊ส จะมีการขนถ่ายสินค้าประเภทแก๊สหรือถ่านหินขึ้น-ลง ผ่านท่าเทียบเรือดังกล่าวซึ่งจะก่อให้เกิดความเดือดร้อนเสียหายแก่นางเฉียบและพวก ซึ่งศาลได้พิจารณาถึงปัญหาหรืออุปสรรคที่อาจจะเกิดขึ้นแก่การบริหารงานของรัฐประกอบด้วยแล้ว เห็นว่ากรณีมีเหตุผลที่ศาลจะกำหนดมาตรการคุ้มครองประโยชน์ของนางเฉียบและพวกทั้ง 43 คนไว้เป็นการชั่วคราวก่อนการพิพากษาตามวิธีการที่คู่กรณีตกลงกันต่อหน้าศาล โดยไม่จำเป็นต้องระงับการดำเนินการในกิจการท่าเทียบเรือของบริษัท สยามแก๊สฯ ไว้ทั้งหมด จึงมีคำสั่งดังกล่าว