กฤษฎีกาชี้กรมธนารักษ์เปิดประมูลเอกชนลงทุนตั้งนิคมอุตฯ ใน "เขต ศก. พิเศษ" ได้ (30 พ.ย. 59)

สำนักข่าวอิศรา 30 พฤศจิกายน 2559
กฤษฎีกาชี้กรมธนารักษ์เปิดประมูลเอกชนลงทุนตั้งนิคมอุตฯ ในเขตศก.พิเศษได้

กฤษฎีกาชี้กรมธนารักษ์เปิดประมูลเอกชนลงทุนตั้งนิคมอุตฯ ในเขตเศรษฐกิจพิเศษ  ภายในกำหนดระยะเวลาเช่า 50 ปี โดยสามารถนำที่ดินดังกล่าวไปให้เช่าช่วงหรือนำไปจัดหาประโยชน์ได้ 

เมื่อเร็วๆ นี้ กรมธนารักษ์ได้มีหนังสือ ด่วนที่สุด ที่ กค 0305/15174 ลงวันที่ 1 กันยายน 2559 ถึงสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ความว่า ตามคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 17/2558 เรื่อง การจัดหาที่ดินเพื่อประโยชน์ในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ ข้อ 6 กำหนดว่า ในการใช้ประโยชน์ที่ดินตามข้อ 2 หรือที่ราชพัสดุอื่นในพื้นที่พัฒนา ให้กรมธนารักษ์จัดให้หน่วยงานของรัฐใช้ประโยชน์ หรือจัดให้การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย หน่วยงานอื่นของรัฐ หรือเอกชนเช่าเพื่อใช้เป็นพื้นที่พัฒนา ตามระยะเวลา หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไข รวมทั้งอัตราค่าเช่าที่คณะกรรมการกำหนด

กรมธนารักษ์ขอเรียนว่า ได้ดำเนินการเปิดประมูลหาผู้ลงทุนในพื้นที่เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษหนองคาย มุกดาหาร และตราด แล้ว และมีผู้สนใจยื่นเสนอโครงการลงทุนในพื้นที่เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษตราด จำนวน 1 ราย 

สำหรับเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษหนองคายและมุกดาหาร ไม่มีผู้สนใจยื่นซองเสนอการลงทุน จึงได้รับฟังความคิดเห็นของผู้ที่ซื้อเอกสารแต่ไม่ยื่นซองเสนอการลงทุนแล้วปรากฏว่า มีประเด็นที่ผู้ลงทุนไม่มั่นใจว่า ที่ดินที่ได้รับสิทธิการเช่าจากกรมธนารักษ์จะสามารถจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมได้หรือไม่ 

ดังนั้น เพื่อให้เกิดความชัดเจนในแนวทางปฏิบัติดังกล่าว จึงขอหารือว่า เอกชนจะจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมในเขตเศรษฐกิจพิเศษตามคำสั่งดังกล่าวข้างต้นได้หรือไม่ และหากไม่สามารถดำเนินการได้จะมีแนวทางแก้ไขปัญหาอย่างไรเพื่อให้กรมธนารักษ์เปิดประมูลให้เอกชนลงทุนได้ตามนโยบายของรัฐโดยเร็ว 

คณะกรรมการกฤษฎีกา (คณะพิเศษ) ได้พิจารณาข้อหารือประกอบกับข้อเท็จจริงเพิ่มเติมแล้ว มีประเด็นที่ต้องพิจารณาว่า คำว่า สิทธิครอบครอง ตามข้อ 4 (5) แห่งกฎกระทรวงกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรม พ.ศ. 2548  การที่เอกชนได้รับการคัดเลือกและต้องจัดทำสัญญาเช่าที่ดินราชพัสดุจากกรมธนารักษ์แล้ว ย่อมถือว่าเป็นผู้มีสิทธิครอบครองในที่ดินดังกล่าวด้วย เนื่องจากผู้เช่าได้ยึดถือครอบครองที่ดินดังกล่าวเพื่อประโยชน์ในการบริหารจัดการภายในกำหนดระยะเวลาเช่า 50 ปี โดยสามารถนำที่ดินดังกล่าวไปให้เช่าช่วงหรือนำไปจัดหาประโยชน์ได้ รวมทั้งสิ่งปลูกสร้างที่สร้างขึ้นให้ตกเป็นของบุคคลดังกล่าว   

ทั้งนี้   มีข้อสังเกตว่า การออกคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 17/2558  เนื่องจากมีความจำเป็นในการปฏิรูปเศรษฐกิจ สร้างความเชื่อมโยงกับประเทศอื่นในภูมิภาคเพื่อความมั่นคงทางเศรษฐกิจและสังคม จึงกำหนดให้มีหลักเกณฑ์ที่เอื้ออำนวยให้การจัดตั้งเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษสามารถดำเนินการได้อย่างรวดเร็วเพื่อผลักดันนโยบายของรัฐบาล เช่น การให้เช่าที่ดินเป็นระยะเวลาไม่น้อยกว่า 50 ปี การยกเว้นไม่ต้องปฏิบัติตามกฎหมายว่าด้วยการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ ซึ่งหากดำเนินการตามกฎระเบียบทั่วไปที่ใช้กับการบริหารจัดการที่ราชพัสดุจะไม่สอดคล้องกับแนวทางการใช้ประโยชน์ที่ดินในพื้นที่เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ   

นอกจากนี้ คณะรักษาความสงบแห่งชาติได้แต่งตั้งคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษขึ้น   หากมีกรณีที่เป็นอุปสรรคหรือข้อขัดข้องในการดำเนินการ หน่วยงานดังกล่าว จึงต้องพิจารณาเสนอความเห็นต่อคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษเพื่อแก้ไขอุปสรรคดังกล่าวโดยเร็วตามหลักการที่กำหนดไว้ในมาตรา 8 (5) (7)  แห่งพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยหลักเกณฑ์ และวิธีการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี พ.ศ. 2546  ว่า ในกรณีที่เกิดปัญหาและอุปสรรคจากการดำเนินการ ให้ส่วนราชการดำเนินการแก้ไขปัญหาและอุปสรรคนั้นโดยเร็ว ในกรณีที่ปัญหาหรืออุปสรรคนั้นเกิดขึ้นจากส่วนราชการอื่นหรือระเบียบข้อบังคับที่ออกโดยส่วนราชการอื่น ให้ส่วนราชการแจ้งให้ส่วนราชการที่เกี่ยวข้องทราบเพื่อดำเนินการแก้ไขปรับปรุงโดยเร็วต่อไป

ที่มาภาพ:http://terrabkk.com