กฟผ. น้อมรับคำสั่งนายกฯ "ชะลอ" โรงไฟฟ้ากระบี่ (27 พ.ย. 59)
คมชัดลึกออนไลน์ 27 พฤศจิกายน 2559
กฟผ.น้อมรับคำสั่งนายกฯชะลอโรงไฟฟ้ากระบี่
กฟผ.น้อมรับคำสั่งนายกรัฐมนตรี ชะลอโครงการโรงไฟฟ้ากระบี่ พร้อมรอฟังความคิดเห็นของประชาชนส่วนใหญ่ในพื้นที่ หวั่นกระทบความมั่นคงของระบบไฟฟ้าภาคใต้
เมื่อวันที่ 26 พฤศจิกายน นายกรศิษฏ์ ภัคโชตานนท์ ผู้ว่าการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เปิดเผยว่า กฟผ. พร้อมน้อมรับคำสั่ง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีให้ชะลอโครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้ากระบี่ โดยที่ผ่านมา กฟผ. ได้มีการถอนคณะทำงานออกจากพื้นที่แล้วตั้งแต่เดือนมิถุนายนที่ผ่านมา ซึ่งการชะลอการก่อสร้างดังกล่าวจะส่งผลให้ระบบไฟฟ้าพื้นที่ภาคใต้ขาดความมั่นคง ทั้งนี้ที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบัน กฟผ. ต้องส่งไฟฟ้าจากภาคกลางลงไปสนับสนุนการใช้ไฟฟ้าของประชาชนในพื้นที่ภาคใต้ประมาณวันละ 200 – 300 เมกะวัตต์
นายกรศิษฏ์ กล่าวอีกว่า หากโรงไฟฟ้าที่มีอยู่ในภาคใต้จำเป็นต้องหยุดเดินเครื่องเพื่อซ่อมบำรุงหรือมีการหยุดส่งจ่ายก๊าซธรรมชาติให้กับโรงไฟฟ้าจะนะ จังหวัดสงขลา เหมือนที่ผ่านมา กฟผ. จะต้องส่งไฟฟ้าไปช่วยเพิ่มมากถึง 600 – 700 เมกะวัตต์ ซึ่งสถานการณ์ความต้องการใช้ไฟฟ้าภาคใต้เพิ่มขึ้นร้อยละ 5 – 6 ต่อปี หรือประมาณปีละ 150 เมกะวัตต์ หรือประมาณ 1,000 เมกะวัตต์ ในระยะเวลา 6 ปี โดยข้อเท็จจริงคือ ช่วงที่ผ่านมาประเทศไทยและทั่วโลกต่างประสบปัญหาสภาพเศรษฐกิจตกต่ำ สิ่งที่ต้องเตรียมพร้อมคือ หากสภาพเศรษฐกิจ ฟื้นตัวดีขึ้น เชื่อว่าความต้องการใช้ไฟฟ้าของภาคใต้จะเพิ่มไปมากกว่านี้อีก
“ถ้าหากสร้างโรงไฟฟ้าไม่ทัน จะส่งผลกระทบต่อความมั่นคงของระบบไฟฟ้าภาคใต้ตามมา รวมทั้งในส่วนของความต้องการใช้ไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้น ยังจำเป็นต้องสร้างโรงไฟฟ้าหลักที่ใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล เพราะมีความมั่นคง สำหรับพลังงานทดแทนสามารถนำมาใช้เป็นพลังงานเสริมได้ ทั้งนี้จะมีปริมาณเท่าไหร่ขึ้นกับฐานะทางเศรษฐกิจของประเทศว่า ประชาชนสามารถรับภาระได้อย่างไร และความสามารถในการแข่งขันของประเทศมีความพร้อมอย่างไร อย่างไรก็ตามด้วยเทคโนโลยีในปัจจุบันพลังงานทดแทนยังไม่มีเสถียรภาพเพียงพอที่จะช่วยเรื่องความมั่นคงของระบบไฟฟ้าได้” ผู้ว่าฯ กฟผ. อธิบาย
นายกรศิษฏ์ กว่าวด้วยว่า เมื่อวันที่ 22 พฤศจิกายน ที่ผ่านมา ท่านนายกรัฐมนตรีได้แถลงอย่างชัดเจนว่า รัฐบาลมีการชะลอโครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้ากระบี่ แต่ไม่ได้ระงับ โดยขอให้ทำข้อสรุปว่าประชาชนในพื้นที่ต้องการอะไร หากบอกอะไรมาแล้วให้ทำตามทุกอย่างคงไม่ใช่ เพราะรัฐบาลต้องทำตามความคิดเห็นของคนส่วนใหญ่ในพื้นที่ ประกอบกับความคิดเห็นของกลุ่มต่างๆ เหล่านี้ด้วย ดังนั้นคงเป็นเรื่องที่ต้องรอฟังเสียงส่วนใหญ่ของชุมชนที่ต้องแสดงออกให้ชัดเจนว่าต้องการให้ก่อสร้างโรงไฟฟ้ากระบี่หรือไม่ ขณะเดียวกัน เพื่อสร้างความมั่นคงของระบบไฟฟ้าภาคใต้ กฟผ. จะศึกษาเรื่องโครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าที่เดินเครื่องด้วยก๊าซธรรมชาติเหลว หรือ LNG ไปด้วย ซึ่งมีต้นทุนสูงกว่าถ่านหิน และในอนาคตจะส่งผลให้ภาพรวมค่าไฟฟ้าทั้งประเทศปรับเพิ่มขึ้นตามไปด้วย