เอกชนคุย อปท. 'ปทุม-อยุธยา-สมุทรปราการ' สร้างโรงไฟฟ้าขยะ (28 พ.ย. 59)
TCIJ 28 พฤศจิกายน 2559
เอกชนคุย อปท. 'ปทุม-อยุธยา-สมุทรปราการ' สร้างโรงไฟฟ้าขยะ
ที่มาภาพประกอบ: wsj.com
บริษัท ซุปเปอร์บล๊อกจำกัด (มหาชน) ระบุได้พูดคุยกับองค์การบริหารส่วนตำบลและเตรียมพื้นที่รองรับใน 3 จังหวัด 'ปทุม-อยุธยา-สมุทรปราการ' สร้างโรงไฟฟ้าขยะรวม 80 เมกะวัตต์ ตั้งเป้าหมายขยายกำลังผลิตไฟฟ้าทั้งในและต่างประเทศรวม 2 พันเมกะวัตต์ปี 2560
เมื่อวันที่ 28 พ.ย. 2559 ที่ผ่านมา สำนักข่าวไทย รายงานว่านายจอมทรัพย์ โลจายะ ประธานคณะกรรมการ บริษัท ซุปเปอร์บล๊อกจำกัด (มหาชน) กล่าวว่า บริษัท เตรียมพร้อมเข้าร่วมประมูลขอขายไฟฟ้าประเภทขยะชุมชน ที่คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน(กกพ.) เตรียมเปิดรับซื้อปลายปีนี้ ประมาณ 120 เมกะวัตต์ โดยได้พูดคุยกับองค์การบริหารส่วนตำบลและเตรียมพื้นที่รองรับใน 3 จังหวัด คือ จ.ปทุมธานี กำลังผลิตไฟฟ้า 30 เมกะวัตต์, จ.พระนครศรีอยุธยา กำลังผลิตไฟฟ้า 30 เมกะวัตต์ และจ.สมุทรปราการ สมุทรปราการกำลังผลิตไฟฟ้า 20 เมกะวัตต์ ซึ่งบริษัทมีความพร้อมในการผลิตไฟฟ้า โดยปัจจุบัน บริษัทฯ ได้รับใบอนุญาตซื้อขายไฟฟ้าโครงการผลิตไฟฟ้าจากขยะชุมชน ที่จ.เพชรบุรี อยู่แล้วจำนวน 9.9 เมกะวัตต์ และโครงการผลิตไฟฟ้าประเภทขยะอุตสาหกรรม ที่ จ.สระแก้ว กำลังผลิต 9.9 เมกะวัตต์
นอกจากนี้ บริษัทฯยังเตรียมพร้อมลงทุนโครงการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานลมในไทย จำนวน 9 โครงการ กำลังผลิต 695 เมกะวัตต์ กระจายอยู่หลายจังหวัดทั้งภาคใต้ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และพร้อมยื่นเสนอขอขายไฟฟ้าเข้าระบบ(PPA) หากภาครัฐเปิดให้ยื่นคาดว่า ภาครัฐจะเปิดรับคำขอเสนอโครงการช่วงไตรมาส 2 ปี 2560
นายจอมทรัพย์ กล่าวว่า ปัจจุบัน บริษัท มีส่วนในร่วมผลิตไฟฟ้ารวม 780 เมกะวัตต์ตั้งเป้าหมายยอดการจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบเชิงพาณิชย์(COD) ให้ได้ 1,000 เมกะวัตต์ภายในปีนี้ และปี2560 เพิ่มอีก 1,000 เมกะวัตต์ โดยส่วนใหญ่เป็นโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ และการขยายงาน จะมุ่งเน้นไปต่างประเทศ ซึ่งขณะนี้เจรจาซื้อกิจการโรงไฟฟ้าในจีน และญี่ปุ่น โดยการระดมทุน บริษัทฯเตรียมตั้งกองทุนเพื่อลงทุนในโครงการสร้างพื้นฐาน (อินฟราสตรักเจอร์ ฟันด์) โดยใช้ทรัพย์สินในโครงการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์(โซลาร์) นำร่องขายผ่านกองทุนฯจำนวน 100 เมกะวัตต์แรก คาดว่าจะได้เม็ดเงินประมาณ 1.2-1.8 หมื่นล้านบาท และ ยังมีแผนนำ บริษัท ซุปเปอร์ โซลาร์ เอนเนอร์ยี จำกัด หรือ SSE ซึ่งเป็นบริษัทย่อยด้านพลังงานแสงอาทิตย์ กระจายหุ้น ในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย
“เงินลงทุนในปี 2560 คาดว่าจะใช้เงินลงทุนไม่ต่ำกว่า 5.5 หมื่นล้านบาท กรณีหากเป็นการลงทุนโซลาร์ฯ ทั้ง 1,000 เมกะวัตต์ แต่หากเป็นพลังงานลม และขยะ จะใช้เงินลงทุนเพิ่มขึ้น โดยขยะ อยูที่ 120-130 ล้านบาทต่อเมกะวัตต์ และพลังงานลม อยู่ที่ 100 ล้านบาทต่อเมกะวัตต์