เอ็นพีเอสยันโรงไฟฟ้าถ่านหินแปดริ้วฉลุย (23 พ.ค. 56)

ฐานเศรษฐกิจออนไลน์ 23 พฤษภาคม 2556
เอ็นพีเอสยันโรงไฟฟ้าถ่านหินแปดริ้วฉลุย

เอ็นพีเอส ยันโรงไฟฟ้าถ่านหินที่ฉะเชิงเทรา ผ่านอีเอชไอเอไม่เกินไตรมาส 4 นี้ เดินหน้าก่อสร้างจ่ายไฟเข้าระบบในอีก 3 ปีข้างหน้า มั่นใจคว้าประมูลไอพีพีได้ 900 เมกะวัตต์ พร้อมลุยสร้างโรงไฟฟ้าเอสพีพีต่ออีก 2 แห่ง เตรียมแต่งตัวประมูลเข้าบริหารงานโรงไฟฟ้าที่ไนจีเรียอีก 10 โรง 5 พันเมกะวัตต์

นายสิทธิพร รัตโนภาส ประธานกรรมการ บริษัท เนชั่นแนล เพาเวอร์ ซัพพลาย จำกัด(มหาชน)  หรือเอ็นพีเอส ผู้ดำเนินธุรกิจผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย เปิดเผยกับ "ฐานเศรษฐกิจ" ถึงความคืบหน้าการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน ขนาดกำลังผลิต 600 เมกะวัตต์ ในพื้นที่ตำบลเขาหินซ้อน อำเภอพนมสารคาม จังหวัดฉะเชิงเทรา ว่า ขณะนี้อยู่ระหว่างการจัดทำรายงานศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ(อีเอชไออี) เพิ่มเติมในส่วนของการป้องกันปัญหาการเกิดฝุ่นละอองจากการขนถ่านหินจากท่าเรือเกาะสีชังมายังโครงการและการแก้ไขปัญหาการจราจรที่จะเกิดขึ้น รวมถึงความชัดเจนในการใช้น้ำหล่อเย็น ที่เกรงว่าจะกระทบต่อการแย่งน้ำในพื้นที่ ซึ่งการแก้ปัญหาดังกล่าว จะส่งรายละเอียดให้กับสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม(สผ.)พิจารณาภายใน 2 เดือนนี้ และคาดว่าไม่เกินไตรมาสที่ 4 ของปีนี้น่าจะได้รับการอนุมัติ

"ส่วนการจะก่อสร้างโรงไฟฟ้าได้เมื่อใดนั้น หลังจากอีเอชไอเอผ่านการอนุมัติแล้ว จะต้องไปเจรจากับทางการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.) เพื่อลงนามในสัญญาซื้อขายไฟฟ้าหรือพีพีเอ ซึ่งจะมีผลไปสู่การกำหนดระยะเวลาการจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบหรือซีโอดีว่าจะอยู่ในช่วงใด หากเป็นไปตามแผนต้นปีหน้าลงนามพีพีเอ คาดว่าจะใช้ระยะเวลาก่อสร้างประมาณ 30 เดือน ในการจ่ายไฟฟ้าได้หรือประมาณปี 2559 ซึ่งโครงการนี้ถือว่าล่าช้ามาหลายปี เนื่องจากการต่อต้านของประชาชนในพื้นที่ จากเดิมที่ต้องจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบในเดือนพฤศจิกายนปีนี้"

สำหรับการประมูลโรงไฟฟ้าไอพีพีนั้น บริษัทอยู่ระหว่างรอผลการประมูลโรงไฟฟ้าไอพีพี ใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิง ขนาดกำลังผลิต 900 เมกะวัตต์ ที่จะตั้งขึ้นในจังหวัดปราจีนบุรี  ซึ่งมองว่าน่าจะได้รับการคัดเลือกในช่วงปลายเดือนพฤษภาคมนี้ เพราะเสนอค่าไฟฟ้าไปในราคาที่แข่งขันได้กับรายอื่นๆ

นายสิทธิพร กล่าวอีกว่า สำหรับแผนการขยายงานในอนาคตนั้น ในช่วง 1-2 ปีนี้ คาดว่าทางคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน(กกพ.) น่าจะมีการเปิดรับซื้อไฟฟ้าจากผู้ผลิตรายเล็กหรือเอสพีพี ขยายไฟฟ้าให้กับกฟผ.ไม่เกิน 90 เมกะวัตต์ ซึ่งได้ประกาศออกมาแล้วจะรับซื้อ 1.350 พันเมกะวัตต์ บริษัทก็มีความสนใจที่จะยื่นเสนอราคา 2 โครงการ รวมกำลังการผลิตประมาณ 240 เมกะวัตต์ ตั้งอยู่ในจังหวัดปราจีนบุรี โดยจะใช้เงินลงทุนก่อสร้างแห่งละประมาณ 4 พันล้านบาท ซึ่งจะช่วยเพิ่มกำลังการผลิตไฟฟ้าของบริษัท จากปัจจุบันที่มีโรงไฟฟ้า 8 แห่ง เดินเครื่องแล้วคิดเป็นกำลังการผลิต 493 เมกะวัตต์

ทั้งนี้ยังไม่รวมโครงการผลิตไฟฟ้าจากขยะในจังหวัดลำปาง สุราษฎร์ธานีและเชียงใหม่  ที่ขณะนี้อยู่ระหว่างการศึกษาในการนำเทคโนโลยีสมัยใหม่เข้ามาดำเนินการ ที่เป็นลักษณะการใช้สารเคมีมาทำละลายขยะให้เป็นของเหลวแล้วนำมาหมักให้เป็นก๊าซนำไปผลิตเป็นไฟฟ้า ซึ่งจะช่วยลดผลกระทบทางด้านกลิ่นเหม็น และช่วยลดปัญหาการฝังกลบขยะได้มาก ไม่เป็นมลพิษทางสิ่งแวดล้อม

นอกจากนี้ บริษัทยังมีแผนที่จะออกไปลงทุนต่างประเทศ โดยจะเสนอตัวเข้าไปบริหารโรงไฟฟ้าที่มีอยู่ 10 แห่ง คิดเป็นกำลังการผลิต 5 พันเมกะวัตต์ ในประเทศไนจีเรีย ที่จะมีการแปรรูปเปิดประมูลให้เอกชนเข้าไปดำเนินการ ซึ่งในเดือนมิถุนายน 2556 นี้ทางไนจีเรียจะมีการทำโรดโชว์ที่ฮ่องกง ซึ่งบริษัทจะไปดูว่าจะมีความเป็นไปได้กี่โรงไฟฟ้าในการยื่นประมูล เพราะจะต้องมีการใส่เงินลงไปประมาณ 80 % ก่อนที่จะเข้าบริหารงาน

"ส่วนลู่ทางการลงทุนในบังกลาเทศ นั้นเนื่องจากปัจจุบันกลุ่มบริษัท ดั๊บเบิ้ล เอ ซึ่งเป็นบริษัทแม่ ได้เข้าไปลงทุนทำโรงงานผลิตเยื่อกระดาษแลว ก็จะเป็นอีกโอกาสหนึ่งที่จะเข้าไปศึกษาทำธุรกิจไฟฟ้าเพิ่มเติมด้วย ไม่ว่าจะเป็นโรงไฟฟ้าถ่านหิน พลังน้ำ เป็นต้น"

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 33 ฉบับที่ 2,846 วันที่  23-25 พฤษภาคม พ.ศ. 2556