‘ไทย-ยูเอ็น’ คลอดแผนเผชิญ ‘ภัยพิบัติ’ จัดทำข้อมูลความเสี่ยง - พร้อมรับมือล่วงหน้า (22 พ.ย. 59)

Green News TV 22 พฤศจิกายน 2559
‘ไทย-ยูเอ็น’ คลอดแผนเผชิญ ‘ภัยพิบัติ’ จัดทำข้อมูลความเสี่ยง - พร้อมรับมือล่วงหน้า

“ปภ.-สภาพัฒน์-ยูเอ็น” เดินหน้าทำแผนลดความเสี่ยงภัยพิบัติ ศึกษาข้อมูลนำร่อง 2 จังหวัด ยึดโมเดลแก้ปัญหาภัยเชิงรุกทั่วประเทศ

นายสุปกิต โพธิ์ปภาพันธ์ รองอธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) กระทรวงมหาดไทย เปิดเผยในเวทีสัมมนา “ประเทศไทยกับการใช้ข้อมูลความเสี่ยงเพื่อการบริหารจัดการความเสี่ยงจากภัยพิบัติ” เมื่อวันที่ 10 พ.ย.2559 ตอนหนึ่งว่า แผนการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ พ.ศ.2558 ได้กำหนดยุทธศาสตร์ที่มุ่งเน้นการเตรียมพร้อมเพื่อลดความเสี่ยงจากสาธารณภัย รวมถึงส่งเสริมความร่วมมือระหว่างประเทศ และกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการจัดการความเสี่ยง

ทั้งนี้ ได้มีโครงการบูรณาการการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและการลดความเสี่ยงจากภัยพิบัติในการวางแผนพัฒนาในประเทศไทย หรือ MADRiD ซึ่งสำนักงานโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (UNDP) ร่วมกับสํานักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) และ ปภ.จัดทำขึ้น โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อผลักดันให้มีการใช้ข้อมูลความเสี่ยงในการวางแผนรับมือภัยพิบัติล่วงหน้าก่อนเกิดเหตุการณ์จริง ปัจจุบันดำเนินการใน 2 จังหวัดนำร่อง คือสงขลาและเชียงราย

สำหรับความเสี่ยงจากภัยพิบัติมี 4 องค์ประกอบ คือ 1.ภัย หมายถึงความเป็นไปได้ในการเกิดปรากฏการณ์ทางธรรมชาติที่อาจส่งผลร้ายแรง เช่น แผ่นดินไหว 2.ความล่อแหลม หมายถึงสภาวะการเปิดรับต่อความเสี่ยง เช่น เมืองตั้งอยู่ในพื้นที่รอยเลื่อน 3.ความเปราะบาง หมายถึงปัจจัยที่ทำให้ขาดความสามารถในการรับมือ เช่น อาคารที่ไม่ได้ถูกออกแบบให้ต้านทานแผ่นดินไหว และ 4.ศักยภาพ หมายถึงขีดความสามารถในการรับมือกับภัยของพื้นที่นั้น เช่น องค์ความรู้ของประชาชน

ขณะที่การลดความเสี่ยงจากภัยพิบัติ จะเป็นการดำเนินงานเชิงรุกที่มุ่งเน้นในการลดปัจจัยที่ก่อให้เกิดความเสี่ยงก่อนที่ภัยจะเกิดขึ้น โดยให้ความสำคัญกับการประเมินความเสี่ยงเพื่อให้รู้และเข้าใจถึงต้นเหตุของความเสี่ยง และใช้เป็นแนวทางในการวางมาตรการต่างๆ เพื่อจัดการกับต้นตอของความเสี่ยงให้น้อยลงหรือหมดไป หรือแม้จะมีความเสี่ยงหลงเหลืออยู่ก็สามารถเตรียมความพร้อมเพื่อรับมือได้อย่างมีประสิทธิภาพ

น.ส.ลดาวัลย์ คำภา รองเลขาธิการ สศช. กล่าวว่า ที่ผ่านมาประเทศไทยยังขาดการประเมินและการจัดทำแผนที่ความเสี่ยงภัยพิบัติ ซึ่งโครงการ MADRiD ที่ได้ร่วมกันศึกษามาตลอดระยะเวลากว่า 1 ปี จะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อการประเมินความเสี่ยง เพื่อให้ได้ข้อมูลที่เป็นวิทยาศาสตร์ มีความชัดเจน และสามารถนำไปใช้ประโยชน์ในการวางแผน และการวิเคราะห์ความคุ้มค่าของการลงทุนทั้งในภาครัฐ ภาคเอกชน และชุมชนได้ เพราะปัญหาของภัยพิบัตินั้นทำให้การพัฒนาประเทศในภาพรวมหยุดชะงัก ขาดความต่อเนื่อง อีกทั้งต้องเสียเวลาและงบประมาณจำนวนมากเพื่อฟื้นคืนให้กลับมาในสภาพปกติ

“สภาพัฒน์ได้เล็งเห็นความสำคัญของการสร้างความเข้าใจ และวางรากฐานการพัฒนาที่คำนึงความเสี่ยงภัยพิบัติมากขึ้น เนื่องจากตลอดช่วง 10 ปีหลังมานี้เราเผชิญกับเหตุภัยพิบัติรุนแรงบ่อยครั้ง เช่น เหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่ปี 2554 ที่สร้างความเสียหายนับเป็นมูลค่ามากถึง 1.44 ล้านล้านบาท การประสบกับแผ่นดินไหวในบางจังหวัด หรือการเจอภัยแล้งสาหัสในปีนี้ แม้จะไม่ได้รับความเสียหายเท่าประเทศอื่นๆ แต่ก็ส่งผลกระทบกับความเป็นอยู่และคุณภาพชีวิตของประชาชน ยังไม่นับรวมถึงหมอกควันไฟป่าที่ล้วนแล้วแต่เป็นเรื่องใกล้ตัวทั้งสิ้น”น.ส.ลดาวัลย์ กล่าว

นายมาร์ติน ฮาร์ท-แฮนเซน รองผู้แทน UNDP ประจำประเทศไทย กล่าวว่า แม้ไทยจะไม่ใช่ประเทศที่มีความเสี่ยงด้านภัยพิบัติสูง แต่ระยะเวลาที่ผ่านมาก็ได้แสดงให้เห็นแล้วว่าไทยเองก็ได้รับผลกระทบจากภัยธรรมชาติอยู่ไม่น้อย ไม่ว่าจะเป็นน้ำท่วม พายุ ภัยแล้ง แผ่นดินไหว หรือแม้กระทั่งสึนามิ ซึ่งหนึ่งในภารกิจของ UNDP คือการทำงานใกล้ชิดกับรัฐบาลทั่วโลก เพื่อเสาะหาหนทางเอาชนะความเสี่ยงและเดินหน้าการพัฒนาที่ยั่งยืน เพื่อปกป้องเศรษฐกิจ สังคม และประชาชนโดยรวม

นายมาร์ติน กล่าวอีกว่า หากจะพูดถึงการพัฒนาที่ยั่งยืน คงต้องกล่าวถึงพระราชกรณียกิจตลอดระยะเวลากว่า 70 ปี ของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ที่โครงการพระราชดำริหลายพันโครงการได้สร้างประโยชน์ให้กับปวงชนชาวไทยมหาศาล โดยเฉพาะการแก้ไขปัญหาด้านการจัดการน้ำ จนในปี 2549 องค์การสหประชาชาติได้ยกย่องและมอบรางวัลความสำเร็จสูงสุดด้านการพัฒนามนุษย์ให้เป็นบุคคลแรกและเพียงบุคคลเดียวที่เคยได้รับรางวัลดังกล่าวจวบจนปัจจุบัน

“หากพิเคราะห์ถึงงานของพระองค์ท่าน จะเห็นได้ว่าส่วนใหญ่อ้างอิงอยู่บนฐานข้อมูลที่พระองค์ได้ลงไปเก็บรวบรวมจากพื้นที่จริงและจากผู้เชี่ยวชาญ เรียนรู้จากผลกระทบในอดีตและนำมาวิเคราะห์เพื่อวางแผนการรับมือในอนาคต จึงสามารถเรียกได้ว่าเป็นกระบวนการประเมินความเสี่ยงอย่างแท้จริง ทั้งนี้ UNDP พร้อมที่จะให้การสนับสนุนรัฐบาลไทยบรรลุเป้าหมายตอบสนองหลักการความยั่งยืนสากล และดำเนินตามรอยของในหลวงรัชกาลที่ 9” นายมาร์ติน กล่าว