ท่าเรือน้ำลึก โรงไฟฟ้าถ่านหิน เหมืองแร่ และอภิมหาโปรเจกต์ต่างๆ ในชายแดนใต้ ล้วนอยู่ในแผนผลักดันของ “กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า” (3 ธ.ค. 59)
MGR Online 3 ธันวาคม 2559
ท่าเรือน้ำลึก โรงไฟฟ้าถ่านหิน เหมืองแร่ และอภิมหาโปรเจกต์ต่างๆ ในชายแดนใต้ ล้วนอยู่ในแผนผลักดันของ “กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า”
พล.ท.ปิยวัฒน์ นาควานิช แม่ทัพภาคที่ 4 ในฐานะ ผอ.กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า
ได้เดินทางไปติดตามความคืบหน้าการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา ถึงในพื้นที่เป้าหมายก่อสร้างโยมีทีมงาน กฟผ.ให้กับต้อนรับเมื่อเร็วๆ นี้
คอลัมน์ : จุดคบไฟใต้
โดย...ไชยยงค์ มณีพิลึก
ข่าวการพบแผนก่อการร้ายของขบวนการแบ่งแยกดินแดน ซึ่งเจ้าหน้าที่ยึดเอกสารที่เป็นรายละเอียดได้จากการวิสามัญฆาตกรรม “แนวร่วม” 2 ศพ ที่ อ.รามัน จ.ยะลา เมื่อสัปดาห์ก่อน ซึ่งพบว่าขบวนการแบ่งแยกดินแดนมีแผนการก่อการร้ายในพื้นที่ 4 จังหวัดชายแดนภาคใต้
ทั้งการก่อวินาศกรรมในเมืองเศรษฐกิจ การก่อวินาศกรรมเสาไฟฟ้า เสาโทรศัพท์ การโจมตีเจ้าหน้าที่รัฐ และอื่นๆ ในห้วงของเดือนธันวาคม ต่อเนื่องเดือนมกราคม ซึ่งเป็นห้วงเวลาของการส่งท้ายปีเก่า ต้อนรับปีใหม่
ซึ่งแม้ว่าจะไม่ได้ยึดแผนการก่อการร้ายจาก “คนตาย” เจ้าหน้าที่ทุกฝ่าย โดยเฉพาะ “หน่วยข่าว” ในพื้นที่ก็ “วิเคราะห์” และ “คาดการณ์” ได้ล่วงหน้าอยู่แล้ว เพราะทุกปีในห้วงของเดือนที่มี “วันสัญลักษณ์” ของรัฐไทย รวมทั้งในเทศกาลต่างๆ เช่น สงกานต์ และปีใหม่ ต่างคือวัน และเวลาที่ขบวนการแบ่งแยกดินแดนต้องเตรียมแผนในการก่อการร้ายอยู่แล้ว
เท่ากับว่าเดือนธันวาคม ต่อเนื่องถึงต้นเดือนมกราคม เป็นอีกห้วงเวลาหนึ่งที่เจ้าหน้าที่ตำรวจ ทหาร และอาสาสมัครทุกสังกัดจะต้องเพิ่มการป้องกันเหตุร้ายอย่างเต็มที่ ในขณะที่ประชาชน ซึ่งเป็นเป้าหมาย “อ่อนแอ” ที่เป็น “เหยื่อ” ของสถานการณ์ ก็ต้องเพิ่มความระมัดระวังในการรักษาชีวิตของตนเอง เพื่อให้ปลอดภัยจากการตกเป็น “เป้าหมาย” ของแนวร่วมในพื้นที่
แต่ท่ามกลางสถานการณ์ที่คนในพื้นที่เห็นว่ายัง “รุนแรง” นั้น ฝ่ายความมั่นคง ตั้งแต่รัฐบาล คสช. กองทัพ และ กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า ต่างประเมินว่า สถานการณ์ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ดีขึ้นมากแล้ว นโยบายในการแก้ปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ จึงมีการเปลี่ยนแปลงแบบชนิด “กลับหลังหัน”
เพราะวันนี้ กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า มีนโยบายใหม่ที่ชัดเจน นั่นคือ มุ่งเน้นแผนงานทั้งหมดไปที่ “งานด้านการพัฒนา” พื้นที่เป็นด้านหลัก เช่นเดียวกับเข็มมุ่งของรัฐบาลที่มีการจัดตั้ง “ครม.ส่วนหน้า” ขึ้นมาก็เพื่อที่จะผลักดัน “โครงการสามเหลี่ยมเศรษฐกิจ มั่นคง มั่งคั่ง” ด้วยโครงการต่างๆ ที่ใช้ “งบประมาณ” เป็นหมื่นๆ ล้านในการพัฒนาพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้
เป็นการใช้ “งานพัฒนา” เพื่อแก้ปัญหา “การก่อการร้าย” ซึ่งถือเป็นอีก “หลักคิด” หนึ่งของรัฐบาล และของ กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า ที่คนในประเทศ โดยเฉพาะคนในพื้นที่ที่ “มีส่วนได้-เสีย” ต้องช่วยกันวิพากษ์ รวมทั้งจับตามองในการใช้เงินงบประมาณ อย่าให้เกิดปรากฏการณ์ของ “เงินทอน” ไปตกหล่นในกระเป๋า ของ “ใครต่อใคร”
ท่าเรือน้ำลึก โรงไฟฟ้าถ่านหิน เหมืองแร่ และอภิมหาโปรเจกต์ต่างๆ ในชายแดนใต้ ล้วนอยู่ในแผนผลักดันของ “กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า” / ไชยยงค์ มณีพิลึก
พล.ท.ปิยวัฒน์ นาควานิช แม่ทัพภาคที่ 4 ในฐานะ ผอ.กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า ได้เดินทางไปติดตามความคืบหน้าการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา ถึงในพื้นที่เป้าหมายก่อสร้างโยมีทีมงาน กฟผ.ให้กับต้อนรับเมื่อเร็วๆ นี้
ในส่วนงานด้านการพัฒนาของ กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า ซึ่งได้สดับรับฟังมาอย่างคร่าวๆ จากเวทีพบปะสื่อที่จัดขึ้นนั้น จะเห็นโครงการด้านการพัฒนาที่เป็นหลักๆ อย่างเช่น การฟื้นฟูอุตสาหกรรมการทำเหมืองแร่ ซึ่งในอดีตเคยมีการทำเหมืองแร่ดีบุกที่รุ่งโรจน์ใน อ.บันนังสตา กับ อ.ยะหา จ.ยะลา ซึ่งยังมีร่องรอยเหลืออยู่อย่างเช่นที่ “เหมืองลาบู” และที่เหมืองทองคำอย่าง “เหมืองโต๊ะโม๊ะ” ใน อ.สุคินริน จ.นราธิวาส
การเข้าไปพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวในอำเภอต่างๆ ของ 3 จังหวัด ซึ่งทุกพื้นที่ต่างมี “ต้นทุน” อยู่แล้ว ให้มีความสวยงาม มีความสะดวกในด้านการคมนาคม เพื่อรองรับผู้ที่สนใจจะไปชมไปเที่ยว ก็เป็นอีกโครงการหนึ่งที่มีการเน้นกันอย่างเป็นพิเศษ ด้วยการ “ผลิตข่าวสาร” จาก “หน่วยไอโอ” เพื่อเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ให้บุคคลภายนอกพื้นที่ได้รู้ได้เห็น
การก่อสร้าง “สนามบินพาณิชย์เบตง” ที่ชายแดนมาเลเซีย เพื่อรองรับการท่องเที่ยง และการพาณิชยกรรม ที่มีการเซ็นสัญญาก่อสร้างเป็นชิ้นเป็นอันไปแล้ว รวมทั้งการเตรียมพัฒนา “สนามบินบ่อทอง” อ.โคกโพธิ์ จ.ปัตตานี ด้วยการขยายรันเวย์ให้ยาวขึ้นเพื่อรองรับเครื่องบินพาณิชย์ รับการเติบโตของ “โครงการสามเหลี่ยม เศรษฐกิจ มั่นคง มั่งคั่ง” ของ “อุตสาหกรรมการเกษตรครบวงจร” ใน อ.หนองจิก จ.ปัตตานี
รวมทั้งการทุ่มเม็ดเงินในการพัฒนาพื้นที่ของ อ.สุไหงโก-ลก จ.นราธิวาส ทั้งในเรื่องของ “สถานีรถไฟสุไหงโก-ลก” ในเรื่องของการพัฒนาด้านอื่นๆ ที่อยู่ในแผนพัฒนาอีกมากมาย เพื่อให้สุไหงโก-ลก เป็นเมืองชายแดนที่เพียบพร้อม ทั้งการท่องเที่ยว และการพาณิชย์ในอนาคต
ที่มีเสียง “วิพากษ์” กันมากคือ การขยาย “โรงรับจำนำ” ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ เพื่อให้เป็นที่พึ่งของ “คนจน” ในยามขัดสน ด้วยการเอาทรัพย์สินไปเปลี่ยนเป็นเงิน แทนที่จะไปทำในสิ่งที่ผิดกฎหมาย หรือเป็น “มือรับจ้าง” ในการก่อความไม่สงบ
และแม้กระทั่งนโยบายการสนับสนุนการก่อสร้าง “โรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา” อ.เทพา จ.สงขลา ก็อยู่ในแผนงานของการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ของ กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า ซึ่งก็คงจะมีภารกิจในการสนับสนุนการก่อสร้าง “ท่าเรือน้ำลึกแห่งที่ 2 สงขลา” และ “อภิมหาโครงการ” อื่นๆ เช่น “ท่าเรือน้ำลึกปากบารา” ใน จ.สตูล
แน่นอน เห็นด้วยในเรื่องของการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้อย่างเต็มที่ เต็มถัง เพราะหากรอให้สถานการณ์ความไม่สงบยุติก่อน แล้วค่อยทำการพัฒนา เชื่อว่าอีก 10 ปี หรืออีก 100 ปีก็อาจจะไม่ได้เริ่มต้นการพัฒนา เนื่องจากวันนี้เรายังไม่เห็น “แสงสว่างที่ปลายอุโมงค์” ว่าสถานการณ์ความไม่สงบจะยุติลงได้อย่างไร
ถ้ารอให้เสียงปืน และเสียงระเบิดหยุดนิ่ง แล้วค่อยเริ่มต้นการพัฒนา เชื่อว่าพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้คงจะกลายเป็นแผ่นดินที่ “เหือดแห้ง” เหมือนคนที่ปราศจากเลือดในการหล่อเลี้ยงชีวิต เพราะสิ่งที่ประจักษ์ชัดคือ วันนี้รายได้ต่อหัวของคน จ.นราธิวาส ต่ำที่สุดในประเทศไทย
แต่สุดท้ายไม่ว่าจะอย่างไร สิ่งที่สำคัญที่สุดในนโยบายแก้ปัญหาของจังหวัดชายแดนภาคใต้ ก็ยังคงเป็นเรื่องการแก้ “ปัญหาความรุนแรง” ที่เกิดจากขบวนการแบ่งแยกดินแดน ซึ่งมี “บีอาร์เอ็น” เป็นแกนนำสำคัญ และยังคงมียุทธศาสตร์ที่ชัดเจนว่า ไม่เลือกเส้นทาง “สันติวิธี” ด้วยการ “เจรจา” แต่ “ธง” ของบีอาร์เอ็นคือ “เอกราช” ด้วยการใช้ “ความรุนแรง”
ถ้า “สงครามประชาชน” ที่บีอาร์เอ็นยังคงมียุทธศาสตร์ในการ “สร้างมวลชนให้ได้ 1 ล้านคน สร้างนักรบ 1 แสนคน และสร้างนักปฏิวัติ 3 พันคนใน 10 ปี” โดยที่รัฐยังไม่สามารถหยุดการเคลื่อนไหวของบีอาร์เอ็นได้ ปัญหาของการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ ไม่ว่าจะเป็น “สามเหลี่ยม” หรือ “สี่เหลี่ยม” เศรษฐกิจอะไรก็ตาม นั่นก็ใช่ว่าจะประสบความสำเร็จอย่างที่คาดหวัง
เพราะนักลงทุนทั้งในพื้นที่ และจากต่างถิ่น โดยเฉพาะ “ทุนต่างประเทศ” ยังให้น้ำหนักในเรื่องความรุนแรงเป็นด้านหลัก ถ้ายังมีเสียงระเบิด เสียงปืน มีคนตายเป็นรายวัน ถนนสายหลักยังเป็นที่ทดลองระเบิดแสวงเครื่อง ปรากฏการณ์ของคาร์บอมบ์ยังเกิดขึ้นถี่ๆ ผู้บริสุทธิ์ยังร่วงหล่นศพแล้วศพเล่า นักลงทุนที่ยังมีช่องทางลงทุนในพื้นที่อื่นๆ คงจะเลือกการลงทุนในจังหวัดชายแดนภาคใต้เป็น “ที่สุดท้าย”
เช่นเดียวกับสถานที่ท่องเที่ยวที่มีการพัฒนาให้สวยงาม มีการคมนาคมสะดวกสบาย แต่ถ้าเกิดมีนักท่องเที่ยวไม่ได้รับความปลอดภัยเกิดขึ้น และ “เป็นข่าว” แม้เพียงรายเดียว “ความฝันอันบรรเจิด” เรื่องการพัฒนาพื้นที่ให้เป็นแหล่งท่องเที่ยว ก็ไม่ได้หมายความว่าจะง่ายดายอย่างที่คาดหวัง
โครงการพัฒนาด้วย “อภิมหาโปรเจกต์” ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ครั้งนี้ของรัฐบาล และ กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า แม้ว่าจะ “ดูดี” ทุกโครงการ แต่ถ้าหยิบแต่ละโครงการมาลงรายละเอียด ก็จะพบว่า ยังมากด้วยปัญหา อุปสรรค รวมทั้งบางโครงการคนในพื้นที่ไม่เห็นด้วย เพียงแต่ ณ วันนี้ไม่มีใครกล้าออกมา “วิพากษ์” และส่งเสียง “คัดค้าน” จริงจังเท่านั้น อันทำให้เจ้าของโครงการเห็นแต่ด้าน “บวก” โดยมองไม่เห็นด้าน “ลบ” แต่อย่างใด
สุดท้ายไม่ว่าจะอย่างไร ปัญหาของจังหวัดชายแดนภาคใต้ยังคงอยู่ที่เดิม นั่นคือ เรื่องของบีอาร์เอ็น นั่นคือเรื่องของการแบ่งแยกดินแดน นั่นคือเรื่องของ “ความรุนแรง” ซึ่งผู้รับผิดชอบจะต้องหยุดความรุนแรงในพื้นที่ให้ได้ รวมทั้งต้องแก้ “งานการข่าว” ให้มีประสิทธิภาพ เพื่อสามารถที่จะทำให้พื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นพื้นที่ปลอดภัย หรืออย่างน้อยที่สุดก็คือ “เป้าหมายอ่อนแอ” ต้องไม่ตกเป็น “เหยื่อสถานการณ์” อีก
การพัฒนาที่ได้ผล และลงถึงประชาชนเจ้าของพื้นที่ได้ดีที่สุดคือ การสร้าง “ชุมชนเข้มแข็ง” ตามหลักปรัชญา “เศรษฐกิจพอเพียง” โดยเดินตามรอยเท้าของ “พ่อหลวง” ของเรา