ปริมาณก๊าซมีเทนสูง เสี่ยงต่อการระเบิด (คลิป) (23 พ.ย. 59)
PPTV 23 พฤศจิกายน 2559
ปริมาณก๊าซมีเทนสูง เสี่ยงต่อการระเบิด
เรามีข้อมูลที่น่าสนใจเกี่ยวกับบ่อกักเก็บน้ำกากส่าหรือน้ำเสียของโรงงานแห่งนี้ โดยเฉพาะชนิดและปริมาณของก๊าซ ที่อัดแน่นอยู่ภายใน ซึ่งหากไม่ได้รับการแก้ไขโดยเร็วอาจเสี่ยงที่จะเกิดระเบิดขึ้น ขณะที่ความเข้มข้นของก๊าซที่รั่วไหลออกไปมีอันตรายกับชุมชนใกล้เคียง
ปริมาณก๊าซมีเทนสูง เสี่ยงต่อการระเบิด (คลิป)
บ่อที่เห็นนี้ ต้องย้ำ ว่าเป็นบ่อกักเก็บน้ำเสียโรงงานผลิตเอทานอลของบริษัท ไทยอะโกร เอ็นเนอร์ยี่ จำกัดมหาชน จ.สุพรรณบุรี ที่ใช้พลาสติกคลุมปิดไว้ ไม่ใช่บ่อที่สร้างไว้เพื่อผลิตก๊าซโดยตรง จึงไม่มีท่อส่งหรือท่อระบายก๊าซไปใช้ การโป่งพองของพลาสติกที่ใช้คลุม เกิดจากการหมักหมมกันภายในบ่อ ทำให้เกิดก๊าซอัดแน่นอยู่ด้านใน ปริมาณก๊าซที่อัดแน่นอยู่นี่เองที่กำลังเป็นปัญหา
ตามข้อมูลของโรงงานที่ให้ไว้กับทีมข่าว พีพีทีวี จะพบว่า บ่อแห่งนี้ มีปริมาณก๊าซสะสมอยู่มากถึง 200,000 ลูกบาศก์เมตร มีก๊าซที่เกิดใหม่ทุกชั่วโมงๆละ 3,000 ลูกบาศก์เมตร ขณะนี้โรงงานใช้วิธีการจัดการด้วยการเผาทิ้งโดยตรง วันละ 8 ชั่วโมงๆละ 3,000ลูกบาศก์เมตร เหลือ 16 ชั่วโมงที่โรงงานไม่ได้เผาทิ้ง ทำให้มีก๊าซเกิดใหม่เฉลี่ย 48,000 ลูกบาศก์เมตรต่อวัน
ในสัดส่วนของก๊าซทั้งหมดประกอบด้วยก๊าซ 3 ตัวหลัก คือ ก๊าซมีเทน ร้อยละ 60 ก๊าซคาร์บอนไดออกไซค์ ร้อยละ 39 และก๊าซไฮโดรเจนซัลไฟด์หรือก๊าซไข่เน่า ร้อยละ 1
สัดส่วนปริมาณก๊าซทั้งหมดนี้ รศ.ดร.วีรชัย พุทธวงศ์ อาจารย์ประจำภาควิชาเคมี คณะศิลปศาสตร์และวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ให้ความเห็นว่า หากเทียบ ปริมาณก๊าซที่เกิดเพิ่มขึ้นต่อวัน กับก๊าซที่เผาทำลาย โรงงานต้องปล่อยก๊าซออกทางอื่นอีก หรือมีรอยรั่ว เพราะไม่เช่นนั้นจะไม่สามารถคงแรงตึงของแผ่นพลาสติกไว้ได้
สอดคล้องกับข้อมูลของโรงงาน ที่ระบุว่า มีรอยรั่วอยู่ 2ถึง 3 แห่งบนพลาสติกที่โป่งพองนี้ ซึ่งขณะนี้ยังไม่ทราบความเข้มข้นของก๊าซที่หลุดรอดออกไป ว่ามีมากน้อยแค่ไหน และอันตรายต่อสุขภาพของชาวชุมชนใกล้เคียงหรือไม่
ปัญหาที่ตามมานอกจากเรื่องของกลิ่นเหม็น คือ บ่อนี้เสี่ยงต่อการระเบิดหรือไม่ และหากระเบิดจะส่งผลร้ายแรงแค่ไหน จากปริมาณก๊าซที่อัดแน่นภายใน รศ.ดร.วีรชัย พุทธวงศ์ อาจารย์ประจำภาควิชาเคมี คณะศิลปศาสตร์และวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ระบุว่า หากปริมาณก๊าซมีเทนรวมกับก๊าซไฮโดรเจนซัลไฟด์หรือก๊าซไข่เน่า มีสูงกว่า ร้อยละ 60 ก็มีโอกาสเสี่ยงที่จะระเบิด หากระเบิด ลักษณะการระเบิดจะคล้ายลูกโป่งแตก รัศมีกว้าง1-2 เท่าของขนาดบ่อหรือประมาณ 400-800 เมตร ขณะชุมชนที่อยู่ใกล้บ่อที่สุดห่างออกไปเพียง 200 เมตรเท่านั้น
ผลกระทบที่จะตามมาคือ ก๊าซทั้ง 3 ตัว ถือเป็น ก๊าซพิษ และก๊าซไวไฟ หากติดไฟจะเกิดเพลิงไหม้กินบริเวณกว้างตามรัศมีการระเบิดคือ 400-800 เมตร และหากไม่ติดไฟ ก๊าซทั้งหมดนี้จะกระจายออกไป ส่งผลกระทบต่อชุมชนแน่นอ
อย่างก๊าซไฮโดรเจนซัลไฟด์ ที่โรงงานระบุว่ามีเพียงร้อยละ 1 เท่านั้น แต่เมื่อหากเทียบกับปริมาณ ก๊าซสะสมที่มีอยู่ 200,000 ลูกบาศก์เมตร ร้อยละ 1 เท่ากับ 2,000 ลูกบาศก์เมตรถือเป็นปริมาณที่มาก หากก๊าซนี้ผสมกับฝน ก็จะทำให้กลายเป็น ฝนกรด ส่วนก๊าซคาร์บอนมอนนอกไซด์ สูดดมในปริมาณ500-1,000 ต่อล้านส่วน ในเวลา 5 นาที ทำให้ขาดอากาศหายใจตายได้ และ ก๊าซมีเทน คือก๊าซหุงต้ม ติดไฟได้ง่าย