ห่วงรัฐบาล NLD ร่วมมือรัฐบาลจีน หนุนสร้างเขื่อนสาละวิน กระทบกระบวนการสันติภาพพม่า (21 พ.ย. 59)

Citizen Thai PBS 21 พฤศจิกายน 2559
ห่วงรัฐบาล NLD ร่วมมือรัฐบาลจีน หนุนสร้างเขื่อนสาละวิน กระทบกระบวนการสันติภาพพม่า

20 พ.ย. 2559 เสวนาในหัวข้อ “แลฮะ สาละวิน” ที่คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มีผู้เข้าร่วมประมาณ 150 คน เป็นประชาชนจากลุ่มน้ำสาละวิน ทั้งใน จ.แม่ฮ่องสอน และรัฐฉาน และรัฐกะเหรี่ยง ประเทศเมียนมา นอกจากนี้ยังมีชาวบ้านจากเครือข่ายลุ่มน้ำต่าง ๆ อาทิ แม่แจ่ม แม่ยม และแม่น้ำโขง รวมทั้งนักศึกษามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และประชาชน ผู้สนใจเข้าร่วม 

กิจกรรมเริ่มในเวลา 09.00 น. จากการแสดงของเยาวชนกลุ่มเสียงสาละวิน บ้านท่าตาฝั่ง ต.แม่ยวม อ.แม่สะเรียง จ.แม่ฮ่องสอน และการฉายวิดีทัศน์ ‘เขื่อน สงคราม สาละวิน’ โดยซอโพชี นักสิ่งแวดล้อมชาวกะเหรี่ยงที่ได้นำเสนอสารคดีจากการลงพื้นที่สร้างเขื่อนสาละวิน บริเวณโครงการเขื่อนฮัตจี (Hat Gyi Dam) ในพื้นที่กองพลที่ 7 ของกองกำลังสหภาพชนชาติกะเหรี่ยง (KNU) ซึ่งกองกำลังกะเหรี่ยงพุทธ (DKBA) เข้าโจมตีพื้นที่อย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี พ.ศ.2552 พ.ศ.2554 และพ.ศ.2557 กองกำลังทหารพม่าเข้าโจมตีและยึดถนนได้ 

ต่อมาสถานการณ์ในประเทศพม่าเริ่มเปลี่ยน และมีการลงนามข้อตกลงหยุดยิงเมื่อเดือนตุลาคมปีที่แล้ว แต่กลับมีการพยายามแทรกแซงของกองกำลังพม่าเพื่อเข้ามาอยู่ในหัวงานเขื่อน และตั้งข้อสังเกตุว่า เกี่ยวข้องการผลักดันสร้างเขื่อนและมีความเชื่อมโยงกันอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ชาวบ้านในพื้นที่ 3,000 กว่าคนเข้าไปอยู่ในเขตกองกำลังพม่า และชาวบ้านบางส่วนก็หลบอยู่ในป่า 

สิ่งที่น่ากังวลตอนนี้คือ มีการปะทะกันในพื้นที่ประปรายและไม่เป็นข่าว ปัจจุบันเห็นได้ว่าสถานการณ์การเมืองในพม่าเปลี่ยนไปอย่างมาก มีทุนต่างชาติหลั่งไหลเข้าไปในพม่า ธนาคารโลก ก็เข้าไปดำเนินการกับกรมไฟฟ้าพลังน้ำของพม่า โดยเมื่อเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา มีการประกาศว่าจะดำเนินการก่อสร้างโครงการเขื่อนฮัตจีในปี 2561

ซอ ต่าโพ ผู้ประสานงานเครือข่ายแม่น้ำกะเหรี่ยง (Karen River Watch) กล่าวว่า สถานการณ์การสู้รบช่วง พ.ศ.2555 ที่เริ่มกระบวนการสันติภาพระหว่างกองกำลัง KNU และกองทัพพม่า ช่วง พ.ศ.2556 รัฐบาลพม่าประกาศเดินหน้าโครงการเขื่อนสาละวิน 5 แห่ง ในรัฐฉาน รัฐคะเรนนี และรัฐกะเหรี่ยง กำลังผลิตติดตั้งรวมประมาณ 10,000 เมกะวัตต์ 

ซอ ต่าโพ ให้ข้อมูลว่า โครงการที่มีความคืบหน้ามากคือเขื่อนกุ๋นโหลง (Kunlong Dam) ขนาด 1,400 เมกะวัตต์ มีการเริ่มกระบวนการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) และตัดถนนเข้าไปในพื้นที่สร้างเขื่อนแล้ว แต่ไม่มีการเปิดเผยข้อมูล ก่อนที่นางซูจีจะเดินทางไปเยือนประเทศจีน มีการทำข้อตกลงว่าต้องสร้างสะพาน และโรงพยาบาลในเขตกุ๋นหลง

ส่วนโครงการเขื่อนหนองผา (Nong Pha Dam) อยู่ในพื้นที่กองกำลังว้า (UWSA) โครงการเขื่อนมายตง (Mong Ton Dam) หรือเดิมคือโครงการท่าซาง พบว่าในพื้นที่มีการทำไม้จำนวนมาก โดยบริษัทเอกชน และพบว่ามีการขนไม้ออกจากพื้นที่เขื่อนมหาศาล ขณะที่ไม้ที่ยังไม่ขนก็ยังมีอีกมาก มีการเข้มงวดเกี่ยวกับการตรวจเอกสารบุคคลที่จะเข้าพื้นที่ แม้จะเป็นคนพม่ามีบัตรประชาชนก็ตาม สำหรับโครงการเขื่อนยะวาทิต (Ywatith Dam) มีบริษัทจีนเข้าไปสำรวจพื้นที่แต่ยังไม่มีการดำเนินการใด ๆ 

“ที่น่าเป็นห่วงมากคือโครงการเขื่อนฮัตจี เพราะเป็นหนึ่งในโครงการที่ต้องผลักดันให้เข้าระบบพลังงานของพม่าในปี 2563 แต่ล่าสุดมีการปะทะกันในพื้นที่แนวถนนสู่หัวงานเขื่อน มีการยิงปืนใหญ่วันละ 100-130 ครั้ง มีการย้ายชาวบ้านออกจากพื้นที่แนวถนน และตลอดแนวแม่น้ำสาละวิน มีการเกณฑ์ชาวบ้านออกจากพื้นที่น้ำท่วม การปะทะครั้งนี้ทำให้เกิดผู้หนีภัยสงครามประมาณ 6,000 คน ใกล้ชายแดนไทย เขต อ.ท่าสองยาง จ.ตาก เด็กและผู้หญิงกลายเป็นผู้อพยพมากที่สุด” ซอ ต่าโพ กล่าว

สุนี ไชยรส อดีตกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) กล่าวว่า เดิมเขื่อนสาละวินจะก่อสร้างบริเวณชายแดนไทยพม่า แต่ประชาชนคัดค้านกันมาก และมีกฎหมายและข้อตกลงที่ต้องปฏิบัติมากมาย ทำให้โครงการเขื่อนต้องขยับออกไปในพม่า แต่ก็เป็นแม่น้ำสายเดียวกัน ผลกระทบย่อมถึงคน จ.แม่ฮ่องสอน แน่นอน ขณะนี้กระบวนการสร้างสันติภาพในพม่ายังไม่ยุติ มีการเจรจาต่อรองในกลุ่มชาติพันธุ์ต่าง ๆ กับรัฐบาลพม่า

“ทางคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) เห็นว่าเราห่วงเพียงประเทศไทยไม่ได้ หากเรานิ่งเฉยเราก็ยิ่งทำให้เกิดการละเมิดสิทธิมนุษยชนในพม่า ซึ่งไม่ใช่เพียงสงคราม แต่รวมถึงการทำลายวิถีชีวิต” อดีตกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ กล่าว

สุนี กล่าวด้วยว่า ในฐานะที่ประเทศไทยเป็นผู้รับซื้อไฟฟ้า และผู้ก่อสร้างโครงการ กสม.ไม่ได้นิ่งนอนใจ ในปี 2548 มีข้อเสนอให้ยุติการก่อสร้างไว้ก่อน ต่อมาในปี 2554 สำนักนายกรัฐมนตรีได้แต่งตั้งคณะอนุกรรมการ ซึ่งมีข้อเสนอให้ทำการศึกษาผลกระทบใหม่ และตั้งคณะกรรมการติดตามเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับโครงการ เนื่องจากไม่มีเปิดเผยข้อมูลให้แก่ประชาชนทั้งสองประเทศ ต่อมามีการรัฐประหาร ทำให้คณะกรรมการเหล่านั้นหมดอำนาจไป อย่างไรก็ตามได้เตือนไว้แล้วว่า การสร้างเขื่อนจะทำให้เกิดความรุนแรงมากขึ้น ตัวอย่างหนึ่งคือเมื่อปี 2553 มีเจ้าหน้าที่ กฟผ.ที่ลงสำรวจพื้นที่ต้องเสียชีวิต

อดีต กสม. กล่าวต่อว่าหากรัฐบาลไทยจะอ้างข้อเสนอของกสม. เรื่องประชาธิปไตย การเลือกตั้งและข้อตกลงหยุดยิงในพม่า พบว่าสถานการณ์จริงในพื้นที่ยังไม่สงบ ซึ่งไม่ควรที่จะสร้างเขื่อน  รัฐบาลไทยมีโอกาสที่จะแก้ไขปัญหาเหล่านี้ โดยไทยต้องเป็นตัวตั้งในการทบทวนการสร้างเขื่อนฮัตจี และต้องช่วยประคับประคองความเดือดร้อนของพี่น้องชาติพันธุ์ต่าง ๆ และยึดหลักรัฐธรรมนูญไทยให้โอกาสเกี่ยวกับการมีส่วนร่วมของประชาชน และประชาชนที่อยู่ใน จ.แม่ฮ่องสอน ก็มีสิทธิที่จะเคลื่อนไหว และสามารถร่วมมือกับชาวบ้านในฝั่งพม่าได้ 

ดร.นัทธมนต์ พงษ์เจริญ อาจารย์มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวว่าปัญหาของเขื่อนฮัตจีและเขื่อนสาละวินมีประเด็นแตกต่างจากที่อื่นคือ มีการใช้ความรุนแรงเพื่อย้ายคนออกจากพื้นที่ เพื่อลดปัญหาเรื่องชนกลุ่มน้อย มีการใช้กำลังปราบชุมชนในพื้นที่ เป็นกระบวนการที่ต้องใช้ความรุนแรงเป็นหลักการเพื่อให้ผลประโยชน์ หากเราจะต้องต่อสู้คือ ต้องใช้หลักการทางด้านมนุษยธรรมและหลักการทางสิ่งแวดล้อม หลักการด้านสิทธิในด้านอำนาจการตัดสินใจ การได้รับข้อมูล การปรึกษา สิทธิชนเผ่าดั้งเดิม 

จ๋ามตอง ตัวแทนเครือข่ายแม่น้ำรัฐฉาน กล่าวว่าบริเวณรอบ ๆ โครงการเขื่อนกุ๋นโหลง มีการสู้รบในเขตกลุ่มโกกั้ง ทำให้มีชาวบ้านจำนวนมากต้องอพยพหนีเข้าไปในจีน 

“ในรัฐฉานเวลานี้แม่น้ำหลายสายที่กำลังจะถูกสร้างเขื่อนมีบริษัทต่างประเทศที่ให้ทุนในกระบวนการสันติภาพในพม่า แต่กลับมีแผนจะไปลงทุนสร้างเขื่อนในแม่น้ำต่าง ๆ ทำให้ประชาชนในรัฐฉานมีความตื่นตัวกันเป็นอย่างมาก เมื่อรัฐบาลพม่าที่นำโดยพรรค NLD ประกาศจะสร้างเขื่อน นางอองซานซูจี ครั้งเมื่อเดินทางไปจีน มีการคุยกันเรื่องพลังงาน เครือข่ายภาคประชาสังคมคาดว่าจะมีการเจรจาเปลี่ยนให้จีนมาสร้างเขื่อนสาละวินแทนเขื่อนแม่น้ำอิรวดี ซึ่งชาวพม่าคัดค้าน อย่างไรก็ตามพวกเรามี สส.รัฐฉาน ที่ออกมาคัดค้านการสร้างเขื่อนสาละวิน เนื่องจากจะส่งผลกระทบต่อการสร้างสันติภาพในพม่าอย่างที่กำลังเกิดขึ้นอยู่นี้” นางสาวจ๋ามตอง กล่าว