กฟผ. ตั้งรับโรงไฟฟ้ากระบี่เลื่อนยาว ศึกษาคลังก๊าซลอยน้ำ-หาพื้นที่สำรองแห่งใหม่ (28 พ.ย. 59)

ประชาชาติธุรกิจออนไลน์ 28 พฤศจิกายน 2559
กฟผ.ตั้งรับโรงไฟฟ้ากระบี่เลื่อนยาว ศึกษาคลังก๊าซลอยน้ำ-หาพื้นที่สำรองแห่งใหม่

กฟผ.ตั้งรับโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่ชะลอ เตรียมศึกษาคลังก๊าซธรรมชาติเหลวลอยน้ำ (FSRU) เพิ่มเติมอีก 1 แห่ง หรือเปลี่ยนเชื้อเพลิงมาเป็นก๊าซ และหาพื้นที่ตั้งโรงไฟฟ้าก๊าซในจังหวัดอื่น ๆ ทดแทนกระบี่ กฟผ.ระบุแม้กำลังผลิตใหม่จะเลื่อนเข้าระบบ แต่ยังมีสายส่งที่ปรับปรุงเป็น 500 เควี ส่งไฟฟ้าจากภาคกลางลงไปช่วยภาคใต้ได้มั่นคงขึ้น

ตามที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้มีคำสั่งให้ "ชะลอ" โครงการโรงไฟฟ้าถ่านหิน ในพื้นที่จังหวัดกระบี่ออกไปก่อน เนื่องจากยังคงมีการต่อต้านจากชุมชนในพื้นที่ต่อเนื่อง โดยเฉพาะล่าสุดมีการเรียกร้องให้ยกเลิกโรงไฟฟ้าถ่านหินจากกลุ่มเครือข่ายปกป้องอันดามันจากถ่านหินกระบี่ ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรีระบุว่า ต้องฟังเสียงของประชาชนในพื้นที่เป็นหลัก หากว่าไม่ต้องการโรงไฟฟ้าถ่านหินก็ขอให้แจ้งว่าต้องการใช้เชื้อเพลิงประเภทใดในการผลิตไฟฟ้า เนื่องจากความต้องการใช้ไฟฟ้าในพื้นที่ภาคใต้เพิ่มขึ้นทุกปี แต่กลับไม่มีการสร้างโรงไฟฟ้าใหม่เพิ่มเติมในพื้นที่

นายสหรัฐ บุญโพธิภักดี รองผู้ว่าการประจำสำนักผู้ว่าการ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เปิดเผยกับ "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า ภายหลังจากที่มีคำสั่งให้ กฟผ.ชะลอโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่ออกไปก่อนนั้น เมื่อเร็ว ๆ นี้ 

กฟผ.จึงได้มีการหารือภายในเบื้องต้นถึงแผนสำรองในกรณีที่ไม่สามารถพัฒนาโรงไฟฟ้าถ่านหินได้ใน 3 แนวทาง คือ 

1) พัฒนาโครงการคลังก๊าซธรรมชาติเหลวลอยน้ำ หรือ FSRU (Floating Storage and Regasification Unit) ในพื้นที่ใกล้เคียงโรงไฟฟ้ากระบี่เดิม 2) ใช้พื้นที่ของโรงไฟฟ้ากระบี่ แต่เปลี่ยนเชื้อเพลิงมาใช้ก๊าซธรรมชาติ โดยอาจรับซื้อก๊าซจากบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ทดแทน หรือ กฟผ.ดำเนินการจัดหาก๊าซเอง และ 3) ศึกษาพื้นที่ตั้งโรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติแห่งใหม่ในพื้นที่ภาคใต้ที่มีความเหมาะสม ทั้งนี้ไม่ว่าจะปรับเปลี่ยนมาใช้แนวทางใดก็ตาม กฟผ.จะต้องใช้เวลาในการศึกษาความเหมาะสมเพิ่มเติม รวมถึงการจัดทำแบบประเมินผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม (EIA) คาดว่าจะใช้ระยะในการพัฒนารวม 5-6 ปี 

อย่างไรก็ตาม ในพื้นที่ภาคใต้ฝั่งทะเลอันดามันค่อนข้างที่จะพัฒนาโรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติได้ค่อนข้างยาก เนื่องจากไม่มีการวางแนวท่อก๊าซธรรมชาติในพื้นที่มาก่อน จึงต้องดำเนินการศึกษาเพื่อหาแนวทางที่ดีและเหมาะสมที่สุด ในกรณีที่นโยบายของภาครัฐชัดเจนว่าจะให้ปรับเปลี่ยนมาใช้เชื้อเพลิงอื่นแทนถ่านหินนั้น กฟผ.ก็อาจจะต้องว่าจ้างที่ปรึกษาเพื่อดำเนินการศึกษารายละเอียดเชิงลึกอีกครั้ง 

"จริง ๆ กฟผ.ก็ยังต้องการพัฒนาโรงไฟฟ้าถ่านหินให้เป็นไปตามเป้าหมายที่กำหนดไว้ในแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศ หรือ PDP แต่เมื่อประเมินสถานการณ์แล้วจะเห็นว่ายังมีความเสี่ยงที่อาจจะต้องปรับเปลี่ยน ก็เห็นว่าควรมีแผนสำรองเอาไว้ด้วย แม้ว่าถูกชะลอโครงการ แต่ กฟผ.ยังคงเดินหน้าสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องให้กับคนในพื้นที่ต่อเนื่อง เพราะแม้ว่าจะมีประชาชนไม่เห็นด้วย แต่ในขณะเดียวกันก็มีประชาชนที่เห็นด้วยและที่สำคัญเป็นคนในพื้นที่จังหวัดกระบี่จริง ๆ ที่ได้ยื่นหนังสือพร้อมรายชื่อสนับสนุนรวม 15,000 คน มายัง กฟผ.ด้วย"

นายสหรัฐกล่าวเพิ่มเติมว่า ตามแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศ หรือ PDP (Power Development Plan 2558-2579) ฉบับปัจจุบันระบุว่า กฟผ.จะต้องพัฒนาโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่ กำลังผลิต 780 เมกะวัตต์ ให้ผลิตไฟฟ้าเข้าระบบเชิงพาณิชย์ในปี 2562 การชะลอโครงการออกไปทำให้ไม่สามารถผลิตไฟฟ้าเข้าระบบได้ทันกำหนดแน่นอน ในช่วงรอยต่อที่ยังไม่มีกำลังผลิตไฟฟ้าใหม่เข้าระบบนั้น กฟผ.ได้มีแนวทางรองรับเพื่อเสริมความมั่นคง คือ การพัฒนาระบบสายส่งในพื้นที่ภาคใต้ให้เพิ่มเป็นขนาด 500 เควี เพื่อส่งกระแสไฟฟ้าจากพื้นที่ภาคกลางลงไปรองรับความต้องการใช้ในพื้นที่ภาคใต้ได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด

ด้านโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพาจังหวัดสงขลา กำลังผลิต 2,200 เมกะวัตต์นั้น ขณะนี้ กฟผ.ยังอยู่ในระหว่างดำเนินการทำความเข้าใจกับประชาชนในพื้นที่พร้อมทั้งเปิดรับฟังความคิดเห็นรวม 3 ครั้งแล้ว ถือเป็นพื้นที่ที่มีปัญหาน้อยกว่าเมื่อเปรียบเทียบกับโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่ และคาดว่าจะสามารถพัฒนาโครงการนี้ต่อไปได้

รายงานข่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่ มีกำลังผลิตรวม 780 เมกะวัตต์ เป็นส่วนหนึ่งของกำลังผลิตไฟฟ้าใหม่ตามแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศที่ระบุให้พื้นที่ภาคใต้ต้องมีโรงไฟฟ้าถ่านหินเพิ่มขึ้นรวม4แห่ง กำลังผลิตรวม 4,000 เมกะวัตต์ เพื่อรองรับการขยายตัวด้านเศรษฐกิจและการเพิ่มขึ้นของประชากร สำหรับความต้องการใช้ไฟฟ้าในภาคใต้ คาดว่าจะเพิ่มขึ้นเฉลี่ยที่ร้อยละ 5-6 ต่อปี โดยโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่จะใช้ถ่านหินคุณภาพดี ประเภทถ่านหินซับบิทูมินัส หรือบิทูมินัสที่ 7,260 ตัน/วัน นำเข้าจากประเทศอินโดนีเซีย หรือประเทศออสเตรเลีย นอกจากจะต้องก่อสร้างโรงไฟฟ้าแล้วยังต้องก่อสร้างท่าเทียบเรือบริเวณบ้านคลองรั้ว เพื่อรองรับการนำเข้าถ่านหิน รวมถึงแนวสายพานลำเลียงระบบปิด ที่มีระยะทาง 9 กิโลเมตร ที่มีจุดเริ่มต้นตั้งแต่ท่าเทียบเรือบ้านคลองรั้ว ทั้งนี้ ระบบสายพานลำเลียงบางช่วงมีการสร้างอุโมงค์ลำเลียงลอดใต้พื้นที่รวม 2 กิโลเมตร เพื่อลดผลกระทบต่อพื้นที่ป่าชายเลนด้วย