รื้อยุทธศาสตร์ BOI – จัดกลุ่มอุตสาหกรรมใหม่ ดึงภาษีนิติบุคคลที่เคยสูญกว่า 2 แสนล้านต่อปีคืน (30 เม.ย. 56)
ไทยพับลิก้า 30 เมษายน 2013
รื้อยุทธศาสตร์ BOI – จัดกลุ่มอุตสาหกรรมใหม่ ดึงภาษีนิติบุคคลที่เคยสูญกว่า 2 แสนล้านต่อปีคืน
ในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา เศรษฐกิจไทยต้องเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงที่อย่างรวดเร็วและส่งผลกระทบในวง กว้าง โดยเฉพาะภูมิภาคอาเซียนจะเป็นแหล่งรองรับการลงทุนที่สำคัญมาก และแย่งชิงเม็ดเงินลงทุนจากคู่แข่งในภูมิภาคอื่น
ด้วยเหตุนี้เองสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (สกท.) หรือ บีโอไอ ต้องทบทวนยุทธศาสตร์และแนวนโยบายในการส่งเสริมการลงทุนใหม่ โดยยังคงยึดเป้าหมายหลัก คือ “ส่งเสริมการลงทุนเพื่อปรับโครงสร้างเศรษฐกิจไทยให้เติบโตอย่างยั่งยืนและ ก้าวข้ามกับดักประเทศที่มีรายได้ปานกลาง (Middle Income Trap)”
ตลอด 12 ปีที่ผ่านมา (พ.ศ. 2544–2555) บีโอไอมอบบัตรส่งเสริมการลงทุนไปทั้งสิ้น 13,759 โครงการ คิดเป็นมูลค่ากว่า 5 ล้านล้านบาท กิจการที่ได้บัตรส่งเสริมการลงทุนส่วนใหญ่ประมาณ 30% เป็นการลงทุนในธุรกิจบริการและสาธารณูปโภค รองลงมา ได้แก่ อุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์โลหะ เครื่องจักรและอุปกรณ์ขนส่ง อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์และเครื่องใช้ไฟฟ้า และอุตสาหกรรมเคมีภัณฑ์ กระดาษ และพลาสติก โดยบีโอไอมีเครื่องมือที่ใช้ส่งเสริมการลงทุน 2 กลุ่มใหญ่ คือ มาตรการภาษี กับมาตรการที่ไม่ใช่ภาษี
จากข้อมูลสำนักงบประมาณในช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมา ระบุว่าแต่ละปีรัฐบาลยอมสูญเสียรายได้กว่า 2 แสนล้านบาทต่อปี เพื่อส่งเสริมการลงทุนภายในประเทศ ก่อให้เกิดการจ้างงาน จำนวนเม็ดเงินที่รัฐสูญเสียไปมีขนาดเท่ากับยอดการจัดเก็บภาษีเงินได้บุคคล ธรรมดา จึงมีนักวิชาการกลุ่มหนึ่งที่มองมุมของความเหลื่อมล้ำในการกระจายรายได้ ตั้งข้อสังเกตว่าเป็นการเก็บภาษีมนุษย์เงินเดือนมาอุดหนุนกลุ่มทุนขนาดใหญ่ ที่ได้รับยกเว้นภาษีใช่หรือไม่
นายสาธิต รังคสิริ อธิบดีกรมสรรพากร กล่าวในงานสัมมนา “Thaipublica Forum ครั้งพิเศษ “ปฏิรูปโครงสร้างภาษีไทย เพื่อไทยหรือเพื่อใคร”” ว่า “ใน อดีต แต่ละประเทศตั้งกำแพงภาษี ใครจะเข้ามาลงทุนในเมืองไทยต้องเจาะกำแพงหรือหาทางมุดกำแพงเข้ามา แต่วันนี้ไม่มีกำแพงภาษีแล้ว ถึงเวลาหรือยังที่จะทลายระบบแบบนี้ บีโอไอควรจะเลือกที่จะสนับสนุนธุรกิจที่ควรได้รับการส่งเสริม ไม่ใช่ให้ทุกอย่างที่ขวางหน้า วันนี้อัตราภาษีเงินได้นิติบุคคลลดเหลือ 20% ถ้ายกเลิกการให้สิทธิประโยชน์บีโอไอทั้งหมด ก็สามารถปรับลดภาษีเงินได้นิติบุคคลเหลือในอัตรา 12% ได้ โดยที่ไม่ทำให้รัฐสูญเสียรายได้”
ปัจจุบัน บีโอไอกำหนดกิจการที่จะได้รับการส่งเสริมการลงทุนทั้งหมด 243 ประเภทกิจการ ในจำนวนนี้มี 21 ประเภทกิจการ อาทิ กิจการผลิตยางรัดของ, ผลิตถุงเท้า, ผลิตสกรู, ก้นกรองบุหรี่ เป็นต้น ได้รับบัตรส่งเสริมการลงทุน แต่บีโอไอตอบไม่ได้ว่ากิจการกลุ่มนี้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศตรงประเด็นไหน ขณะที่มีกิจการประเภทเดียวกันเป็นจำนวนมาก ผลิตสินค้าเหมือนกับกลุ่มนี้ แต่ไม่ได้ยกเว้นภาษี ต้องมารับภาระภาษีแทน ไม่สามารถแข่งขันกับกิจการที่ได้บีโอไอ เพราะมีต้นทุนสูงกว่า
ช่วงต้นปี 2554 บีโอไอว่าจ้างที่ปรึกษากฎหมายและภาษีอากร บริษัท ไพร้ซวอเตอร์เฮาส์คูเปอร์ส จำกัด ศึกษารูปแบบสิทธิประโยชน์และแนวทางการแก้ไขกฎหมายส่งเสริมการลงทุน ส่วนจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ศึกษาแนวทางการแก้ไขกฎหมายเพื่อส่งเสริมการลงทุนไทยในต่างประเทศ และจ้างบริษัท ดิแอดไวเซอร์ จำกัด จัดทำยุทธศาสตร์การส่งเสริมการลงทุนไทยในต่างประเทศ และโครงการจัดทำเครื่องมือในการวิเคราะห์เพื่อสนับสนุนการตัดสินใจเชิง กลยุทธ์
วันที่ 11 ตุลาคม 2554 คณะรัฐมนตรีมีมติให้บีโอไอร่วมกับกระทรวงการคลังทบทวนการให้สิทธิประโยชน์ ส่งเสริมการลงทุน โดยให้สอดรับกับสภาวการณ์และการให้สิทธิประโยชน์เสริมการลงทุนของต่างประเทศ ที่เปลี่ยนแปลงไป และดูแลฐานภาษีเงินได้ของประเทศให้สอดคล้องกับการปรับลดอัตราภาษีเงินได้ นิติบุคคลเป็นการทั่วไป”
จากนั้น บีโอไอได้นำผลการศึกษาจากทั้งหมดจากบริษัทที่ปรึกษามาประมวลผล และจัดทำเป็น “ร่างยุทธศาสตร์ส่งเสริมการลงทุนในระยะ 5 ปี (พ.ศ. 2556–2560)” โดยกำหนดเป้าหมายสำคัญดังนี้
1. ส่งเสริมการพัฒนาความสามารถในการแข่งขันและการสร้างมูลค่าเพิ่มของภาคอุตสาหกรรม
2. ส่งเสริมการพัฒนาอุตสาหกรรมสีเขียว เพื่อการเติบโตอย่างสมดุลและยั่งยืน
3. ส่งเสริมให้เกิดคลัสเตอร์อุตสาหกรรมใหม่ๆ ในภูมิภาค เพื่อสร้างการรวมตัวใหม่ของการลงทุน
4. ส่งเสริมการลงทุนไทยในต่างประเทศ เพื่อเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของธุรกิจไทย
นายอุดม วงศ์วิวัฒน์ไชย เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน
ที่มา: http://www.manager.co.th/iBizChannel/ViewNews.aspx?NewsID=9550000145898
หลังจากที่กำหนดเป้าหมายหลัก บีโอไอปรับเปลี่ยนทิศทางหรือนโยบายส่งเสริมการลงทุน เพื่อปรับโครงสร้างเศรษฐกิจไทยเอาไว้ 6 ด้าน ดังนี้
1. ปรับเปลี่ยนการส่งเสริมการลงทุนแบบกว้างและครอบคลุมเกือบทุกกิจการ (Broad-based) มาเป็นการส่งเสริมที่มีเป้าหมายชัดเจน และมีการจัดลำดับความสำคัญมากขึ้น (Focus & Prioritized)
2. ปรับเปลี่ยนรูปแบบการให้สิทธิประโยชน์ จากการส่งเสริมตามประเภทกิจการ (Sector-based Incentives) มาเป็นการส่งเสริมตามประเภทกิจการ โดยให้เน้นส่งเสริมกิจกรรมที่เป็นประโยชน์ต่อประเทศ (Sector & Merit-based Incentives)
3. ยกเลิกการส่งเสริมตามเขตพื้นที่ (Zones) มาเป็นการส่งเสริมให้เกิดคลัสเตอร์อุตสาหกรรมใหม่ในภูมิภาค (New Regional Clusters)
4. ปรับเปลี่ยนจากการส่งเสริมที่เน้นการให้สิทธิประโยชน์ทางภาษี (Tax Incentives) มาเป็นการปรับสิทธิประโยชน์ทางภาษีให้เหมาะสม และเน้นการอำนวยความสะดวกให้เกิดการลงทุน (Tax incentives + Facilitation)
5. ปรับเปลี่ยนจากการส่งเสริมการลงทุนในประเทศเป็นหลัก (Inbound Investment) มาเป็นการเพิ่มบทบาทส่งเสริมการลงทุนไทยในต่างประเทศ (Inbound & Outbound Investment)
6. ปรับเปลี่ยนจากการวัดผลเชิงมูลค่าคำขอรับการส่งเสริม (Application Values) เป็นการวัดผลจากคุณค่าของโครงการลงทุน (Outcomes)
ทั้งนี้ การปรับเปลี่ยนทิศทางและนโยบายในการส่งเสริมการลงทุนของบีโอไอทั้ง 6 ด้าน (6 Big Changes) จะมีการพิจารณาทบทวนการกำหนดบัญชีประเภทกิจการและสิทธิประโยชน์ให้เหมาะสม โดยประโยชน์ที่จะได้จากการปรับปรุงยุทธศาสตร์ส่งเสริมการลงทุนครั้งนี้ บีโอไอคาดว่าจะทำให้บรรยากาศการลงทุนดีขึ้น, เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน, ยกระดับ Value Chain ของภาคอุตสาหกรรม, ทำให้เกิดคลัสเตอร์อุตสาหกรรมใหม่ในแต่ละภูมิภาค หรือพื้นที่ชายแดน ซึ่งส่งผลให้เกิดการกระจายความเจริญและลดความเหลื่อมล้ำ และที่สำคัญ ช่วยลดภาระทางการคลัง มีการใช้สิทธิประโยชน์ด้านภาษีอากรอย่างคุ้มค่าและมีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยบีโอไอตั้งเป้าหมายที่ประกาศใช้ยุทธศาสตร์และหลักเกณฑ์การส่งเสริมการลง ทุนแบบใหม่อย่างเป็นทางการตั้งแต่กลางปี 2556 เป็นต้นไป
ข้อมูลเพิ่มเติม ร่างยุทธศาสตร์การส่งเสริมการลงทุนในระยะ 5 ปี (พ.ศ. 2556–2560)