ศาล "ยกฟ้อง" นักกิจกรรมด้านสิ่งแวดล้อม ปมโพสต์วิจารณ์เหมืองอัครา (29 พ.ย. 59)

ประชาไท 29 พฤศจิกายน 2559
ศาลยกฟ้องนักกิจกรรมด้านสิ่งแวดล้อม ปมโพสต์วิจารณ์เหมืองอัครา

ศาลอาญากรุงเทพใต้ยกฟ้องนักกิจกรรมด้านสิ่งแวดล้อม ในคดีที่เหมืองอัครา กล่าวหาว่า โพสต์ข้อความเท็จเกี่ยวกับผลการตรวจเลือด และปัสสาวะของประชาชนรอบเหมืองทอง และการทำเหมืองทำให้เกิดมลพิษ ศาลชี้จำเลยติชมด้วยความเป็นธรรมตามวิสัยของประชาชน

29 พ.ย. 2559  เวลา 9.30 น. เฟซบุ๊กแฟนเพจ iLaw รายงานว่า ที่ ห้องพิจารณาคดีที่ 704 ศาลอาญากรุงเทพใต้อ่านคำสั่งในคดีหมายเลขดำที่ 2076/2559 ในกรณีบริษัท อัครา รีซอร์สเซส จำกัด ได้ฟ้อง สมลักษณ์ จำเลยที่หนึ่งและ สมิทธ์ จำเลยที่สองว่า ทั้งสองได้นำเข้าข้อมูลอันเป็นเท็จลงในเฟซบุ๊กส่วนตัว ทำให้ผู้อ่านเข้าใจว่า การประกอบกิจการเหมืองแร่ของโจทก์ก่อให้เกิดผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมและชีวิตของชาวบ้านที่อาศัยโดยรอบ สร้างความรู้สึกดูหมิ่นเกลียดชังต่อโจทก์ จึงขอให้ศาลพิจารณาความผิดตามมาตรา 14(1) และ 14(5) ของ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ และมาตรา 326 และ 328 ของประมวลกฎหมายอาญา

วันนี้ศาลมีคำสั่งให้ยกฟ้อง โดยศาลพิเคราะห์ว่า กรณีที่บริษัท อัคราฯ อ้างว่า จำเลยทั้งสองเผยแพร่เอกสารที่จัดทำโดยคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง ซึ่งเนื้อหาในเอกสารเป็นความเท็จ เพราะความจริง คือ คณะกรรมการฯ ระบุว่า มีการตรวจสอบมลพิษและมีข้อเสนอแนะ ส่วนการปนเปื้อนของโลหะหนักยังไม่มีข้อสรุปว่าเกิดจากสาเหตุใด

ขณะที่จำเลยทั้งสองก็อยู่ในคณะกรรมการฯ ที่แต่งตั้งขึ้นมาเพื่อแก้ไขปัญหาสุขภาพของประชาชน โดยมีการทำงานสามส่วน คือ คณะทำงานการดูแลสุขภาพประชาชน, คณะทำงานระบบเฝ้าระวังสุขภาพประชาชน และคณะทำงานการแปรผลข้อมูลสุขภาพที่มีสมิทธิ์ จำเลยที่สองเป็นกรรมการด้วย

ในวาระการประชุมความคืบหน้า สมลักษณ์แจ้งผลการตรวจเลือดและปัสสาวะจำนวน 1,000 ตัวอย่าง ต่อมาคณะทำงานการแปรผลข้อมูลที่มีสมิทธิ์เป็นกรรมการได้แจ้งข้อมูลว่า ในตัวอย่างเลือดและปัสสาวะมีผลของโลหะหนัก จำพวกแมงกานีส สารหนูและไซยาไนด์เกินค่าอ้างอิง สมลักษณ์ได้เสนอแนะให้สมิทธิ์ส่งข้อมูลถึงสาธารณสุขจังหวัดในวันที่ 20 เม.ย. 2559 และจัดประชุมการแปรผลในวันที่ 27 เม.ย. 2559

ต่อมาวันที่ 29 เม.ย. 2559 สมลักษณ์ได้โพสต์ข้อความและเอกสารที่เกี่ยวข้องลงในเฟซบุ๊กส่วนตัว โดยสมิทธิ์แชร์ข้อความดังกล่าวไปในวันเดียวกัน ซึ่งศาลพิเคราะห์แล้วเห็นว่า ข้อมูลที่สมลักษณ์นำเข้าระบบคอมพิวเตอร์เป็นข้อมูลแปรผลที่สอดคล้องกับถ้อยคำในที่ประชุมคณะกรรมการฯ จึงถือว่า สมลักษณ์ และสมิทธิ์ ไม่ได้มีเจตนาทำให้โจทก์ได้รับการดูหมิ่นหรือเกลียดชัง เป็นการติชมด้วยความเป็นธรรมตามวิสัยของประชาชนพึงกระทำ ดังนั้นการกระทำของจำเลยทั้งสองจึงไม่มีความผิดฐานหมิ่นประมาท พิพากษายกฟ้อง

สำหรับคดีในวันนี้เป็นหนึ่งในสามคดีที่บริษัท อัคราฯ ฟ้องร้องต่อสมลักษณ์ และนักกิจกรรมที่เคลื่อนไหวเรื่องการทำเหมืองแร่ ในจังหวัดพิจิตร

คดีที่หนึ่ง เกิดจากการโพสต์เฟซบุ๊กว่า บริษัท อัคราฯ ไม่จ่ายภาษี ซึ่งเมื่อวันที่ 4 พ.ย. 2559 ศาลอาญากรุงเทพใต้มีคำสั่งไม่รับฟ้อง (อ่านต่อที่นี่)

คดีที่สอง(คดีที่ศาลมีคำสั่งในวันนี้) เกิดจากการโพสต์เฟซบุ๊กว่า การทำเหมืองแร่ทองคำของบริษัท อัครา ก่อให้เกิดมลพิษ (อ่านต่อที่นี่)

คดีที่สาม เกิดจากการโพสต์เฟซบุ๊กว่า การทำเหมืองแร่ของบริษัทอัครา เปราะบางและอันตรายมาก ซึ่งบริษัท อัคราฯ ยื่นฟ้องต่อศาลจังหวัดพิจิตร คดีนี้ศาลมีคำสั่งรับฟ้องและนัดสืบพยานอีกครั้งในปีหน้า