ครม. ชะลอโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่ กฟผ.ชี้ใช้พลังงานอื่นต้นทุนสูงเตรียมจ่ายค่าไฟฟ้าแพงขึ้น (22 พ.ย. 59)

ประชาไท 22 พฤศจิกายน 2559
ครม.ชะลอโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่ กฟผ.ชี้ใช้พลังงานอื่นต้นทุนสูงเตรียมจ่ายค่าไฟฟ้าแพงขึ้น


ที่มาภาพ เว็บไซต์ทำเนียบรัฐบาล

รัฐบาลสั่งชะลอสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่รอเพื่อฟังเสียงประชาชนส่วนใหญ่ในพื้นที่ก่อน ผู้ว่ากฟผ.เผยจะเดินหน้าศึกษาเรื่องพื้นที่ก่อสร้างโรงไฟฟ้าที่เดินเครื่องด้วยก๊าซธรรมชาติ ต้นทุนจะสูงกว่าถ่านหินส่งผลให้ภาพรวมค่าไฟฟ้าทั้งประเทศปรับเพิ่มขึ้น

22 พ.ย. 2559 รายงานข่าวจากเว็บไซต์ทำเนียบรัฐบาล ระบุว่า วันนี้ เมื่อเวลา 13.20 น. ณ บริเวณห้องโถง ตึกบัญชาการ 1 ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี แถลงภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรีการพิจารณาข้อเรียกร้องของกลุ่มเครือข่ายปกป้องอันดามันจากถ่านหินกระบี่ ที่ขอให้ยุติการสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน จ.กระบี่ ว่า รัฐบาลได้มีการชะลอแต่ไม่ได้ระงับ ขอให้เป็นข้อสรุปมาว่าประชาชนในพื้นที่ต้องการอะไร เพราะถ้าบอกอะไรมาแล้วให้ทำตามทุกอันคงไม่ใช่ เพราะรัฐบาลต้องทำตามความคิดเห็นของคนส่วนใหญ่ในพื้นที่ ประกอบกับความคิดเห็นของกลุ่มต่าง ๆ เหล่านี้ด้วย

“วันนี้ใช้คำว่า ชะลอไปก่อน ก็ยังไม่ได้สร้างอะไรทั้งสิ้น สร้างยังไม่ได้ก็ไม่ได้ แต่ก็ระวังผลกระทบที่จะเกิดขึ้นในอนาคตด้วย ไม่ได้ไปข่มขู่ใครเพียงแต่ว่าวันนี้ไฟฟ้าก็ยังติด ๆ ดับ ๆ อยู่ในภาคใต้หลายแห่งเหมือนกัน” พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว

ขณะที่ อารีพงศ์ ภู่ชอุ่ม ปลัดกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า ทางกระทรวงฯ ยังไม่ได้รับแจ้งอย่างเป็นทางการ อย่างไรก็ตาม ได้มีการเตรียมแผนรองรับไว้แล้ว เพราะต้องติดตามสถานการณ์ให้มีไฟฟ้าอย่างเพียงพอ มั่นคง โดยเมื่อโรงไฟฟ้ากระบี่ยังไม่สร้างก็ต้องเตรียมแผนนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว หรือแอลเอ็นจีเพิ่มขึ้น มาทดแทน  โดยจะเสนอต่อคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) วันที่ 8 ธันวาคมนี้  อย่างไรก็ตาม ยอมรับว่าถ่านหินเป็นเชื้อเพลิงที่มีราคาต่ำ เมื่อปรับมาใช้ก๊าซแอลเอ็นจี ก็ย่อมจะกระทบค่าไฟฟ้าให้สูงขึ้น
 
“ขณะนี้ยังเชื่อมั่นว่าโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา จังหวัดสงขลา น่าจะเกิดขึ้นได้ เพราะชาวบ้านเทพาส่วนใหญ่เห็นด้วย เข้าใจเรื่องการป้องกันผลกระทบสิ่งแวดล้อมและต้องการเห็นการจ้างงานเกิดขึ้น  ส่วนหากโรงไฟฟ้ากระบี่เกิดขึ้นไม่ได้จริง ๆ ทางกระทรวงพลังงานก็เตรียมแผนทุกด้านรองรับ ส่วนข้อเสนอเรื่องพลังงานทดแทนต้องยอมรับว่ายังไม่สามารถทดแทนได้ตลอดเวลาและมีความเสี่ยงทั้งด้านต้นทุน และราคา เช่น ปาล์มปีนี้ก็มีราคาสูง หากนำมาผลิตไฟฟ้าต้นทุนก็แพงขึ้น” นายอารีพงศ์ กล่าว
 
กรศิษฎ์ ภัคโชตานนท์ ผู้ว่าการ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ว่า กฟผ.พร้อมน้อมรับคำสั่งและได้มีการถอนคณะทำงานออกจากพื้นที่แล้วตั้งแต่เดือนมิถุนายนที่ผ่านมา เนื่องจากชุมชนในพื้นที่ไม่มีการแสดงออกชัดเจนว่าต้องการให้ก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน  ขณะที่ฝ่ายเห็นต่างก็เดินหน้าคัดค้านต่อเนื่อง ซึ่งการชะลอการก่อสร้างก็จะส่งผลให้พื้นที่ภาคใต้ขาดความมั่นคงทางไฟฟ้า เพราะปัจจุบันภาคกลางต้องส่งไฟฟ้าไปช่วยเสริมระบบ เพราะไฟฟ้าภาคใต้ไม่เพียงพอ และต้องส่งระยะทางที่ไกล  โดยปัจจุบัน กฟผ.ต้องส่งไฟฟ้าจากภาคกลางลงไปภาคใต้  200-300 เมกะวัตต์ และหากโรงไฟฟ้าในภาคใต้ซ่อมบำรุงจะต้องส่งลงไปมากถึง 500 เมกะวัตต์  ขณะที่ความต้องการใช้ไฟฟ้าภาคใต้ก็เพิ่มขึ้นร้อยละ 5-6 ต่อปี
 
“จากนี้ไป กฟผ.จึงจะเดินหน้าศึกษาเรื่องพื้นที่ก่อสร้างโรงไฟฟ้าที่เดินเครื่องด้วยก๊าซธรรมชาติ ต้นทุนจะสูงกว่าถ่านหินส่งผลให้ภาพรวมค่าไฟฟ้าทั้งประเทศปรับเพิ่มขึ้น จากปัจจุบันอยู่ที่กว่า 4 บาทต่อหน่วย” กรศิษฏ์ กล่าว
 
ที่มา เว็บไซต์ทำเนียบรัฐบาล และสำนักข่าวไทย