กพร. ยัน "แผนฟื้นฟูเหมือง" ต้องเข้มเท่า EIA (3 ธ.ค. 59)

แนวหน้าออนไลน์ 3 ธันวาคม 2559
กพร.ยันแผนฟื้นฟูเหมือง ต้องเข้มเท่าEIA

นายสมบูรณ์ ยินดียั่งยืน อธิบดีกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ (กพร.) เปิดเผยว่า ตนได้มีนโยบายให้ขั้นตอนการทำเหมืองแร่ของประเทศ ต้องทำแผนการฟื้นฟูเหมืองภายหลังการปิดเหมืองอย่างเข้มข้น นอกเหนือจากการทำรายงานวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA)

ทั้งนี้เพื่อทำให้การปิดเหมืองไม่ใช่แค่การยุติการขุดแร่ รื้อถอนเครื่องจักร และรื้อถอนอาคารโรงงานเท่านั้น แต่ยังหมายรวมถึง การพัฒนาพื้นที่ที่ผ่านการทำเหมืองแล้ว ให้สามารถนำกลับมาใช้ประโยชน์ได้อย่างยั่งยืน เพื่อให้ประชาชนและสังคมเชื่อมั่นว่า เหมืองที่ปิดตัวลงไป จะไม่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ไม่เป็นอันตรายต่อชุมชน ทั้งด้านสุขอนามัยและความปลอดภัย ไม่ทำให้พื้นที่ของประเทศไร้ประโยชน์ เมื่อไม่สามารถสร้างมูลค่าเชิงพาณิชย์ได้แล้ว

“การออกแบบเพื่อฟื้นฟูพื้นที่และการรื้อถอน ต้องมีการวิเคราะห์ความเสี่ยง อาทิ ความเสี่ยงจากการพังทลายของกองดินและบ่อเหมือง มีระบบการตรวจสอบการออกแบบโดยใช้มาตรฐานด้านความปลอดภัยและสิ่งแวดล้อมเป็นตัวกำหนด ต้องครอบคลุมผลด้านเศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อม โดยต้องดำเนินการฟื้นฟูตั้งแต่ช่วงระหว่างทำเหมือง ไปถึงภายหลังการทำเหมือง จนกว่าพื้นที่จะกลับคืนสู่สภาพที่สามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้ หรืออยู่ในสภาพที่เป็นที่ยอมรับของชุมชนและสังคม”นายสมบูรณ์ กล่าว

สำหรับข้อกำหนดสำคัญที่มีผลต่อการจัดทำแผนปิดเหมือง 3 ประการ ได้แก่ 1.ความมั่นคงของพื้นที่ ผู้ประกอบการต้องพิจารณาองค์ประกอบหลักของพื้นที่ ได้แก่ ผนังบ่อเหมือง กองเศษดิน อุโมงค์หรือปล่องใต้ดิน บ่อเก็บกักตะกอน ทางระบายน้ำ และคลองผันน้ำ ที่ต้องมีความมั่นคงปลอดภัย ไม่มีความเสี่ยงจากการพังทลาย หรือถูกกัดเซาะ ส่งผลกระทบต่อเนื่องอื่นๆ

2.การปนเปื้อนของสารเคมี การฟื้นฟูพื้นที่หลังการทำเหมืองจะต้องผ่านการวิเคราะห์การปนเปื้อนของสารเคมี ว่าต้องไม่มีสารตกค้างหรือปนเปื้อนในดิน น้ำ และสิ่งแวดล้อม เกินกว่าค่ามาตรฐานกำหนด เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม

3.การตั้งเป้าหมายการฟื้นฟูพื้นที่หลังการทำเหมือง จะต้องฟื้นฟูให้สามารถนำกลับมาใช้ประโยชน์ใกล้เคียงสภาพพื้นที่เดิม หรือสามารถเป็นประโยชน์อื่นที่เหมาะสมและเป็นที่ยอมรับ มีทัศนียภาพและระบบนิเวศที่กลมกลืนกับสภาพโดยรอบ