ปมโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่ยังยื้อ ทั้งหนุน-ต้าน ยื่นร้องนายกฯแสดงจุดยืน (29 พ.ย. 59)

มติชนออนไลน์ 29 พฤศจิกายน 2559
ปมโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่ยังยื้อ ทั้งหนุน-ต้าน ยื่นร้องนายกฯแสดงจุดยืน

วันที่ 29 พฤศจิกายน 2559 ผู้สื่อข่าวรายว่า ขณะนี้ชาวบ้านชุมชนบ้านแหลมหิน ต.ตลิ่งชัน อ.เหนือคลอง จังหวัดกระบี่ ซึ่งเป็นสถานที่ถูกเลือกใช้เป็นที่ ตั้ง ของโครงการสร้างท่าเทียบเรือขนถ่ายถ่านหินลิกไนต์ บ้านคลองรั้ว ช่วยกันเขียนป้ายข้อความ คัดค้านโครงการโรงไฟฟ้าพลังถ่านหินลิกไนต์ จังหวัดกระบี่ ที่ตำบลคลองขนาน อำเภอเหนือคลออง และโครงการสร้างท่าเทียบเรือขนถ่ายถ่านหินบ้านคลองรั้ว นำไปติดตั้งตามชุมชน  อาทิ คนที่นี่ไม่ต้องการโรงไฟฟ้า อย่าเอาถ่านหินมาทำลายชาวบ้าน กฟฝ เอาถ่านหิน มาฆ่าคน กระบี่ เป็นต้น  เพื่อรณรงค์คัดค้านโครงการสร้างโรงไฟฟ้ากระบี่  เนื่องจากชาวบ้านวิตกกังวล ต่อผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม สุภาพ  และ วิถีชีวิตชุมชน  แหล่งทำมาหากินของชาวบ้าน

ชาวชุมชนบ้านแหลมหิน กล่าวว่า ไม่มั่นใจว่า นายกรัฐมนตรีมีคำสั่งให้ชะลอโครงการสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่ไม่อาจนำไปสู่การปฏิบัติจริงได้ เพราะที่ผ่านมา ได้มีค่ำสั่งชะลอโครงการมาแล้ว แต่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ได้ดำเนินการผลักดัน ให้มีการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่อย่างต่อเนื่อง และกังวลว่าหากได้รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง อาจหยิบยกโครงการขึ้นมาอีกครั้ง อย่างไรก็ตาม กลุ่มชาวบ้านพร้อม ที่จะเดินทางไปร่วมชุมนุมกับกลุ่มแกนนำเครือปกป้องกันอันดามันจากถ่านหิน ที่กรุงเทพมหานคร หากมีการยกระดับการชุมนุม

นายอัครเดช ฉากจินา ตัวแทนเครือข่ายปกป้องกันอันดามันจากถ่านหิน กล่าวว่า เครือข่ายปกป้องอันดามันจากถ่านหิน ได้ออกแถลงการณ์ เรียกร้องให้นายกรัฐมนตรีมีคำสั่งในมาตรการ การปฏิบัติ ดังนี้ 1.ให้มีมาตรการอย่างชัดเจนในการส่งเสริมการทำพลังงานหมุนเวียนของจังหวัดกระบี่ตามคำสัญญาของนายกรัฐมนตรีเมื่อเดือนสิงหาคมปีที่ผ่านมา ที่มีต่อเครือข่ายใจความว่าหากศึกษาพบว่ากระบี่มีศักยภาพเพียงพอต่อการใช้จะส่งเสริมจังหวัดกระบี่ให้ดำเนินการทำพลังงานหมุนเวียนได้ และวันนี้การศึกษาของอนุกรรมการได้ปรากฏผลการศึกษาอย่างชัดเจนแล้วว่ามีศักยภาพในการทำได้ 1700 เมกกะวัตต์ มากกว่าการใช้ 10 เท่าตัว จึงต้องมีมาตรการอย่างชัดเจนในทางปฏิบัติ

2.ขอให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ถอนรายงานผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ(EHIA) ออกจากสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ) และให้รายงานฉบับนี้หมดสภาพของความเป็นรายงานโดยไม่สามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้อีก 3.ขอให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยประกาศยกเลิกการประมูลทั้งโรงไฟฟ้าและท่าเทียบเรือขนถ่านหินโดยทันที 4.ขอให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตถอนกำลังออกจากพื้นที่ทั้งทีมงานที่ทำงานด้านมวลชนและหยุดการโฆษณาเพื่อให้เกิดโรงไฟฟ้าถ่านหินในจังหวัดกระบี่ทั้งหมดโดยทันที

นายเขมญาติ ยมานันตกุล ผอ.โรงไฟฟ้าภาคใต้ กล่าวว่า ตั้งแต่เดือนมิถุนายน ที่ผ่านมา การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ได้มีการถอนคณะทำงาน ออกจากพื้นที่ ตามคำสั่งนายกรัฐมนตรีก่อน มีคำสั่งแต่ตั้งคณะกรรมการไตรภาคีลงพื้นที่ศึกษาผลกระทบในทุกด้านเมื่อปี 2558 ส่วนที่มีเจ้าหน้าที่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตลงพื้นที่อยู่ในขณะนี้ เป็นแผนงานประจำปีของ โรงไฟฟ้ากระบี่เดิม ที่ต้องลงพื้นที่ สำรวจ ร่องน้ำ คุณภาพ อากาศ ผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชน ชุมชนรอบโรงไฟฟ้า  การมอบทุนการศึกษา สนับสนุนกิจกรรมต่างๆ ของ ชุมชน เป็นไปตามกฎหมายกำหนด  ไม่เกี่ยวข้องกับโครงการสร้างโรงไฟฟ้าพลังถ่านหินกระบี่แห่งใหม่แต่อย่างใด ผอ.โรงไฟฟ้าภาคใต้ กล่าว

ด้านนายอนันต์ สันหาด อดีตกำนันตำบลคลองขนาน อ. เหนือคลอง จ.กระบี่ ตัวแทนกล่าวว่า กลุ่มเครือข่ายประชาชนในจังหวัดกระบี่  ที่สนับสนุนโครงการสร้างโรงไฟฟ้ากระบี่ กล่าวว่า เมื่อวันที่ 21 พฤศจิกายน ที่ผ่านมา ตัวแทนเครือข่ายภาคประชาชนจังหวัดกระบี่ นำโดย นายไพโรจน์  บุตรเผียน พร้อมผู้นำชุมชน กำนัน  ผู้ใหญ่บ้าน และประชาชนรอบโรงไฟฟ้ากระบี่ ทั้ง 4 ตำบล ใน อ.เหนือคลอง จ.กระบี่  รวมประมาณ 20 คน  เดินทางมายื่นหนังสือและรายชื่อประชาชนที่สนับสนุนโครงการโรงไฟฟ้ากระบี่ ที่ตำบลคลองขนาน และท่าเทียบเรือบ้านคลองรั้ว ตำบลตลิ่งชัน อำเภอเหนือคลอง จังหวัดกระบี่  จำนวน 15,000  รายชื่อ ให้นายสมควร  ขันเงิน รองผู้ว่าราชการจังหวัดกระบี่ และนายจักรพันธ์  ชูแก้ว  พลังงานจังหวัดกระบี่  เพื่อนำเสนอพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เพื่อขอให้เร่งอนุมัติโครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่ขนาดกำลังผลิต 870 เมกกะวัตต์ เนื่องจากเกรงว่าในอนาคตอันใกล้หากไม่รีบเร่งสร้างจะทำให้กระแสไฟฟ้าเกิดการขาดแคลน โดยเฉพาะในพื้นที่ภาคใต้

นายไพโรจน์ กล่าวว่า ตามที่นายกรัฐมนตรี ได้แต่งตั้งคณะกรรมการศึกษาการดำเนินโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินจังหวัดกระบี่ โดยมีการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนจากทุกภาคส่วนต่างๆเพื่อให้ได้ข้อมูลนำไปสู่การดำเนินโครงการที่มีความสมบูรณ์ และเป็นที่ยอมรับของทุกฝ่าย ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการรวบรวมความคิดเห็นและข้อเสนอแนะจากคณะอนุกรรมการรวมถึงข้อเท็จจริงซึ่งเป็นข้อมูลเชิงประจักษ์เพื่อนำเสนอต่อนายกรัฐมนตรีต่อไป ซึ่งจากการศึกษาในเชิงวิชาการนั้นชี้ชัดว่าไม่กระทบสิ่งแวดล้อมอย่างแน่นอน

ผู้สื่อข่าว รายงานว่า แหล่งข่าวจากกระทรวงพลังงาน กล่าวถึงความล่าช้าของโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่ซึ่งไม่เป็นไปตามแผน จะส่งผลกระทบต่อความมั่นคงไฟฟ้าในภาคใต้ช่วงปี2562 และ2563ที่ความต้องการใช้ไฟฟ้าจะเพิ่มสูงขึ้นมากกว่ากำลังการผลิตติดตั้งที่มีอยู่ในพื้นที่ และหากโรงไฟฟ้าโรงหลักในพื้นที่ต้องหยุดซ่อมบำรุง จะทำให้ไฟฟ้าที่ส่งจากภาคกลางผ่านสายส่งไฟฟ้าแรงสูง500เควี ลงไปช่วยภาคใต้ จะมีปริมาณไม่เพียงพอ  โดยกระทรวงพลังงานเตรียมหารือหาแนวทางที่จะลดความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงสุดลง ในช่วงปีดังกล่าว