ศาลปกครองกลางพิพากษาให้รัฐบาลทำ EHIA ให้สมบูรณ์ก่อนผุด "เขื่อนแม่วงก์" - ชี้ไม่เข้าข่ายต้องทำประชามติ (24 พ.ย. 59)

MGR Online 24 พฤศจิกายน 2559
ศาลปกครองกลางพิพากษาให้รัฐบาลทำ EHIA ให้สมบูรณ์ก่อนผุดเขื่อนแม่วงก์


อุทยานแห่งชาติแม่วงก์ จ.นครสวรรค์ (แฟ้มภาพ)

        ศาลปกครองกลาง พิพากษาให้นายกฯ-ครม.-อธิบดีกรมชลประทาน-รมว.เกษตรฯ ทำ EHIA ให้ครบถ้วนสมบูรณ์ก่อนเปิดโครงการเขื่อนแม่วงก์ แต่ไม่ต้องเพิกถอนมติ ครม.ปี 55 ยุคยิ่งลักษณ์ เหตุเป็นเพียงขั้นตอนเตรียมการยังไม่ได้อนุมัติ และชี้ไม่เข้าข่ายต้องทำประชามติ

       วันนี้ (24 พ.ย.) ศาลปกครองกลางมีคำพิพากษาให้นายกรัฐมนตรี คณะรัฐมนตรี อธิบดีกรมชลประทาน และรมว.เกษตรและสหกรณ์ ซึ่งเป็นผู้ถูกฟ้องที่ 1-4 ดำเนินการเกี่ยวกับการจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมสำหรับโครงการหรือกิจการที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อชุมชนอย่างรุนแรงทั้งทางด้านคุณภาพสิ่งแวดล้อม ทรัพยากรธรรมชาติและสุขภาพของประชาชนในชุมชน (EHIA) ตามขั้นตอนของมาตรา 67 วรรคสอง ของรัฐธรรมนูญ 50 (ภายใต้บังคับบทบัญญัติมาตรา 4 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2557) ให้ครบถ้วนสมบูรณ์ก่อนอนุมัติเปิดโครงการเขื่อนแม่วงก์
       
       ทั้งนี้ คดีดังกล่าวสมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน กับพวกรวม 151 คน ได้ยื่นฟ้องผู้ถูกฟ้องที่ 1-4 ต่อศาลปกครองกลางขอให้ศาลเพิกถอนมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 10 เม.ย. 2555 ที่เห็นชอบการก่อสร้างเขื่อนแม่วงก์ พร้อมกับให้ผู้ถูกฟ้องคดีร่วมกันจัดให้มีกระบวนการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนทั่วประเทศอย่างทั่วถึงก่อนดำเนินการ โดยการจัดทำประชามติตามมาตรา 165 ของรัฐธรรมนูญปี 2550 รวมทั้งให้ดำเนินการตามมาตรา 57, 58, 67, 85, 87 ของรัฐธรรมนูญ 2550 ให้ครบถ้วนเสียก่อนการดำเนินโครงการเกี่ยวกับแผนงานการก่อสร้างเขื่อน
       
       ส่วนที่ศาลมีคำสั่งดังกล่าวระบุว่า คณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบในหลักการการดำเนินงานโครงการเขื่อนแม่วงก์ โดยให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์จัดทำรายละเอียดต่างๆ ของโครงการ แล้วนำเสนอคณะกรรมการบริหารน้ำและอุทกภัย (กบอ.) พิจารณาตามขั้นตอนตามนัยระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยการบริหารน้ำและอุทกภัยแห่งชาติ พ.ศ. 2555 โดยให้ดำเนินการจัดเตรียมความพร้อมของโครงการคู่ขนานกันไป มติคณะรัฐมนตรีดังกล่าวจึงไม่ใช่การเห็นชอบและอนุมัติให้เปิดโครงการเขื่อนแม่วงก์ ตามมาตรา 57 วรรคหนึ่ง พ.ร.บ.ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ. 2535
       
       นอกจากนี้ การที่คณะรัฐมนตรีจะมีมติเห็นชอบและอนุมัติให้เปิดโครงการเขื่อนแม่วงก์ได้ก็ต่อเมื่อโครงการดังกล่าวได้มีการจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมสำหรับโครงการหรือกิจการที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อชุมชนอย่างรุนแรงทั้งทางด้านคุณภาพสิ่งแวดล้อม ทรัพยากรธรรมชาติและสุขภาพของประชาชนในชุมชน (EHIA) ตามมาตรา 67 วรรคสองของรัฐธรรมนูญ 2550 โดยผ่านการเห็นชอบจากคณะกรรมการผู้ชำนาญการพิจารณารายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (คชก.) และคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ (กก.วล.) แล้ว แต่ปรากฏข้อเท็จจริงว่าปัจจุบันโครงการเขื่อนแม่วงก์ยังอยู่ในขั้นตอนของ คชก.พิจารณารายงานการ EHIA ซึ่งยังไม่ปรากฏว่า คชก.จะเห็นชอบต่อรายงาน EHIA ดังกล่าวหรือไม่ หรืออธิบดีกรมชลประทานจะต้องปรับปรุงแก้ไขและเสนอข้อมูลเพิ่มเติมต่อ คชก.อีกหรือไม่ กรณีจึงต้องถือว่ามติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 10 เม.ย. 2555 เป็นเพียงขั้นตอนเตรียมการเพื่อประกอบการพิจารณาอนุมัติให้เปิดดำเนินโครงการเขื่อนแม่วงก์เท่านั้น       

       อีกทั้งยังปรากฏข้อเท็จจริงว่า ปัจจุบันอธิบดีกรมชลประทานยังมิได้เสนอเรื่องขออนุมัติเปิดโครงการเขื่อนแม่วงก์ต่อคณะรัฐมนตรีแต่อย่างใด ดังนั้น การที่คณะรัฐมนตรีมีมติเมื่อวันที่ 10 เม.ย. 2555 เกี่ยวกับการเห็นชอบการดำเนินโครงการเขื่อนแม่วงก์จึงเป็นการกระทำที่เป็นไปตามตามขั้นตอนตามที่กฎหมายกำหนดแล้ว ไม่ถือเป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย และไม่มีกรณีที่คณะรัฐมนตรีจะต้องเพิกถอนมติดังกล่าว
       
       ส่วนในประเด็นว่านายกรัฐมนตรีต้องจัดให้มีกระบวนการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนทั่วประเทศอย่างทั่วถึงก่อนดำเนินการโดยการจัดทำประชามติตามมาตรา 165 ของรัฐธรรมนูญ 2550 ตาม พ.ร.ป.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ พ.ศ. 2552 หรือไม่ เห็นว่าในการจะจัดให้มีการออกเสียงประชามติได้ถูกกำหนดอยู่ในหมวดที่ 7 ของรัฐธรรมนูญ 2550 อันเป็นเรื่องของการมีส่วนร่วมทางการเมืองโดยตรงของประชาชน โดยรายละเอียดของการลงประชามติถูกกำหนดไว้ใน พ.ร.ป.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ พ.ศ. 2552 ซึ่งการจะดําเนินการจัดทําประชามติตามมาตรา 165 ของรัฐธรรมนูญ 2550 ได้กำหนดให้นายกฯ โดยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรีประกาศในราชกิจจานุเบกษา หรือในกรณีที่มีกฎหมายบัญญัติให้มีการออกเสียงประชามติ แต่เมื่อปัจจุบันยังไม่ปรากฏกรณีที่มีกฎหมายบัญญัติให้มีการออกเสียงประชามติเกี่ยวกับการสร้างเขื่อน ประกอบกับโครงการเขื่อนแม่วงก์เป็นประเภทโครงการที่มีกฎหมายกำหนดไว้เป็นการเฉพาะให้มีกระบวนการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนและผู้มีส่วนได้เสียก่อนมีการดำเนินการตามประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เรื่องกำหนดประเภท ขนาด และวิธีปฏิบัติสำหรับโครงการหรือกิจการที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อชุมชนอย่างรุนแรง ทั้งทางด้านคุณภาพสิ่งแวดล้อม ทรัพยากรธรรมชาติ และสุขภาพ ที่ส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ หรือเอกชนจะต้องจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม พ.ศ. 2553 ซึ่งประกาศดังกล่าวเป็นไปตามบทบัญญัติมาตรา 67 วรรคสองของรัฐธรรมนูญ 2550 โครงการเขื่อนแม่วงก์จึงไม่ใช่โครงการที่ต้องให้จัดทำประชามติตามมาตรา 165 ของรัฐธรรมนูญ 2550
       
       สำหรับผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสี่ต้องปฏิบัติหรือดำเนินการตาม 57, 58, 67, 85, 87 ของรัฐธรรมนูญ 2550 ให้ครบถ้วนเสียก่อนการดำเนินโครงการเกี่ยวกับแผนงานการก่อสร้างเขื่อนหรือไม่ ศาลเห็นว่า อธิบดีกรมชลประทาน และ รมว.เกษตรและสหกรณ์ หน่วยงานที่รับผิดชอบโครงการได้ดำเนินการตามขั้นตอนการพิจารณาตามนัยมาตรา 67 วรรคสอง ของรัฐธรรมนูญ 2550 แล้ว แต่ขั้นตอนตามมาตรา 67 วรรคสองดังกล่าวยังไม่เสร็จสิ้นสมบูรณ์ เนื่องจากเมื่อรายงาน EHIA หากผ่านความเห็นชอบของ คชก.และ กก.วล. แล้ว สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จะต้องส่งรายงาน EHIA ให้องค์กรอิสระพิจารณาให้ความเห็นต่อโครงการด้วยซึ่งเป็นขั้นตอนสุดท้ายก่อนที่จะเสนอคณะรัฐมนตรีอนุมัติต่อไป เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่า อธิบดีกรมชลประทานได้ดำเนินการจัดส่งรายงาน EHIA เสนอต่อสำนักนโยบายและแผนสิ่งแวดล้อม (สผ.) เพื่อเสนอต่อ คชก.และ กก.วล.แล้วก็ตาม แต่รายงาน EHIA ยังคงอยู่ขั้นตอนการพิจารณาของ คชก.ซึ่งยังไม่อาจคาดการณ์ได้ว่ารายงาน EHIA จะผ่านความเห็นชอบของ คชก.และ กก.วล.หรือไม่ อีกทั้งยังมีขั้นตอนที่ต้องส่งรายงาน EHIA ให้องค์การอิสระฯพิจารณาให้ความเห็นประกอบก่อนเสนอคณะรัฐมนตรี พิจารณาอนุมัติต่อไปอีก จึงถือว่าผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสี่ดำเนินการตามมาตรา 67 วรรคสองของรัฐธรรมนูญ 2550 ยังไม่ครบถ้วนสมบูรณ์