"กป.อพช." ยกทัพหนุนอหิงสาหน้าทำเนียบ จี้ "ลุงตู่" อย่ากลืนน้ำลายตัวเอง และลืมคำประกาศกลางเวทีลดโลกร้อน (28 พ.ย. 59)

MGR Online 28 พฤศจิกายน 2559
“กป.อพช.” ยกทัพหนุนอหิงสาหน้าทำเนียบ จี้ “ลุงตู่” อย่ากลืนน้ำลายตัวเอง และลืมคำประกาศกลางเวทีลดโลกร้อน

       ศูนย์ข่าวหาดใหญ่ - “กป.อพช.” ยกขบวนหนุนปฏิบัติการอหิงสาต้าน “โรงไฟฟ้าถ่านหิน” หน้าทำเนียบของเครือข่ายปกป้องอันดามัน จี้ “ลุงตู่” ต้องไม่กลืนน้ำลายที่ให้ไว้แก่ประชาชน และคำประกาศต่อโลกในเวทีรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
        
       ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อเวลาประมาณ 18.00 น. วันนี้ (28 พ.ย.) นายบรรจง นะแส นายกสมาคมรักษ์ทะเลไทย สำนักงานที่ตั้งอยู่ที่หมู่บ้านเคหสถานครูไทย ต.พะวง อ.เมือง จ.สงขลา ในฐานะประธานคณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน (กป.อพช.) ได้นำคณะเข้าเยี่ยม และให้กำลังใจตัวแทนเครือข่ายปกป้องอันดามันจากถ่านหิน นำโดย นายประสิทธิ์ชัย หนูนวล นายอัครเดช ฉากจินดา นายสหพร ทิพย์จำนง และ ม.ล.รุ่งคุณ กิติยากร ซึ่งได้ร่วมกันนั่งปฏิบัติภาวนาต่อต้านการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน จ.กระบี่ ต่อเนื่องมาแล้วเป็นวันที่ 11 บริเวณหน้าทำเนียบรัฐบาล กรุงเทพฯ
        
       ระหว่างการพูดคุยให้กำลังใจ นายบรรจง ยังได้อ่านแถลงการณ์สนับสนุนปฏิบัติการอหิงสาดังกล่าวด้วย โดยมีเนื้อหาจั่วหัวไว้ และรายละเอียดดังนี้ แถลงการณ์คณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน (กป.อพช.) สนับสนุนเครือข่ายปกป้องอันดามันจากถ่านหิน

       จากการเรียกร้องของเครือข่ายปกป้องอันดามันจากถ่านหิน เมื่อสิงหาคม ปี ๒๕๕๘ เพราะเห็นว่าโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่ จะส่งผลกระทบในด้านต่างๆ ไม่ว่าในเรื่องผลกระทบต่อแหล่งทำกิน แหล่งท่องเที่ยว มลพิษอันตราย ตลอดจนถึงความไม่โปร่งใสในการดำเนินโครงการดังกล่าว ส่งผลให้รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ยอมรับเงื่อนไขของชาวกระบี่ ๓ ข้อ ในครั้งนั้น ดังนี้
        
       ๑.ยุติการพิจารณารายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ 
       ๒ ยุติการประมูลโรงไฟฟ้าและท่าเรือ 
       ๓.ให้ชาวกระบี่พิสูจน์ ๓ ปี ด้วยการทำพลังงานหมุนเวียน ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์

        
       ภายใต้การสนับสนุนสายส่งของรัฐบาลในคราวนั้น เขื่อนไขข้อที่ ๑ และ ๒ ได้รับการปฏิบัติทันที ส่วนเงื่อนไขข้อที่ ๓ รัฐบาลขอเวลาในการศึกษารายละเอียด โดยตั้งคณะกรรมการไตรภาคีขึ้นมาหนึ่งชุด เพื่อทำการพิจารณาเงื่อนไขข้อที่ ๓
        
       ซึ่งอนุกรรมการพลังงานหมุนเวียน ในคณะกรรมการไตรภาคี ได้มีข้อสรุปร่วมกันว่า กระบี่มีศักยภาพของพลังงานหมุนเวียนประมาณ ๑,๗๐๐ เมกะวัตต์ มากกว่าการใช้ทั้งจังหวัด ๑๐ เท่าตัว แต่คณะกรรมการไตรภาคี ไม่ได้นำข้อสรุปของอนุกรรมการพลังงานหมุนเวียนมาจัดทำแผน ให้จังหวัดกระบี่ ได้พิสูจน์การทำพลังงานหมุนเวียน ๓ ปี ตามข้อตกลงกับนายกรัฐมนตรีแต่อย่างใด
        

       และตามที่ปรากฏคำสัมภาษณ์ของนายกรัฐมนตรี ให้ชะลอโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่ เมื่อวันที่ ๒๒ พฤศจิกายน ๒๕๕๙ ในสื่อมวลชนนั้น กป.อพช.เห็นว่า การสั่งชะลอดังกล่าวไม่ได้นำไปสู่การปฏิบัติเพื่อให้คำสั่งนั้นมีผลเป็นจริงได้ และรัฐบาลควรจะรับฟังข้อเสนอของเครือข่ายปกป้องอันดามันจากถ่านหิน ซึ่งได้ขอให้นายกรัฐมนตรีมีคำสั่งในมาตรการการปฏิบัติ ๔ ประการคือ
        
       ๑.ให้มีมาตรการอย่างชัดเจนในการส่งเสริมการทำพลังงานหมุนเวียนของจังหวัดกระบี่ ตามคำสัญญาของนายกรัฐมนตรี เมื่อเดือนสิงหาคม ๒๕๕๘ ที่มีต่อเครือข่าย ใจความว่า
        
       “หากศึกษาพบว่า กระบี่มีศักยภาพเพียงพอต่อการใช้ จะส่งเสริมจังหวัดกระบี่ให้ดำเนินการทำพลังงานหมุนเวียนได้”
        
       และวันนี้การศึกษาของอนุกรรมการได้ปรากฏผลการศึกษาอย่างชัดเจนแล้วว่า  มีศักยภาพในการผลิตได้ ๑,๗๐๐ เมกะวัตต์ มากกว่าการใช้ ๑๐ เท่าตัว จึงต้องมีมาตรการอย่างชัดเจนในทางปฏิบัติ
        
       ๒.ขอให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ถอนรายงานผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (EHIA) ออกจากสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) และให้รายงานฉบับนี้หมดสภาพของความเป็นรายงาน โดยไม่สามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้อีก
        
       ๓.ขอให้ กฟผ.ประกาศยกเลิกการประมูลทั้งโรงไฟฟ้า และท่าเทียบเรือขนถ่านหิน โดยทันที
        
       ๔.ขอให้ กฟผ.ถอนกำลังออกจากพื้นที่ รวมถึงทีมงานที่ทำงานด้านมวลชน และหยุดการโฆษณาเพื่อให้เกิดโรงไฟฟ้าถ่านหินในจังหวัดกระบี่ทั้งหมดโดยทันที
        

       หากนายกรัฐมนตรีประกาศยุติโรงไฟฟ้าถ่านหินจังหวัดกระบี่ และให้ลงมือทำพลังงานหมุนเวียน จึงจะเป็นไปตามคำกล่าวแถลงต่อที่ประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติ ว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (United Nations Framework Convention on Climate Change - UNFCCC) สมัยที่ ๒๑ (COP 21) และเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals : SDGs) ซึ่งเป็นวาระการพัฒนาภายหลังปี ค.ศ.๒๐๑๕ เป็นทิศทางที่สังคมโลกกำลังพัฒนาไปในทิศทางดังกล่าว
        
       กป.อพช.เห็นว่า การออกมารณรงค์ของกลุ่มเครือข่ายปกป้องอันดามันจากถ่านหิน เป็นไปด้วยความสุภาพ สงบและสันติ ดำเนินมาเป็นเวลา 11 วันแล้ว รัฐบาลไม่ควรจะนิ่งเฉย ดูแคลนการลุกขึ้นมาใช้สิทธิในการเรียกร้องที่มีเหตุมีผลของพวกเขา ควรได้รับการตอบสนองที่เป็นเหตุ เป็นผล หรือตอบคำถามที่พวกเขามี เพราะปัญหาการนำถ่านหินมาเป็นพลังงานในการผลิตไฟฟ้า กำลังจะเกิดขึ้นอีกในหลายๆ พื้นที่
        
       รัฐบาลควรมีความชัดเจนในนโยบายดังกล่าวว่า ทิศทางด้านการพัฒนาพลังงานในประเทศต้องเป็นพลังงานที่สะอาด จึงจะสอดคล้องต่อสิ่งที่นายกรัฐมนตรีได้ไปทำข้อตกลงไว้ในเวทีสากลต่างๆ ต่อการปฏิบัติจริงภายในประเทศ เพราะหากเป็นเช่นนั้น ประเทศไทยก็จะหมดเกียรติภูมิและศักดิ์ศรีในเวทีสากลในอีกไม่ช้า ซึ่งจะส่งผลกระทบต่างๆ ตามมาอีกมาก
        
       จึงเรียนมาเพื่อขอให้ท่านนายกรัฐมนตรี ได้หยิบยกข้อเสนอของเครือข่ายปกป้องอันดามันจากถ่านหินมาพิจารณาอย่างเร่งด่วน และในฐานะองค์กรพัฒนาเอกชนที่ตระหนักต่อผลกระทบต่างๆ ที่เกิดขึ้นจากนโยบายของรัฐต่อผู้ด้อยโอกาสมาตลอด ขอประกาศสนับสนุนกิจกรรมรณรงค์ของเครือข่ายปกป้องอันดามันจากถ่านหินในครั้งนี้ ประกาศ ณ วันที่ 28 ธันวาคม 2559 ณ หน้าทำเนียบรัฐบาล กรงเทพฯ