คพ.ติวเข้ม ‘อุทยานฯ’ จัดการขยะ-น้ำเสีย จ่อบังคับ ‘ร้านค้า-ครัวเรือน’ ติดระบบบำบัด (25 พ.ย. 59)

Green News TV 25 พฤศจิกายน 2559
คพ.ติวเข้ม ‘อุทยานฯ’ จัดการขยะ-น้ำเสีย จ่อบังคับ ‘ร้านค้า-ครัวเรือน’ ติดระบบบำบัด

คพ.อบรมเพิ่มศักยภาพจัดการขยะ-น้ำเสีย นำร่อง 10 อุทยานแห่งชาติ จ่อเร่งรัดใช้กฎหมายบังคับ “ร้านค้า-บ้านเรือน” ติดระบบบำบัดน้ำเสีย ส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์

นายสุวรรณ นันทศรุต รองอธิบดีกรมควบคุมมลพิษ (คพ.) เปิดเผยว่า คพ.ได้ร่วมกับองค์การจัดการน้ำเสีย (อจน.) และกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธ์พืช (อส.) จัดการฝึกอบรมเพิ่มประสิทธิภาพการจัดการขยะมูลฝอยและน้ำเสียในอุทยานแห่งชาติ เพื่อเร่งจัดการขยะและน้ำเสียให้ถูกต้องตามหลักวิชาการ เพิ่มประสิทธิภาพ และเป็นต้นแบบการดำเนินงานให้กับอุทยานแห่งชาติอื่นๆ ตามนโยบายส่งเสริมการท่องเที่ยวเพื่อการอนุรักษ์และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมของรัฐบาล โดยเบื้องต้นจะนำร่องใน 10 อุทยาน

สำหรับอุทยานแห่งชาตินำร่องทั้ง 10 แห่ง ประกอบด้วย อุทยานแห่งชาติเขาเเหลมหญ้า-หมู่เกาะเสม็ด, อุทยานแห่งชาติหาดนพรัตน์ธารา-หมู่เกาะพีพี, อุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์, อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่, อุทยานแห่งชาติธารโบกขรณี, อุทยานแห่งชาติเอราวัณ, อุทยานแห่งชาติภูกระดึง, อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะช้าง, อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะลันตา และอุทยานแห่งชาติตะรุเตา

นายสุวรรณ กล่าวว่า สำหรับแนวทางจัดการขยะมูลฝอย จะมีตั้งแต่ลดการเกิดขยะจากแหล่งกำเนิด การคัดแยกเพื่อนำไปใช้ประโยชน์ใหม่ การเก็บรวบรวมขนส่งขยะมูลฝอย ไปจนถึงการกำจัดขยะมูลฝอยอย่างถูกหลักวิชาการ ไม่ว่าจะเป็นการฝังกลบอย่างถูกหลักสุขาภิบาล การเผาโดยใช้เตาเผาที่ถูกหลักสุขาภิบาล การแปรรูปขยะเป็นเชื้อเพลิง (RDF) หรือผลิตเป็นพลังงานไฟฟ้า เพื่อป้องกันและลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม

นายสุวรรณ กล่าวอีกว่า ในส่วนของแนวทางจัดการน้ำเสีย จะเร่งรัดการบังคับใช้กฎหมายตาม พ.ร.บ.ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ.2535 และ พ.ร.บ.การสาธารณสุข พ.ศ.2535 ให้ครัวเรือนติดตั้งบ่อเกรอะ บ่อซึม หรือระบบบำบัดน้ำเสียแบบถังสำเร็จรูป สำหรับร้านอาหารให้มีการติดตั้งถังดักไขมันจากการประกอบอาหารและการล้างภาชนะ แล้วนำน้ำไปบำบัดต่อ พร้อมทำการสำรวจ ประเมิน และจัดทำทะเบียนแหล่งกำเนิดน้ำเสียเพื่อใช้ในการรณรงค์

สำหรับน้ำเสียชุมชน จะมีการรณรงค์ อบรม และประชาสัมพันธ์ให้ผู้ประกอบการ บ้านเรือน ทำการติดตั้งและดูแลถังดักไขมันและระบบบำบัดน้ำเสียให้สามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ ส่วนพื้นที่ที่มีระบบบำบัดน้ำเสียรวมอยู่แล้ว ให้ปรับปรุงระบบรวบรวมและระบบบำบัดน้ำเสียให้สามารถใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพ ในส่วนพื้นที่ที่มีความจำเป็นต้องสร้างระบบบำบัดน้ำเสียรวม ให้มีการเตรียมความพร้อมการขอรับสนับสนุนงบประมาณ

“การจัดการขยะมูลฝอยและน้ำเสียในแหล่งท่องเที่ยวจำเป็นต้องได้รับความร่วมมือจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น อุทยานแห่งชาติที่เป็นผู้รับผิดชอบพื้นที่แหล่งท่องเที่ยว และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อร่วมกันดำเนินการจัดการขยะมูลฝอยและน้ำเสียในพื้นที่อย่างเป็นรูปธรรมและมีประสิทธิภาพอย่างยั่งยืนต่อไป” นายสุวรรณ กล่าว