ถอดสมการข่าว EP.14 ระเบิดเวลา “ภูเขาก๊าซไข่เน่า” ไม่ใช่ไบโอก๊าซ แต่มาจาก “ประหยัดค่ากำจัดของเสีย” (24 พ.ย. 59)

PPTV 24 พฤศจิกายน 2559
ถอดสมการข่าว EP.14 ระเบิดเวลา “ภูเขาก๊าซไข่เน่า” ไม่ใช่ไบโอก๊าซ แต่มาจาก “ประหยัดค่ากำจัดของเสีย”

โดย สถาพร พงษ์พิพัฒน์วัฒนา

ภาพจากโดรนของ PPTV ที่ถ่ายให้เห็นความมหึมาของพลาสติกคลุมบ่อน้ำเสียที่พองสูงจากพื้น 24 เมตร หรือประมาณตึก 7 ชั้น ของโรงงานเอทานอล ไทย อะโกร เอนเนอร์ยี่ กลายเป็นข่าวที่ถูกแชร์ออกไปมากที่สุดในช่วง 3-4 วันที่ผ่านมา สร้างความตกตะลึงอย่างมาก

ไม่น่าเชื่อว่าหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้อง กรมโรงงานอุตสาหกรรม กรมควบคุมมลพิษ และหน่วยงานท้องถิ่น จะปล่อยให้เหตุการณ์บานปลายมาถึงขนาดนี้ได้ จนกระทั่งชุมชนที่อยู่ใกล้โรงงานทนไม่ไหว ต้องรวมตัวประท้วง และต้องเป็นข่าว จึงจะมีหน่วยงานเข้าไปตรวจสอบ

แต่ก็ไม่แน่ว่า “จะทันหรือไม่”

เพราะก๊าซที่สะสมอยู่ใต้ภูเขาพองลมลูกนี้ มีทั้งก๊าซไข่เน่า(ไฮโดรเจนซัลไฟด์) ที่ส่งกลิ่นเหม็นรุนแรง คาร์บอนไดออกไซด์ และมีเทน ที่ติดไฟง่าย

ภูเขาก๊าซลูกนี้ จึงพร้อมระเบิดอยู่ตลอดเวลา .....

มีเทน – 60%

คาร์บอนไดออกไซด์ – 39%

ไฮโดรเจนซัลไฟด์ – 1%

นี่เป็นข้อมูลที่มาจากโรงงานเอง ... คำถามคือ แค่ 1% ของก๊าซไข่เน่า ทำไมเหม็นมาก คำตอบ คือ 1% ที่ว่านี้ มาจากก๊าซทั้งหมด 2 แสนลูกบาศก์เมตร ในภูเขาพองลมลูกนั้น จึงถือว่ามีปริมาณมาก

และนักเคมีอย่าง อ.อ๊อด รศ.วีรชัย พุทธวงศ์ ภาควิชาเคมี ม.เกษตรศาสตร์ บอกว่า ภูขาก๊าซลูกนี้ น่าจะมีรอยรั่ว จึงส่งกลิ่นออกมา เพราะหนักกว่าอากาศ ลอยต่ำ ซึ่งอาจจะเป็นโชคดีที่ได้ระบายออกมา ไม่งั้นอาจระเบิดไปแล้วก็ได้

แต่ก็ยังมีความเสี่ยงสูงมากอยู่ดีที่จะระเบิด เพราะในนั้นมีก๊าซมีเทน ถึง 60%  .... อ.อ๊อด วิเคราะห์ว่า เมื่อมีเทนและก๊าซไข่เน่ารวมกันมากกว่า 60% มีโอกาสจะระเบิดได้ทุกเมื่อ... และรัศมีระเบิดอาจไกลได้ถึง 800 เมตร ... แต่ชุมชนอยู่ห่างจากโรงงานเพียง 200 เมตร  โดยที่ระเบิดอาจกลายเป็น “ทะเลเพลิง” ได้ด้วย

ตอนนี้กระบวนการแก้ปัญหาเริ่มแล้ว หลังทีมข่าว PPTV โดยอธิชา สุขจิตสำราญ เกาะติดแบบกัดไม่ปล่อยทุกวันทำให้ทุกหน่วยงาน “ตื่น” และรีบลงไปแก้ปัญหา

แต่โรงงานยังเจรจา จะต่อท่อออกมาเพื่อย้ายก๊าซไปบ่ออื่น เพราะเอาไปทำพลังงานได้ โดยให้ความมั่นใจว่า จะเรียบร้อยใน 2 เดือน

ส่วนชาวบ้านยืนยันว่า ไม่ว่าจะแก้ยังไง อันดับแรก คือ โรงงานนี้ ต้อง “ปิด” ทันที เพาะทนกลิ่นเหม็นมานับ 10 ปีแล้ว

นั่นเป็นกระบวนการแก้ปัญหา

แต่ผมอยากชวนคุยให้เห็นที่มาของปัญหา พราะเมื่อรู้แล้ว จะพบว่า .. “มีโอกาส” ที่จะเกิดเหตุการณ์เช่นนี้ได้อีก กับโรงงานเอทานอลอื่น

ผมคุยกับผู้เชี่ยวชาญด้านการกำจัดของเสียอันตราย (เปิดเผยตัวไม่ได้) วิเคราะห์ไว้น่าสนใจมากว่า ของเสียในบ่อ ที่แท้คือ “กากส่าเอทานอล” ซึ่งถ้าไม่เอาไปทำไบโอก๊าซ (โรงงานนี้ไม่ทำ) ก็ต้องส่งไปกำจัดในโรงงานรับกำจัดของเสียอันตราย ประเภท 101 เท่านั้น

วิธีกำจัด มี 2 วิธี

ส่งไปเตาเผา ราคากำจัด 15000-20000 บาท ต่อ 1 ลูกบาศก์เมตร ็็
ส่งไปบ่อบำบัด ราคากำจัด 6000 บาท ต่อ 1 ลูกบาศก์เมตร
ผมจะลองคิดจากเฉพาะราคาที่ถูกที่สุด ถ้าจะเอากากส่าเอทานอลนี้ไปกำจัด คือ 6000 บาท ต่อ 1 ลูกบาศก์เมตร

บ่อที่เกิดปัญหา กว้าง 100 x 200 x 7 เมตร เท่ากับ 1400000 ลูกบาศก์เมตร

ค่ากำจัด ถ้าส่งไปบำบัด 140000 x 6000 เท่ากับ 840 ล้านบาท !!!

น่าสนใจมั้ยครับ 840 ล้านบาท ถ้าเอาไปกำจัด ....

แต่โดยปกติ เขาจะส่งไปกำจัดกันทุกเดือน ก็เดือนละไม่เท่าไหร่

ที่นี่เก็บไว้ จนส่งกลิ่นเหม็น จึง “เอาผ้าใบมาคลุมไว้” ... จนเกิดก๊าซ และกลายเป็นภูเขจาในที่สุด

เมื่อเก็บไว้นาน ยิ่งสะสม ค่ากำจัดยิ่งแพง ... จนไม่สามารถจ่ายค่ากำจัดได้ เลือกแก้ปัญหาด้วยการปิดไว้

“ประหยัดค่ากำจัดของเสีย” นี่อาจเป็นเหตุผลที่ “กากส่า” ถูกเก็บมานานจนเกิดเรื่อง หรือไม่ !!