ก.อุตฯคุมเข้มตั้งรง.ริมแม่น้ำ 6 สาย แก้กฎกระทรวงคุมระยะห่าง 2 กม.ห้ามสารอันตราย (16 พ.ค. 56)
ประชาชาติธุรกิจออนไลน์ 16 พฤษภาคม 2556
ก.อุตฯคุมเข้มตั้งรง.ริมแม่น้ำ 6 สาย แก้กฎกระทรวงคุมระยะห่าง 2 กม.ห้ามสารอันตราย
ก.อุตสาหกรรมเดินหน้าเข้มงวดเตรียมปรับเงื่อนไขตั้งโรงงานริมแม่น้ำใหม่ใน 6 สายหลัก เจ้าพระยา, ท่าจีน, แม่กลอง, ลำตะคอง, ทะเลสาบสงขลา และบางปะกง วัดตั้งแต่ค่าความสกปรกน้ำยันระยะห่างโรงงานจากแม่น้ำต้องห่าง 2 กม.ใครทำไม่ได้ห้ามตั้งโรงงาน และอาจระบุประเภทโรงงานที่ห้ามตั้งชัดเจน คาดอีก 1 ปี เตรียมประกาศใช้
แหล่งข่าวจากกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยกับ "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า เพื่อดำเนินโครงการอุตสาหกรรมรวมใจภักดิ์ รักษ์แม่น้ำ ที่เชิญชวนให้ผู้ประกอบการและประชาชนที่อยู่ในพื้นที่ลุ่มน้ำสายหลัก 6 สายได้ร่วมกันฟื้นฟูและอนุรักษ์ คือแม่น้ำเจ้าพระยา แม่น้ำท่าจีน แม่น้ำแม่กลอง แม่น้ำลำตะคอง ทะเลสาบสงขลา และแม่น้ำบางปะกงนั้น ล่าสุดทางกระทรวงอุตสาหกรรมได้เริ่มสำรวจเริ่มต้นที่ริมแม่น้ำเจ้าพระยาแล้ว ตั้งแต่ช่วงจังหวัดนครสวรรค์ ลงมาจนถึงปากแม่น้ำของจังหวัดสมุทรปราการ มากำหนดหลักเกณฑ์เบื้องต้นในการบังคับใช้ เพื่อไม่ให้โรงงานที่จะก่อสร้างใหม่หรือขยายโรงงานตั้งในพื้นที่ใกล้แม่น้ำในระยะที่กรมโรงงานอุตสาหกรรมกำหนดไว้
สำหรับเกณฑ์เบื้องต้นที่จะกำหนดห้ามตั้งโรงงานใหม่หรือขยายใกล้กับพื้นที่ลุ่มน้ำสายหลักนั้น คือ 1) จะวัดจากค่าความสกปรกของบ่อน้ำเสียก่อนที่จะปล่อยออกจากโรงงานลงสู่แหล่งน้ำสาธารณะ หากมีค่าความสกปรกเกินร้อยละ 20 จะถูกสั่งห้ามตั้งโรงงานใหม่หรือขยายโรงงาน 2) การตั้งโรงงานใหม่ต้องมีระยะห่างจากแม่น้ำเจ้าพระยาทั้ง 2 ด้านซ้าย-ขวา ด้านละ 2 กิโลเมตร แต่ขณะนี้ยังอยู่ในระหว่างการพิจารณาว่า หากเกิดกรณีตลิ่งริมน้ำพังเสียหายจะต้องวัดจากจุดใดแทน เพราะอาจจะทำให้ระยะห่างอาจจะไม่ถึง 2 กิโลเมตรตามที่กำหนด ซึ่งในประเด็นนี้จะต้องมีการประชุมหารืออีกครั้ง เพื่อสรุปกรอบหลักเกณฑ์ให้ชัดเจน
"จากที่ลงสำรวจพื้นที่ล่าสุด ปัจจุบันมีโรงงานริมแม่น้ำเจ้าพระยาที่มีน้ำทิ้งเกิน 50 ลูกบาศก์เมตร ประมาณ 1,700 โรง โดยในจำนวนนี้มีโรงงานที่ปล่อยน้ำทิ้งเกิน 500 ลูกบาศก์เมตร จำนวน 88 โรง ทั้งนี้ มีโรงงานขนาดกลางถึงขนาดใหญ่ที่อยู่ระหว่างขอใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงาน (รง.4) อีกประมาณ 100 โรง
ซึ่งหลักเกณฑ์ดังกล่าวเมื่อมีการประกาศใช้แล้วจะไม่มีผลย้อนหลังกับโรงงานที่มีการตั้งไปแล้วก่อนหน้าที่มีการประกาศ แต่สำหรับโรงงานใหม่นั้นจะต้องปฏิบัติให้ได้ตามหลักเกณฑ์นี้ ซึ่ง ก.อุตสาหกรรมต้องจริงจังมากขึ้น เพื่อให้โรงงานสามารถอยู่ร่วมกับสิ่งแวดล้อมและชุมชนอย่างไม่มีปัญหาเหมือนที่ผ่านมา"
แหล่งข่าวกล่าวเพิ่มเติมว่า เกณฑ์ดังกล่าวอาจจะมีการกำหนดด้วยการระบุถึงประเภทโรงงานอุตสาหกรรมที่ห้ามมีการตั้งหรือขยายในบริเวณดังกล่าว เช่น โรงงานที่มีวัตถุอันตราย หรือโรงงานที่ก่อให้เกิดกากของเสียในปริมาณมาก เพื่อป้องกันโรงงานที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยงที่อาจจะก่อให้เกิดมลพิษต่อลุ่มน้ำได้ อย่างไรก็ตาม อาจมีการระบุถึงโรงงานอุตสาหกรรมบางประเภทที่ได้รับการยกเว้นให้ตั้งในบริเวณลุ่มน้ำได้ เช่น อุตสาหกรรมอู่ต่อเรือ หรืออุตสาหกรรมที่ต้องอาศัยการขนส่งริมน้ำ เป็นต้น
ทั้งนี้ ในช่วงปลายเดือนพฤษภาคมนี้ คณะทำงานจะมีการประชุมหารือเพื่อวางหลักเกณฑ์สำหรับการตั้งโรงงานในพื้นที่ใกล้แม่น้ำอีกครั้ง เมื่อได้ข้อสรุปจะมีการนำหลักเกณฑ์ดังกล่าวหารือร่วมกับคณะพหุภาคี ที่ประกอบด้วยกระทรวงอุตสาหกรรม สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กรมควบคุมมลพิษ กรมทรัพยากรน้ำ และชุมชนที่เกี่ยวข้อง ซึ่งจะมีการประกาศใช้เป็นประกาศกระทรวง หรือเสนอต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อประกาศเป็นกฎกระทรวงต่อไป ซึ่งคาดว่าจะแล้วเสร็จในระยะเวลาไม่เกิน 1 ปี
สำหรับโครงการอุตสาหกรรมรวมใจภักดิ์ รักษ์แม่น้ำ กระทรวงอุตสาหกรรมมีเป้าหมายในการฟื้นฟูและอนุรักษ์พื้นที่ลุ่มน้ำอย่างเร่งด่วน และรณรงค์เพื่อปลุกจิตสำนึกด้วยการสร้างความร่วมมือร่วมใจระหว่างภาครัฐ เอกชน และเครือข่ายชุมชน รวมถึงผู้ประกอบกิจการโรงงานในกำกับดูแลของกระทรวงอุตสาหกรรม เพื่อให้ความสำคัญและหันมาดูแล รักษา และฟื้นฟูแหล่งน้ำ อันจะก่อให้เกิดการฟื้นแบบบูรณาการ โดยมีระยะเวลาในการดำเนินโครงการ 2 ปี (2555-2557)