ประชาพิจารณ์โรงไฟฟ้าชีวมวล "ล่ม" กลางคัน (26 พ.ย. 59)
Thai PBS 26 พฤศจิกายน 2559
ประชาพิจารณ์โรงไฟฟ้าชีวมวล "ล่ม" กลางคัน
ล่มกลางคัน เวทีประชาพิจารณ์สร้างโรงไฟฟ้าชีวมวล จ.สงขลา หลังกลุ่มผู้สนับสนุน และคัดค้านรวมตัว หวั่นบานปลายต้องยุติทันที ชาวบ้านร้องโรงไฟฟ้าขยะหาดใหญ่ มลพิษอื้อ
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้ (26 พ.ย.2559) เจ้าหน้าที่เกือบ 300 นาย ใช้รั้วลวดหนามปิดล้อม รอบบริเวณสำนักงานเทศบาลตำบลบ้านนา อ.จะนะ จ.สงขลา เพื่อป้องกันการปะทะระหว่างกลุ่มที่สนับสนุน และคัดค้านการก่อสร้างโรงไฟฟ้าชีวมวล ขนาด 25 เมกกะวัตต์ ของบริษัท จะนะ กรีนจำกัด
โดยในช่วงเช้าเจ้าหน้าที่ได้ปิดเส้นทาง 1 ช่องจราจรบนถนนสายหลัก ปัตตานี-หาดใหญ่ เพื่อความสะดวกในการดูแล และมีการขุดคูระบายน้ำให้กว้างขึ้น เพื่อป้องกันชาวบ้านกลุ่มคัดค้านบุกเข้าไปในสถานที่รับฟังความเห็น
อย่างไรก็ตาม เมื่อเวทีการทำประชาพิจารณ์เริ่มขึ้น ตัวแทนเครือข่ายรักษ์ถิ่นเกิดตำบลคู ซึ่งได้เดินทางมาพร้อมกับกลุ่มผู้คัดค้าน ตั้งแต่คืนวันที่ 25 พฤศจิกายน ยืนยันว่า ไม่ต้องการให้โครงการนี้เกิดขึ้น
และหากจะมีการทำประชาพิจารณ์ ก็ควรจัดทำในพื้นที่ เพื่อให้ประชาชนซึ่งเป็นเจ้าของสถานที่ที่แท้จริงได้แสดงความคิดเห็น หลังจากนั้นที่ประชุมก็มีการโต้เถียงจนต้องยุติการทำประชาพิจารณ์ทันที เพื่อป้องกันความรุนแรง
นอกจากนี้ ตัวแทนชาวบ้านรอบโรงไฟฟ้าขยะหาดใหญ่ ต.ควนลัง อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา รวมตัวเพื่อนำเสนอผลกระทบที่ได้รับจากโรงไฟฟ้าขยะหาดใหญ่ บริเวณริมถนนสายสนามบิน-หาดใหญ่ หลังต้องแบกรับผลกระทบจากควันดำ และกลิ่นเหม็นมานานกว่า 2 ปี
โดยกรมควบคุมมลพิษ พบว่ามีทั้งสารประกอบไดออกซิน หรือ สารก่อมะเร็ง ไฮโดรเจนคลอไรด์ และสารแคดเมียม เกินค่ามาตรฐานที่กฎหมายกำหนด และอาจก่อให้เกิดอันตราย ซึ่งสร้างความกังวลให้แก่ชาวบ้านในพื้นที่มากขึ้น แม้จะร้องเรียนไปยังศูนย์ดำรงธรรมจังหวัดสงขลา และหน่วยเกี่ยวข้อง แต่กลับไม่ได้รับการแก้ไข
ขณะที่จ.ลำปาง การจัดประชุมรับฟังความคิดเห็นของผู้มีส่วนได้เสีย ในการกำหนดของเขต และแนวทางการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (อีเอชไอเอ) โครงการขยายกำลังการผลิตโรงไฟฟ้าแม่เมาะ เครื่องที่ 4 - 7 ครั้งที่ 1 ต้องเลื่อนออกไป เนื่องจากมีชาวบ้าน รวมตัวกันที่วิทยาลัยเทคโนโลยี และการจัดการ กฟผ.แม่เมาะ อ.แม่เมาะ จ.ลำปาง เพราะเห็นว่า การจัดเวทีครั้งนี้ไม่โปร่งใส เพราะมีการเกณฑ์คนมาร่วมประชุม และยังกังวลถึงการเพิ่มกำลังการผลิตจาก 600 เมกะวัตต์ เป็น 655 เมกะวัตต์ จึงต้องรวมตัวคัดค้าน