กพร. รุกผลักดันแร่ควอตซ์ วัตถุดิบผลิตเซลล์แสงอาทิตย์ (6 ธ.ค. 59)
แนวหน้าออนไลน์ 6 ธันวาคม 2559
‘กพร.’รุกผลักดันแร่ควอตซ์ วัตถุดิบผลิตเซลล์แสงอาทิตย์
นายสมบูรณ์ ยินดียั่งยืน รองอธิบดีกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ (กพร.) รักษาราชการแทนอธิบดี กพร. เปิดเผยว่าแร่ควอตซ์ เป็นวัตถุดิบตั้งต้นที่สำคัญในอุตสาหกรรมซิลิกอน ซึ่งเป็นส่วนประกอบหลักของการผลิตเซลล์แสงอาทิตย์ ในการผลิตพลังงานไฟฟ้า กพร.เล็งเห็นว่าไทยมีศักยภาพของแร่ควอตซ์คุณภาพสูงมากพอที่จะผลักดันสู่การนำไปใช้ในการผลิตพลังงานทดแทนจากแสงอาทิตย์ ซึ่งมีเป้าหมายในการใช้แร่ควอตซ์คุณภาพสูงเป็นวัตถุดิบในการผลิตซิลิกอนเกรดแสงอาทิตย์
โดยปัจจุบันไทยยังไม่มีอุตสาหกรรมผลิตซิลิกอนเกรดแสงอาทิตย์ มีเพียงการผลิตซิลิกอน เกรดโลหกรรม ซึ่งถูกนำไปใช้ในอุตสาหกรรมหล่อโลหะผสมอะลูมิเนียมสำหรับชิ้นส่วนยานยนต์และอุตสาหกรรมเคมีเพื่อผลิตซิลิโคนเท่านั้น
นายสมบูรณ์กล่าวว่า ไทยมีปริมาณสำรองแร่ควอตซ์คุณภาพสูงกว่า 25 ล้านตัน ซึ่งจะสามารถผลิตซิลิกอนความบริสุทธิ์สูงได้ประมาณ 6 ล้านตัน และสามารถผลิตพลังงานไฟฟ้าได้ประมาณ 1 ล้านเมกกะวัตต์ หรือ 34 เท่า ของความต้องการพลังงานไฟฟ้าสูงสุดของไทย และสามารถสร้างรายได้ไม่น้อยกว่า 3.6-4.5 ล้านล้านบาท ยังไม่รวมมูลค่าเพิ่มจากอุตสาหกรรมต่อเนื่องที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูงและมีมูลค่าสูงในประเทศ
ทั้งนี้ พื้นที่ที่เป็นแหล่งแร่ควอตซ์ ได้แก่ประจวบคีรีขันธ์ มี 9.97 แสนตัน เพชรบุรี 9.7 หมื่นตัน สระแก้ว 4 แสนตัน ระยอง 7.56 ล้านตันจันทบุรี 2 หมื่นตัน ราชบุรี 16 ล้านตันปัจจุบันมีนักลงทุนต่างชาติสนใจเข้ามาลงทุนและพัฒนาแร่ควอตซ์ในไทย โดย กพร.อยู่ระหว่างจัดทำนโยบายการพัฒนาแหล่งแร่ควอตซ์ เพื่อรองรับการผลิตพลังงานไฟฟ้าแสงอาทิตย์ โดยคำนึงถึงประโยชน์สูงสุดต่อประเทศและผลกระทบต่อประชาชน
“เชื่อว่าหากมีอุตสาหกรรมการผลิตพลังงานไฟฟ้าแสงอาทิตย์ครบวงจรจากแร่ควอตซ์ในไทย จะส่งผลให้เกิดรายได้แก่ประเทศเป็นจำนวนมหาศาล ก่อให้เกิดการลงทุนและพัฒนาอุตสาหกรรมต่อเนื่องที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูง และไทยจะเป็นฐานการผลิตซิลิกอนเกรดโลหกรรมซิลิกอนเกรดแสงอาทิตย์และแผงเซลล์แสงอาทิตย์ที่ใหญ่ที่สุดในภูมิภาคอาเซียน” นายสมบูรณ์ กล่าว