"เครือข่ายสงขลา-สตูล" ฮือจี้ผู้ว่าฯ สงขลา หยุด "เวที ค.1 ท่าเรือน้ำลึก-ประมูลโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา" (29 พ.ย. 59)
MGR Online 29 พฤศจิกายน 2559
“เครือข่ายสงขลา-สตูล” ฮือจี้ผู้ว่าฯ สงขลา หยุด “เวที ค.1 ท่าเรือน้ำลึก-ประมูลโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา”
ศูนย์ข่าวหาดใหญ่ - “เครือข่ายภาคประชาชนสงขลา-สตูล” รวมตัวเดินรณรงค์ต้านเมกะโปรเจกต์ที่กำลังจ่อผุดเป็นดอกเห็ด เพื่อเปลี่ยนภาคใต้เป็นฐานอุตสาหกรรมมลพิษ พร้อมบุกยื่น 3 ข้อ จี้ให้ผู้ว่าฯ สงขลา หยุด “เวที ค.1 ท่าเรือน้ำลึก” และ “เปิดประมูลสร้างโรงไฟฟ้าและท่าเรือถ่านหินเทพา” ที่จะจัดขึ้น 15 และ 19 ธ.ค.นี้
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้ (29 พ.ย.) ประชาชนจากหลายเครือข่ายในพื้นที่ จ.สงขลา และ จ.สตูล เช่น เครือข่ายประชาชนปกป้องทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมสงขลา-สตูล เครือข่ายสงขลาปลอดอุตสาหกรรมมลพิษ เครือข่ายคนสงขลา-ปัตตานีไม่เอาโรงไฟฟ้าถ่านหิน เป็นต้น ได้เดินทางไปรวมตัวกันนับ 100 คน บริเวณหน้าหาดโรงแรมบีพี สมิหลา บีช รีสอร์ต อ.เมือง จ.สงขลา จากนั้นได้เคลื่อนขบวนไปยังศาลากลางจังหวัด เพื่อยื่นหนังสือให้แก่ นายทรงพล สวาสดิ์ธรรม ผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา โดยมีรองผู้ว่าฯ เป็นตัวแทนรับมอบหนังสือ ซึ่งได้ยื่นข้อเรียกร้อง 3 ข้อ ประกอบด้วย
1.ขอให้ผู้ว่าฯ สั่งยกเลิกการจัดเวทีการรับฟังความคิดเห็น (ค.1) โครงการก่อสร้างท่าเรือน้ำลึกสงขลา 2 ที่จะจัดขึ้นในวันที่ 15 ธ.ค.2559 และหากทางรัฐบาลยังยืนยันจะให้จัดเวทีอย่างมีส่วนร่วม ก็ขอให้มีการตั้งคณะกรรมการร่วมในการกำหนดเงื่อนไข และวิธีการที่ต้องเห็นชอบจากทุกฝ่ายก่อน จึงจะดำเนินการจัดกระบวนการรับฟังความคิดเห็นที่เป็นธรรมต่อไป
2.ขอให้ผู้ว่าฯ ทำหนังสือสอบถามการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ว่าใช้อำนาจใดในการเปิดซองประกวดราคาก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน และท่าเรือขนถ่ายถ่านหินที่ อ.เทพา จ.สงขลา หาก กฟผ.ไม่ตอบก็ถือเป็นเรื่องชัดเจนว่าใช้อำนาจโดยไม่มีกฎหมายรองรับ ก็ขอให้ผู้ว่าฯ ในฐานะดูแลความสงบเรียบร้อยในพื้นที่ดำเนินการฟ้องศาลปกครอง เพื่อยุติการกระทำอันมิชอบด้วยกฎหมายก่อนวันที่ 15 ธ.ค.2559
3.การพัฒนาจากส่วนกลางที่จะนำมาสู่การเปลี่ยนสงขลา และสตูลไปสู่การเป็นจังหวัดอุตสาหกรรมมลพิษ ควรที่คนสงขลา และคนสตูลจะมีส่วนร่วมการกำหนดอนาคตตนเองด้วย จึงขอให้ผู้ว่าฯ จัดระบบกระบวนการเปิดข้อมูลข่าวสารของทุกโครงการ การรับฟังความคิดเห็นอย่างกว้างขวาง การสื่อสารประชาสัมพันธ์เพื่อการตื่นรู้ และการจัดตั้งกลไกการตัดสินอนาคตของจังหวัดอย่างมีส่วนร่วมของภาคประชาชนในการร่วมกำหนดอนาคตตนเองด้วย
ทั้งนี้ ในท้ายของหนังสือยื่นข้อเรียกร้องดังกล่าว ได้ระบุไว้ชัดเจนว่า ขอให้แจ้งผลการชี้แจงเป็นลายลักษณ์อักษรตามที่อยู่ของเครือข่ายที่ระบุไว้ทราบภายใน 10 วัน
นายรุ่งเรือง ระหมันยะ ผู้ประสานงานเครือข่ายสงขลาปลอดอุตสาหกรรมมลพิษ กล่าวว่า การเดินทางมารวมตัวกันของประชาชนทั้ง 2 จังหวัด คือ สงขลา และสตูลในวันนี้ เป็นผลจากการที่ทางราชการกำหนดให้วันที่ 15 ธ.ค.2559 นี้เป็นวันที่จะมีการจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นประชาชนครั้งที่ 1 หรือ ค.1 ตามขั้นตอนการศึกษาจัดทำรายงานผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (EHIA) โครงการก่อสร้างท่าเรือน้ำลึกสงขลา แห่งที่ 2 ที่บ้านสวนกง ต.นาทับ อ.จะนะ จ.สงขลา โดยมีแผนจะจัดขึ้นที่โรงแรมบีพี สมิหลา บีช รีสอร์ต อ.เมือง จ.สงขลา
“เรามารวมตัวกันของคน 2 จังหวัดก็เพื่อยื่นข้อเรียกร้องต่อผู้ว่าฯ สงขลาในวันนี้ เนื่องจากภาคประชาชนเห็นความสำคัญของการเข้าไปมีส่วนร่วมในการกำหนดอนาคต รวมถึงทิศทางการพัฒนาบ้านเมืองด้วยตนเอง โดยเฉพาะต่อโครงการพัฒนาขนาดใหญ่ต่างๆ เพราะที่ผ่านมา มีแต่เฉพาะกลุ่มผู้กุมอำนาจรัฐ และกลุ่มผลประโยชน์เท่านั้นที่ได้ร่วมกันกำหนดทิศทางการพัฒนาบ้านเมืองแบบมองไม่เห็นหัวประชาชน” นายรุ่งเรือง กล่าวและว่า
ที่ผ่านมา สงขลา และสตูลเป็นจังหวัดที่มีการพัฒนาทางเศรษฐกิจที่เป็นไปแบบสมดุล กล่าวคือ เน้นการพัฒนาทั้งภาคเกษตร และการประมงที่กว้างใหญ่ มีภาคบริการภาคท่องเที่ยวและธุรกิจการค้าที่เป็นศูนย์กลางของภาคใต้ตอนล่าง และมีภาคอุตสาหกรรมการเกษตรที่ความสอดคล้องต่อฐานทรัพยากรที่มีอยู่ จึงเป็นเศรษฐกิจ 3 ขาที่มีความสมดุลมายาวนาน ผู้คนมีสุข มีสิ่งแวดล้อมที่ดี ดำรงในวิถีวัฒนธรรมที่ใกล้ชิดกับศาสนธรรม
แต่บัดนี้ทิศทางการพัฒนาของทั้ง 2 จังหวัดกำลังจะเปลี่ยนไป เพราะถูกกำหนดให้มุ่งเน้นการเป็นเมืองอุตสาหกรรมมาแทนที่ โดยมีแผนจะใช้แลนด์บริดจ์สงขลา-สตูล หรือสะพานเศรษฐกิจเชื่อม 2 ฝั่งทะเลอ่าวไทยและอันดามันเป็นศูนย์กลางการพัฒนา ซึ่งจะมีการสร้างท่าเรือน้ำลึกสงขลา 2 ที่บ้านสวนกง อ.จะนะ จ.สงขลา และท่าเรือน้ำลึกปากบารา อ.ละงู จ.สตูล แล้วเชื่อต่อกันด้วยเส้นทางรถไฟสายอุตสาหกรรมแบบรางคู่ ถนนมอเตอร์เวย์ ระบบท่อน้ำมันและท่อก๊าซ พร้อมกันนั้น ก็จะให้มีโรงไฟฟ้าถ่านหิน โรงไฟฟ้าชีวมวล และโรงไฟฟ้าขยะเกิดขึ้นล้อมรอบมากมาย ก่อนที่จะตามด้วยเขื่อนกักเก็บน้ำ และสาธารณูปโภคอื่นๆ อีกมากมาย
ทั้งนี้ ก็เพื่อให้เกิดโรงงานอุตสาหกรรมต่างๆ ตามมามากมาย โดยเฉพาะโรงถลุงเหล็ก โรงกลั่นน้ำมัน โรงแยกก๊าซ อันจะตามมาด้วยนิคมอุตสาหกรรมปิโตรเคมีขนาดใหญ่ เพื่อเป็นวัตถุดิบให้เกิดนิคมอุตสาหกรรมผลิตสินค้าอุปโภคบริโภคต่างๆ ตามมาอย่างชนิดเต็มพื้นที่ รวมถึงการทำเหมืองแร่ต่างๆ การพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษที่ชายแดนไทย-มาเลเซีย ใน อ.สะเดา จ.สงขลา ซึ่งตั้งอยู่ต้นน้ำคลองอู่ตะเภา สายเลือดของเมืองหาดใหญ่-สงขลา ซึ่งทั้งหมดทั้งปวงจะทำลายความเป็นสมดุลของการพัฒนาที่ผ่านๆ มาให้ล่มสลายลงไป อันเป็นแนวทางที่คนสงขลา และตนสตูลไม่ต้องการ และมีความเป็นห่วงเป็นใยในเรื่องนี้
นายอิดเรส หะยีเด ผู้ประสานงานเครือข่ายคนสงขลา-ปัตตานีไม่เอาโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา กล่าวว่า เครือข่ายต้องการให้ กฟผ.ชี้แจงต่อการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย กรณี กฟผ.จะจัดให้มีการยื่นซองประกวดราคาการก่อสร้างท่าเทียบเรือขนถ่ายถ่านหินสำหรับโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา วันที่ 15 ธ.ค. และซองประกวดราคาก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา ในวันที่ 19 ธ.ค.นี้ ซึ่งน่าจะเป็นการประมูลที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย และหากจะอาศัยคำสั่ง คสช.ที่ 9/2559 ก็มีนักวิชาการด้านกฎหมายจาก ม.อ.หาดใหญ่ ยืนยันชัดแล้วว่าไม่สามารถทำได้
ด้าน นายสมบูรณ์ คำแหง คณะทำงานเครือข่ายประชาชนปกป้องทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมสงขลา-สตูล เพิ่มเติมว่า ในวันนี้เช่นกันเครือข่ายได้ส่งหนังสือถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้า คสช. ผ่านผู้ว่าฯ สงขลาด้วย เพื่อขอให้ทบทวนกระบวนการศึกษา EHIA ของท่าเรือน้ำลึกสงขลา 2 โดยขอให้ทมีการชะลอการจัดเวที ค.1 ในวันที่ 15 ธ.ค.นี้ไว้ก่อน เพราะหากจัดขึ้นมีแต่จะสร้างปัญหาต่อภาคประชาชนไม่สิ้นสุด