ชาวระยองเห็นด้วยแก้ไขผังเมือง (10 พ.ค. 56)

เดลินิวส์ออนไลน์ 10 พฤษภาคม 2556
ชาวระยองเห็นด้วยแก้ไขผังเมือง 

วันนี้(10 พ.ค.) ที่วิทยาลัยเทคนิคบ้านค่าย ต.หนองละลอก อ.บ้านค่าย จ.ระยอง  นายมนต์ชัย  พิณประเสริฐ  นายอำเภอนิคมพัฒนา  เป็นประธานเปิดการประชุมประชาคม การแก้ไขผังเมืองเมืองรวมชุมชนบ้านค่าย-มาบข่า ครั้งที่ 2 พื้นที่ อ.นิคมพัฒนา จ.ระยอง  โดยมีนายมนตรี เกียรติมนตรี รองนายกอบจ.ระยอง  นายอดุลย์  นิยมสมาน  ส.อบจ.เขต อ.บ้านค่าย นายเดชา บุญธรรม ส.อบจ.เขต อ.นิคมพัฒนา นายสนิท พุทธสังฆ์ ประธานสภาอบต.หนองละลอก นายอัมพร  พรวราภรณ์  ผู้จัดการทั่วไป บริษัท ซีพีพีซี จำกัด(มหาชน)และนายจรัส จิตกิจติจำรัส  ผอ.โครงการ ซี.พี.แลนด์ จำกัด(มหาชน) โครงการนิคมอุตสาหกรรม ซี.พี. และกลุ่มอุตสาหกรรมพลาสติกแปรรูป เครือเจริญโภคภัณฑ์ มีชาวบ้านในพื้นที่กว่า 300 คนเข้าร่วมแสดงความคิดเห็น ในการประชุมครั้งนี้

นายอัมพร  พรวราภรณ์  ผจก.ทั่วไป บริษัท ซีพีพีซี จำกัด(มหาชน) กล่าวว่าสืบเนื่องจากการประกาศใช้ผังเมืองรวมชุมชนบ้านค่าย-มาบข่า พื้นที่ อ.นิคมพัฒนาและ อ.บ้านค่าย จ.ระยองเมื่อวันที่ 24 กรกฎาคม 2555 พื้นที่ของโครงการนิคมอุตสาหกรรมซี.พี. บริษัท ซี.พี.แลนด์ จำกัด(มหาชน) และพื้นที่บางส่วนของบริษัท ซีพีพีซี จำกัด(มหาชน) ได้ถูกจัดอยู่ในพื้นที่ที่ดินประเภทสีเขียว ทางบริษัทฯทั้งสองแห่งมีความประสงค์ที่จะใช้ที่ดินกว่า 3,000 ไร่เศษ ดังกล่าวเพื่อการอุตสาหกรรม เป็นที่ดินสีม่วงมาตั้งแต่ต้น จึงต้องยื่นแก้ไขผังเมืองรวมชุมชนบ้านค่าย-มาบข่าใหม่ ต่อสำนักงานโยธาธิการและผังเมือง จ.ระยอง เมื่อวันที่ 28 สิงหาคม 2555 ต่อมาเมื่อวันที่ 25 กันยายน 2555 ที่ประชุมของคณะกรรมการที่ปรึกาผังเมือง จ.ระยอง ลงความเห็นให้บริษัท ที่ยื่นขอแก้ไขผังเมืองไปทำประชาคมในพื้นที่ที่เกี่ยวข้อง เพื่อนำความเห็นข้อสรุปไปประกอบการพิจารณาของคณะกรรมการที่ปรึกษาผังเมืองอีกครั้ง

นายอัมพร  กล่าวว่าบริษัท ซีพีพีซี จำกัด(มหาชน) เป็นกลุ่มธุรกิจประเภทผลิตพลาสติกแผ่นแข็ง และเคลือบประกบพลาสติก เพื่อนำไปแปรรูปเป็นสินค้าต่างๆ ผลิตแกนกระดาษ ป้อนให้กับอุตสาหกรรมการผลิตประเภทต่างๆที่ต้องใช้การบรรจุแบบม้วนและให้บริการเช่าพื้นที่โรงงานแก่บริษัท ร่วมทุนเดิม

อย่างไรก็ดีชาวบ้านส่วนใหญ่เห็นด้วยกับโครงการดังกล่าว พร้อมกับเสนอแนะให้โครงการนิคมอุตสาหกรรม ซี.พี.แลนด์ เปิดรับและพิจารณาชาวบ้านในชุมชนซึ่งเป็นคนในพื้นที่ เข้าไปทำงาน เป็นกรณีพิเศษ ซึ่งประชาชนส่วนใหญ่ในพื้นที่เห็นว่าเป็นนิคมอุตสาหกรรมที่ไม่ก่อให้เกิดมลภาวะ รวมทั้งคนในชุมชนต้องการทำงานในโรงงานซึ่งอยู่ใกล้บ้าน แต่ถ้าเป็นนิคมอุตสาหกรรมที่ก่อให้เกิดมลภาวะเป็นพิษก็ไม่มีใครยอมให้ตั้งโรงงานในพื้นที่แน่นอน.