มาบตาพุดกับบทเรียนขยะอุตสาหกรรม (30 เม.ย. 56)
ไทยพับลิก้า 30 เมษายน 2013
มาบตาพุดกับบทเรียนขยะอุตสาหกรรม
จาก "Love Canal" ในเมืองนิวยอร์ค สหรัฐอเมริกา เรื่อยมาถึง “มินามาตะ ประเทศญี่ปุ่น
เป็น "บทเรียน" สำคัญที่ยืนยันถึง "ภยันตราย" จากของเสียจากอุตสาหกรรม
ทั้ง 2 เหตุการณ์มีสาเหตุมาจากการกำจัดของเสียอย่างไม่ได้มาตรฐาน ทำให้ “สารเคมี” จากการผลิตแพร่กระจายออกสู่สิ่งแวดล้อม จนมีผลต่อสุขภาพของคนในพื้นที่อย่างร้ายแรง
แม้ในท้ายที่สุด กระบวนการยุติธรรมของทั้ง 2 ประเทศจะ “ลงดาบ” ให้บริษัทเอกชนชดเชยค่าเสียหายให้กับผู้ได้รับผลกระทบ แต่กระนั้นก็ไม่อาจเพียงพอกับความสูญเสียที่เกิดขึ้น
ในประเทศไทยเอง การลักลอบทิ้งกากอุตสาหกรรมที่เกิดจากความ "มักง่าย" เพื่อต้องการลดต้นทุนยังคงเป็นเรื่องที่พบเห็นอยู่บ่อยครั้ง และแทบทุกครั้งผู้ที่ตกเป็น "เหยื่อ" ก็หนีไม่พ้นประชาชนที่อยู่อาศัยในบริเวณนั้น
การลักลอบทิ้งขยะพิษอุตสาหกรรม ที่ต.มาบไผ่ อ.บ้านบึง จ.ชลบุรี เมื่อประมาณเดือนมีนาคม 2556
พื้นที่ “มาบตาพุด” ก็เช่นกัน
การเติบโตของภาคอุตสาหกรรมจากโครงการพัฒนาอุตสาหกรรมบริเวณชายฝั่งทะเล ตะวันออก หรืออีสเทิร์นซีบอร์ด ทำให้ปริมาณขยะในพื้นที่ดังกล่าวเพิ่มมากขึ้นหลายเท่าตัวจนกลายเป็นปัญหาเรื้อรัง
โดยเฉพาะอย่างยิ่งขยะจากภาคอุตสาหกรรม ซึ่งหากไม่ได้รับการจัดการอย่างถูกต้องเหมาะสม นอกจากเรื่องกลิ่นแล้ว “สารเคมี” เหล่านี้จะรั่วซึมลงดินและแหล่งน้ำในที่สุด
ข้อมูลจากกรมโรงงานอุตสาหกรรมระบุว่า ในปี 2552 จังหวัดระยองมีวัตถุอันตรายที่ผู้ประกอบการได้อนุญาตให้นำเข้าและมีไว้ครอบ ครองประมาณ 36,600 ตัน โดยอยู่ในเขตนิคมอุตสาหกรรม 24,500 ตัน นอกเขตนิคมอุตสาหกรรม 12,100 ตัน
ในเขตควบคุมมลพิษมีปริมาณกากของเสียจากอุตสาหกรรมประมาณ 2.2 ล้านตัน แบ่งเป็นกากของเสียที่ไม่อันตราย 1.4 ล้านตัน ของเสียอันตราย 8.4 แสนตัน จาก 166 โรงงาน คิดเป็น 67 เปอร์เซ็นต์ของปริมาณของเสียอันตรายทั้งหมดที่เกิดขึ้นในจังหวัดระยอง
โดยพื้นที่ที่มีปริมาณของเสียอุตสาหกรรมมากที่สุดในเขตควบคุมมลพิษคือ ตำบลมาบตาพุด ตามด้วยตำบลห้วยโป่ง และตำบลบ้านฉาง
อย่างไรก็ตาม ของเสียจากภาคอุตสาหกรรมในจังหวัดระยองถูกนำไปกำจัดในลักษณะต่างๆ กัน อาทิ ส่งออกไปต่างประเทศ การนำไปฝังกลบ การนำไปบำบัด การใช้ซ้ำ และการใช้ประโยชน์ในรูปของพลังงาน
งานวิจัยเรื่อง “ขยะกับการเติบโตอุตสาหกรรม” โดยโครงการสารสนเทศเพื่อการจัดตั้งศูนย์เฝ้าระวังสิ่งแวดล้อมและสุขภาพภาคประชาชน มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี ได้ทำการศึกษาปัญหาการจัดการขยะของเสียอุตสาหกรรม กรณีของบริษัทบริหารและพัฒนาเพื่ออนุรักษ์สิ่งแวดล้อมจำกัด (มหาชน) หรือ เจนโก้ ซึ่งถูกตั้งขึ้นจากนโยบายของรัฐบาลในปี 2537 โดยมีการให้บริการด้วยระบบต่างๆ ดังนี้
1. ระบบปรับเสถียรและทำให้เป็นของแข็ง ด้วยการทำลายฤทธิ์กากของเสียที่เป็นพิษแล้วทำให้เป็นของแข็งก่อนที่จะนำไปฝัง
2. ระบบฝังกลบ โดยการปูพื้นหลุมฝังกลบด้วยวัสดุต่างๆ เพื่อป้องกันการรั่วซึมของกากของเสียจากหลุมฝังกลบ
3. ระบบกากเชื้อเพลิง เป็นการปรับสภาพกากของเสียที่มีความร้อนให้เป็นพลังงาน
4. ระบบบำบัดน้ำเสีย โดยนำกากตะกอนที่เกิดจากการบำบัดน้ำเสียไปฝังกลบ
5. ระบบการจัดเก็บและขนส่งกากของเสีย
แม้บริษัทเจนโก้จะมีวัตถุประสงค์หลักในการจัดการกับกากขยะอุตสาหกรรมที่เกิดขึ้นในพื้นที่อีสเทิร์นซีบอร์ด แต่ปรากฎให้เห็นบ่อยครั้งว่าการจัดการกากอุตสาหกรรมของบริษัทเจนโก้ยังคงมีปัญหาอยู่ และเคยมีการลักลอบนำขยะอุตสาหกรรมจากจังหวัดระยอง ซึ่งเป็นถังเหล็กจำนวนมากที่บรรจุสารเคมีที่เป็นพิษต่อสิ่งแวดล้อมไปฝังกลบ ที่ตำบลกลางดง อำเภอปากช่อง จังหวัดนครราชสีมา ด้วยวิธีการที่ไม่ถูกต้องในการกำจัดขยะ ทำให้กากของเสียอันตรายตกหล่นอยู่บนพื้นดินและส่งกลิ่นเหม็นไปทั่วทั้ง บริเวณ
ในพื้นที่มาบตาพุดเองก็พบว่าการจัดการขยะอุตสาหกรรมก็ขาดประสิทธิภาพด้วย เช่นกัน โดยบริษัท ระยองไวร์ อินดัสตรีส์ จำกัด มีการร้องเรียนไปถึงบริษัทจนโก้รวมทั้งสิ้น 4 ครั้ง หลังจากพนักงานในโรงงานกว่า 200 คนต้องประสบปัญหากลิ่นเหม็นและฝุ่นละอองจากภูเขาฝังกลบขยะสารพิษของบริษัท เจนโก้ จนพนักงานหลายคนเกิดอาการคลื่นไส้ อาเจียน และมีผดผื่นตามร่างกาย รวมทั้งผลกระทบระยะยาวที่เกิดจากการสะสมของสารเคมีบางชนิด
อย่างไรก็ตาม ในปัจจุบัน บริษัทเจนโก้ได้ปิดหลุมฝังกลบกากอุตสาหกรรมในพื้นที่มาบตาพุดไปในปี 2553 และนำไปฝังกลบที่ศูนย์วิจัยและพัฒนาเพื่อการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม จังหวัดราชบุรี แทน
จะเห็นได้ว่า แม้แต่บริษัทรับกำจัดกากอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ที่ได้รับการยอมรับและมีหน่วยงาน รัฐเป็นผู้ถือหุ้น ยังมีปัญหาในการจัดการกับของเสียเหล่านี้
ดังนั้น สิ่งที่น่าห่วงคือ บริษัทเอกชนที่ได้รับอนุญาตให้ประกอบธุรกิจบำบัดและกำจัดกากของเสียจาก อุตสาหกรรมอีกประมาณ 3,000 ราย ที่อยู่ในการควบคุมโดยสำนักบริหารจัดการกากอุตสาหกรรม จะมีการดำเนินการและมาตรฐานที่ดีเพียงพอหรือไม่
นายวีรพงศ์ ไชยเพิ่ม ผู้ว่าการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย
ต่อเรื่องนี้นายวีรพงศ์ ไชยเพิ่ม ผู้ว่าการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) เคยให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวไทยพับลิก้า ซึ่งตอนหนึ่งได้กล่าวถึงเป้าหมายเรื่องการแก้ปัญหามลพิษ ขบวนการตรวจสอบและควบคุมดูแลในพื้นที่การนิคมฯว่า
“เรื่องของเสียวันนี้เป็นประเด็นร้อน มีการพูดกันถึงระบบ GPS ที่ติดตั้งในรถของบริษัทที่มาให้บริการขนขยะ กำลังมองไปไกลถึง RFID (Radio Frequency Identification) ที่ต้องเอามาคล้องติดผนึก มันเหมือนกับบัตร Easy Pass ทางด่วน สมมุติว่ารถคันนี้ใส่น้ำทิ้งที่เป็นพิษ พอปิดฝาปุ๊บก็ต้องเอาตัวนี้คล้องล็อคเข้าไป เมื่อวิ่งผ่านด่านจะอ่านและขึ้นโค้ดเลยว่าของเสียอันนี้ขออนุญาตไปบำบัดที่ ไหน พอถึงปลายทางก็จะมีตัวอ่านอีกครั้งหนึ่ง แต่ถ้าดึงหลุดขาดเมื่อไหร่ก็ใช้ไม่ได้ ตอนนี้กรมโรงงานกำลังวางระบบนี้อยู่ แต่ปัจจุบัตนเอาแค่ GPS ก่อน ติดบนหลังคารถ จากจุดนี้ไปถึงจุดนี้ขนอะไร”
ทั้งนี้ระบบการกำจัดของเสียของไทยมีการรับผิดชอบเป็นทอดๆ โรงงานที่ก่อให้เกิดของเสียกรอกแบบฟอร์มขั้นต้น ผู้ให้บริการขนส่งแบบฟอร์มขั้นที่สอง ผู้ให้บริการขนส่งกรอกแบบฟอร์มขั้นที่สาม เสร็จแล้วส่งคืนมา กระบวนการจะตรวจเช็คมาที่หน่วยงานของรัฐ ดังนั้น ถ้ามีระบบ RFID จะมีความสมบูรณ์แบบมากขึ้น
“เรื่องของขยะ จริงๆ ทางกระทรวงอุตสาหกรรมโดยกรมโรงงานเป็นคนดูแลทั้งระบบ กนอ.มีหน้าที่กำกับให้โรงงานจัดส่งเข้าสู่ระบบ ส่วนคนที่จะขึ้นทะเบียนในการให้บริการ การที่จะเป็นตัวบำบัดหรือจัดการคนขึ้นทะเบียนในการขนส่งนั้นกรมโรงงานเป็นคน ดูแลทั้งหมด การนิคมฯ เป็นแค่ผู้อำนวยความสะดวกกำกับดูแล โดยได้รับนโยบายว่าโรงงานที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยง 20 ประเภท จะต้องเข้าสู่ระบบการกรอกข้อมูลให้ครบ ซึ่งของการนิคมฯ นั้นทำครบ 100 เปอร์เซ็นต์”
นายวีรพงศ์กล่าวต่อว่าเพราะฉะนั้นมี 3 ภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง คือ ต้นทาง คนขนส่ง และคนกำจัด ต้องแก้ในภาพรวมทั้งหมด คนที่เป็นต้นทางต้องเข้าสู่ระบบ เปิดเผย ไม่ใช่แอบเอาไปทิ้งกับพวกมูลฝอยนี่ไม่ได้นะ ซึ่งตรงนี้ถามว่าคุมได้ไหม คุมได้ เพราะตอนที่ผู้ประกอบการขออนุญาตตั้งโรงงาน กนอง.ได้วิเคราะห์กระบวนการของผู้ประกอบการ แล้วผู้ประกอบการต้องบอกว่าอะไร เกิดขึ้นบ้าง ทางกนอ. รับผิดชอบตรงนั้นอยู่
“แต่ประเด็นคนที่ขนส่งนี่จะเอาอย่างไร จะเอา GPS มาติดพอไหม หรือเอา RFID มาด้วย รถทาสีส้มให้ต่างจากรถชาวบ้านได้ไหม นี่คือสิ่งที่กรมโรงงานกำลังทำอยู่ ขึ้นทะเบียนคนที่ไม่มีคุณภาพออกไป เอาเฉพาะคนที่มีคุณภาพอยู่ คนกำจัดต้องคุมมาตรฐานอยู่ ปัญหาอันหนึ่งก็คือว่า โรงงานที่ให้บริการพวกนี้มีอยู่ 3 ประเภท คือ โรงงานประเภท 101 จำกัดของเสีย 105 คัดแยกและฝังกลบ 106 คือโรงงานรีไซเคิล ของเสียที่วิ่งมา 106 มันไม่สามารถรีไซเคิลได้ 100 เปอร์เซ็นต์ แล้วของเสียที่เหลือนั้นไม่ส่งกลับไปที่ 101 หรือเปล่า ต้องไปอุดรูรั่วตรงนั้น อย่างเช่น กรณีที่เกิดรูรั่วที่บางปู โรงงานที่เกิดส่วนใหญ่จะเป็น 106 คือ รีไซเคิล คัดแยก และรีไซเคิล และพอรีไซเคิลเสร็จแล้ว ส่วนที่ยังเป็น
ของเสียอยู่ไม่กำกับให้ทันหมด ระบบมันยังไม่มอนิเตอร์จนจบ ซึ่งกำลังอุดรูรั่วตรงนี้อยู่”
นายวีรพงศ์กล่าวว่า”สิ่งที่กำลังคิดอยู่ตอนนี้ ผมอยากมีระบบกำจัดของเสียครบวงจรในนิคมฯของเราเลย จะไม่ไปยุ่งกับโรงงานข้างนอกนะ ซึ่งผมจัดการได้ และผมตอบสังคมได้ นิคมฯทั่วประเทศ 46 แห่งรวมกันแล้วมีของเสียเป็นล้านตัน เบ็ดเสร็จผมกำจัดได้ล้านตัน ผมกำลังทำอยู่ อาจจะไม่ได้รวมอยู่ในพื้นที่เดียวกัน เตาเผาอาจจะอยู่นิคมนี้ ศูนย์ตรวจคัดแยกอยู่อีกนิคมหนึ่ง เพราะพวกนี้ไม่สามารถอยู่ทุกนิคมได้ ตอนนี้กำลังศึกษาอยู่ภายใน 30 กันยายนนี้ ต้องได้กรอบแนวคิดออกมาว่าแนวทางจะเป็นอย่างไร เราสำรวจของเสียว่ามีประเภทไหนบ้าง ปริมาณเท่าไหร่ กำจัดด้วยอะไร”
บทเรียนที่ถูกลืม?
ความผิดพลาดในอดีต เป็นบทเรียนสำคัญที่ถูกนำมาเป็นกรณีศึกษาในหลายเหตุการณ์ เช่นเดียวกับกรณี “Love Canal” และ “มินามาตะ” ที่เป็นบทเรียนระดับโลกจากความ “มักง่าย” ในการทิ้งกากอุตสาหกรรม “Love Canal” เป็นคลองในแถบไนแอการา มลรัฐนิวยอร์ก ที่ “William T.Love” ตั้งใจจะทำขุดเพื่อเชื่อมแม่น้ำและเตรียมไว้เพื่อการผลิตไฟฟ้าให้กับชุมชน แม่แบบ แต่ทว่าโครงการนี้ถูกยกเลิกไปเพราะมีเทคโนโลยีที่ทันสมัยในการผลิตเข้ามาแทนที่ “Love Canal” จึงกลายเป็นเพียงคลองขนาดเล็กที่เด็กๆ ในบริเวณนั้นมาเล่นน้ำกัน จนกระทั่งในปี ค.ศ. 1920 พื้นที่ดังกล่าวได้ถูกใช้เป็นที่ทิ้งขยะจากชุมชน จากนั้นอีก 22 ปีต่อมา บริษัท ฮูคเกอร์ เคมิคัล ได้ใช้พื้นที่นี้สำหรับการฝังกลบของเสียจากอุตสาหกรรม โดยได้ทำการสูบน้ำออกจากคลองและปูด้วยชั้นดินเหนียวโดยรอบเพื่อกันการรั่ว ซึม แต่ไม่สามารถที่จะป้องกันได้ เนื่องจากสิ่งที่ถูกนำมาฝังกลบนั้นเป็นสารเคมีเพื่อการผลิตสี ตัวทำละลายยาง และเรซินสังเคราะห์ สารเคมีประเภทด่าง กรดไขมัน คลอริเนต ไฮโดรคาร์บอน จึงรั่วซึมออกมาทั่วบริเวณ แม้ จะมีการแจ้งเตือนถึงการรั่วไหลของสารเคมี แต่ก็ไม่ทำให้การสร้างโรงเรียนไนแอการา ฟอลส์ ในพื้นที่เดียวกันยุติลงได้ แต่ในที่สุด อันตรายที่ซ่อนเร้นไว้ก็ได้ค่อยๆ ปรากฏออกมาให้เห็น ไม่ว่าจะเป็นการพบของเหลวสีคล้ำ หรือน้ำมันไหลออกมาจากดิน ขณะที่เด็กนักเรียนได้รับผลกระทบทางสุขภาพ เช่น มีอาการชัก หอบ หรือแม้แต่คนที่อยู่ในบริเวณใกล้เคียงจะแท้งลูก หรือคลอดลูกพิการ รวมไปถึงพืชต่างๆ ได้ล้มตายลงกระทั่ง ในปี ค.ศ.1976 มีการเปิดเผยเรื่องดังกล่าวกับสาธารณชน โดยนักข่าวของไนแอการา กาเซต ทำให้รัฐบาลสหรัฐฯเข้ามาแก้ไขปัญหาอย่างเร่งด่วน โดยย้ายครอบครัวกว่า 800 ครอบครัวที่อยู่อาศัยในบริเวณนั้นออกจากพื้นที่ พร้อมกับให้บริษัทเจ้าของสารเคมีรับผิดชอบในการชดใช้ค่าเสียหายที่เกิดขึ้น เป็นมูลค่ากว่า 129 ล้านเหรียญ ในอีกทวีปหนึ่ง เหตุการณ์ที่มีลักษณะคล้ายกันเกิดขึ้นที่เมือง “มินามาตะ” เมืองขนาดเล็กทางตอนใต้ของเกาะคิวชู ประเทศญี่ปุ่น ปัญหา เริ่มมาจากนโยบายการพัฒนาอุตสาหกรรมในปี ค.ศ. 1908 ที่บริษัทชิสโซเข้ามาตั้งโรงงานขึ้นในเมืองมินามาตะ แม้การเข้ามานั้นจะทำให้เกิดการสร้างงานสร้างเงินให้กับประชาชนในพื้นที่ แต่ทว่าอุตสาหกรรมของบริษัทชิสโซคือการผลิตสารเคมีอะซีธัลดีไฮด์ (Acetaldehyde) เพื่อใช้เป็นวัตถุดิบสำหรับอุตสาหกรรมยา น้ำหอม และพลาสติก โดยสารดังกล่าวต้องใช้เมอร์คิวรีซัลเฟต (Mercury Sulfate) เป็นตัวเร่งปฏิกริยา ส่งผลให้เกิดน้ำเสียจากกระบวนการผลิต โดยบริษัทชิสโซได้ปล่อยน้ำเสียที่ปนเปื้อนสารปรอทลงในอ่าวมินามาตะอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 1932 และเหตุที่ชาวมินามาตะส่วนใหญ่เป็นชาวประมง มีอาชีพในการจับปลาในบริเวณดังกล่าว ผลกระทบจากมลพิษทางน้ำจึงไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ ผล ของสารปรอทที่ปนเปื้อนในน้ำและสัตว์น้ำ เมื่อถูกนำไปบริโภคได้ทำให้ชาวมินามาตะเริ่มมีอาการเจ็บป่วยที่มาจากสารปรอท อาทิ กล้ามเนื้อกระตุก อาการชา กล้ามเนื้ออ่อนแรง สูญเสียประสาทการมองเห็น การได้ยิน การพูด บางรายถึงกับเสียสติ เป็นอัมพาต และเสียชีวิต นอกจากคนแล้ว สัตว์ที่กินปลาอย่างแมวก็ได้รับผลกระทบด้วย โดยไม่สามารถรวบคุมการเคลื่อนไหวได้ แม้ ว่าผลกระทบจะเกิดขึ้นในวงกว้าง บริษัทชิสโซก็ยังคงปล่อยน้ำเสียอย่างต่อเนื่องมาจนถึงปี 1968 ในที่สุดบริษัทชิสโซก็ถูกศาลบังคับให้ต้องหยุดปล่อยน้ำเสียและชดเชยค่าเสีย หายให้กับเหยื่อที่เป็นโรคมินามาตะ ซึ่งเจ็บป่วยมากกว่า 3,000 ราย และมีผู้เสียชีวิตมากถึง 1,710 ราย |