ชำแหละภูเขาก๊าซไข่เน่า (22 พ.ย. 59)

PPTV 22 พฤศจิกายน 2559
ชำแหละภูเขาก๊าซไข่เน่า

น่ากังวลสำหรับบ่อกักเก็บน้ำกากส่า ที่ขณะนี้จะเห็นว่าหากไม่รีบเร่งระบายก๊าซออกจากบ่อ จะเสี่ยงต่อการระเบิด ปัญหานี้มีจุดเริ่มต้นอย่างไร และจะมีแนวทางแก้ไขปัญหาอย่างไร เพื่อให้เห็นภาพที่ชัดเจนขึ้นเราจะพาไปทำความรู้จักกับ บ่อเก็บกักน้ำกากส่า หรือ ภูเขาก๊าซไข่เน่านี้

บ่อกักเก็บน้ำกากส่าที่มีปัญหานี้  มีพื้นที่ ขนาด 220 เมตร คูณ 100 เมตร ลึก 7 เมตร ใช้เก็บน้ำกากส่า ที่เหลือจากโรงงานเอทานอล 350,000 ลูกบาศก์เมตร โดยการกักเก็บทางโรงงาน ใช้ผ้าใบพลาสติกสีดำคลุมไว้  ปรากฎว่าเมื่อช่วงเดือนตุลาคมที่ผ่านมา มีน้ำฝนไหลลงไปในบ่อ ก่อให้เกิดการหมักหมม มีจุลินทรีย์เกิดขึ้น ซึ่งจุลินทรีย์นี้ ทำหน้าที่ย่อยสลายสารอินทรีย์นั้นก็คือน้ำกากส่า โดยไม่ใช้ออกซิเจน ก่อให้เกิดก๊าซตามมา หลักๆประกอบด้วยก๊าซ คาร์บอนไดออกไซค์ มีเทน และไฮโดรเจนซัลไฟด์ และนี้เป็นสาเหตุให้ผ้าใบพลาสติกโป่งพองขึ้นสูงกว่า 10 เมตร กลายเป็นภูเขาก๊าซไข่เน่าขนาดใหญ่

เมื่อเป็นเช่นนี้ ทางโรงงานพยายามแก้ปัญหา ด้วยการต่อท่อและเผาก๊าซทิ้ง ปัจจุบันต่อท่อ เล็กๆออกมา 4 ท่อ เรียงกันทางด้านขวาของบ่อ โดย เผาก๊าซทิ้งได้วันละ3,000 ลูกบาศก์เมตรต่อชั่วโมง จากปริมาณก๊าซสะสมทั้งหมดในบ่อ 200,000 ลูกบาศก์เมตร  และยังมีก๊าซเกิดใหม่ทุกชั่วโมงๆละ 3,000 ลูกบาศก์เมตร  ซึ่งโรงงานพยายามเผาก๊าซทิ้งตั้งแต่เดือนตุลาคมที่ผ่านมา แต่ปริมาณก๊าซก็ยังไม่ลดลง การเผาก๊าซทิ้งนี่เอง ที่ทำให้เกิดมลภาวะสร้างปัญหาเรื่องกลิ่นกับชาวบ้านในชุมชนใกล้เคียง ขณะที่อุตสาหกรรมจังหวัดสุพรรณบุรี มีคำสั่งห้ามโรงงานเผาก๊าซอีก

จึงเกิดคำถามตามมาว่า แล้วจะแก้ปัญหานี้อย่างไร โดยโรงงานบอกว่าหากไม่ระบายก๊าซออกก็เสี่ยงที่ ภูเขาก๊าซไข่เน่านี้จะระเบิด อุตสาหกรรมจังหวัดสุพรรณบุรี จึงแนะนำให้โรงงานต่อท่อเพิ่มเป็น 6 ท่อ และนำก๊าซในบ่อนี้ ย้ายไปยังบ่อบำบัดก๊าซของโรงงาน โดยต้องระบายก๊าซตลอด 24 ชั่วโมง เฉลี่ยชั่วโมงละ 4,200 ลูกบาศก์เมตร คาดว่า ภายใน 2 เดือน ภูเขาก๊าซแห่งนี้จะยุบลง ก๊าซส่วนหนึ่งจะถูกนำไปใช้ผลิตไฟฟ้า ส่วนหนึ่งหลังการบำบัดจะถูกปล่อยทิ้ง ซึ่งมาตรการนี้ทางโรงงานระบุว่าจะสามารถเริ่มทำได้ในวันพฤหัสฯนี้

หมายเหตุ *แก้ไขข้อมูลการเผาก๊าซทิ้ง  3,000 ลบ.ม./ชม. เผาเฉพาะตอนกลางวัน ประมาณ 8 ชม.ต่อวัน