ศาลปกครองชี้ "ผู้ว่าฯ ปากน้ำ-นายก อบต.แพรกษา" ละเลยหน้าที่ พร้อมสั่งให้ทำแผนขจัดมลพิษบ่อขยะ (30 พ.ย. 59)

MGR Online 30 พฤศจิกายน 2559
ศาลปกครองชี้ผู้ว่าฯ ปากน้ำ-นายก อบต.แพรกษา ละเลยหน้าที่ พร้อมสั่งให้ทำแผนขจัดมลพิษบ่อขยะ

"ศาลปกครอง" พิพากษา ผู้ว่าฯ สมุทรปราการ นายก อบต.แพรกษา ละเลยต่อหน้าที่ พร้อมสั่งให้จัดทำแผนลดและขจัดมลพิษบ่อขยะแพรกษา       

       ศาลปกครองกลาง แผนกคดีสิ่งแวดล้อม มีคำพิพากษาให้ศาลมีคำพิพากษาให้นายกองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) แพรกษา จ.สุมทรปราการใช้อำนาจ พ.ร.บ.การสาธารณสุข พ.ศ. 2535 ควบคุมดูแลมิให้มีการกระทำใดๆ อันก่อให้เกิดกลิ่นเหม็นของ มูลฝอยอันเป็นเหตุรำคาญแก่ผู้อยู่อาศัยในบริเวณใกล้เคียงบ่อขยะแพรกษา และให้ดำเนินการจัดทำแผนปฏิบัติการเพื่อลดและขจัดมลพิษในเขตพื้นที่ของอบต.แพรกษาตามมาตรา 60 ของ พ.ร.บ.ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ. 2535 รวมทั้งให้ผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรปราการกำกับดูแลให้นายก อบต.แพรกษา ปฏิบัติตามคำพิพากษาของศาลโดยเคร่งครัด
       
       ทั้งนี้ คำพิพากษาดังกล่าวสืบเนื่องจากสมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน พร้อมพวกซึ่งเป็นชาวบ้านรวม 163 คน ที่อาศัยในบริเวณชุมชนแพรกษา ต.แพรกษา อ.เมือง จ.สมุทรปการ และได้รับผลกระทบเรื่องกลิ่นเหม็นรบกวน และน้ำเสียจากบ่อขยะดังกล่าวทั้งก่อนและหลังเกิดเหตุเพลิงไหม้บ่อขยะเมื่อ16 มี.ค. 2557 ได้ยื่นฟ้องนายกเทศมนตรี ต.แพรกษา เทศบาลตำบลแพรกษา ผู้ว่าฯ สมุทรปราการ อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม นายก อบต.แพรกษา อบต.แพรกษา สาธารณสุขจังหวัดสมุทรปราการอุตสาหกรรมจังหวัดสมุทรปราการ กรมควบคุมมลพิษ กรมโรงงานอุตสาหกรรม คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ เป็นผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1-11 เพื่อขอให้ศาลพิพากษาสั่งให้นายก อบต.แพรกษาเพิกถอนใบอนุญาตประกอบกิจการดังกล่าว และสั่งปิดกิจการโดยไม่อนุมัติอนุญาตให้ประกอบกิจการในพื้นที่อีก รวมถึงให้นายก อบต.แพรกษาการจัดทำแผนปฏิบัติการเพื่อลดและขจัดมลพิษในเขตพื้นที่ อบต.แพรกษา และสั่งให้มีการฟื้นฟูพื้นที่บ่อขยะแพรกษาและพื้นที่ใกล้เคียงโดยรอบให้กลับคืนสู่สภาพปกติ
       

       ส่วนที่ศาลมีคำพิพากษาดังกล่าวระบุว่า จากการข้อเท็จจริงพบกว่า ก่อนที่นายกนายก อบต.แพรกษาจะออกใบอนุญาตสองฉบับให้แก่นายกรมย์พล สมุทรสาคร ผู้เช่าที่ดินประกอบกิจการบ่อขยะดังกล่าว บริเวณที่พิพาทมีสภาพเป็นบ่อขยะและมีปัญหาเรื่องกลิ่นเหม็นที่ส่งผลกระทบต่อประชาชน และประชาชนก็มีการร้องเรียนเรื่องกลิ่นเหม็นจากบ่อขยะ ซึ่งทาง อบต.แพรกษายอมรับว่าได้สั่งให้เจ้าของที่ดินระงับเหตุรำคาญโดยดูแลไม่ให้มีการนำขยะมาทิ้งและติดป้ายประกาศห้ามทิ้งขยะ ดังนั้น พื้นที่พิพาทจึงมีสภาพไม่เหมาะสมในการดำเนินกิจการที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพดังกล่าว ซึ่งนายก อบต.แพรกษาจะต้องนำข้อเท็จจริงของสภาพพื้นที่มาประกอบการพิจารณาใช้ดุลพินิจในการออกใบอนุญาตให้แก่นายกรมย์พล
       
       แต่เมื่อนายก อบต.แพรกษาออกใบอนุญาตประกอบกิจการที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ เลขที่ 95/2554 ลงวันที่ 17 ส.ค. 2554 และเลขที่ 96/2554 ลงวันที่ 6 ต.ค. 2554 ให้แก่นายกรมย์พล ดำเนินกิจการดังกล่าวในบริเวณพื้นที่พิพาท โดยไม่ได้กำหนดเงื่อนไขใดๆ ในการประกอบกิจการเพื่อป้องกันเหตุรำคาญ จึงเป็นการอนุญาตโดยไม่ได้คำนึงถึงข้อเท็จจริงที่ว่าการกำจัดสิ่งปฏิกูลหรือมูลฝอยในที่ดินพิพาทจะส่งผลกระทบต่อคุณภาพสิ่งแวดล้อม สุขภาพอนามัยของประชาชนหรือชุมชน ในบริเวณนั้นหรือไม่
       
       อีกทั้งไม่ปรากฏว่าบ่อขยะดังกล่าวได้มีการก่อสร้างระบบป้องกันการซึมของน้ำเสียลงสู่ชั้นน้ำใต้ดิน ไม่มีการปูพื้นบ่อด้วยแผ่นพลาสติกกันซึม รวมทั้งไม่มีการควบคุมการฝังกลบขยะมูลฝอยให้เป็นไปตามหลักสุขาภิบาล ไม่มีการปิดทับด้วยดินเพื่อลดปัญหาเรื่องกลิ่นและแมลง ไม่มีระบบรวบรวมน้ำเสียไปบำบัด ซึ่งนอกจากถือได้ว่าเป็นการใช้ดุลพินิจออกใบอนุญาตโดยไม่มีเหตุผลอันสมควรแล้ว ยังถือได้ว่านายก อบต.แพรกษาไม่ได้ใช้อำนาจหน้าที่ในการส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมตามมาตรา 290 ของ รัฐธรรมนูญ 2550 ซึ่งใช้บังคับอยู่ในขณะนั้นด้วย การออกใบอนุญาตประกอบกิจการที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพให้แก่นายกรมย์พลของนายกฯอบต.แพรกษาจึงเป็นการกระทำโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย
       
       แต่เมื่อนายกรมย์พลได้ยื่นขอยกเลิกรับทำการกำจัด สิ่งปฏิกูลหรือมูลฝอยและยกเลิกการสะสมวัสดุสิ่งของที่ชำรุดใช้แล้วหรือเหลือใช้ และนายก อบต.แพรกษาได้มีคำสั่งยกเลิกกิจการ ตามใบอนุญาตประกอบกิจการที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพทั้งสองฉบับแล้วเมื่อวันที่ 28 ธ.ค. 2555 ใบอนุญาตทั้งสองฉบับดังกล่าวย่อมสิ้นผลลงจึงไม่มีเหตุที่ศาลจะต้องมีคำพิพากษาให้เพิกถอนใบอนุญาตประกอบกิจการดังกล่าว
       
       ส่วนของเจ้าหน้าที่และหน่วยงานรัฐซึ่งเป็นผู้ถุกฟ้องคดีเห็นว่า เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่าประชาชนที่อยู่อาศัยในบริเวณใกล้เคียงยังคงได้รับความเดือดร้อนรำคาญจากกลิ่นเหม็นของขยะมูลฝอยจากสถานที่ดังกล่าว จึงเห็นว่าการที่นายก อบต.แพรกษา และ อบต.แพรกษา ไม่ได้จัดทำแผนปฏิบัติเพื่อลดและขจัดมลพิษหลังจากเกิดเหตุไฟไหม้เสนอให้ผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรปราการ จึงถือได้ว่าละเลยต่อหน้าที่ นอกจากนั้นการที่ผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรปราการไม่กำกับดูแลให้เจ้าหน้าที่ท้องถิ่นปฏิบัติตามหลักธรรมาภิบาลและตามกฎหมาย จึงถือเป็นการละเลยต่อหน้าที่เช่นกันละเลยต่อหน้าที่ ศาลจึงมีคำสั่งดังกล่าว