โรดแมปจัดการขยะ 26 ล้านตัน ปลดล็อกกฎหมาย-มหาดไทย เจ้าภาพหลัก (11 มี.ค. 59)
ประชาชาติธุรกิจออนไลน์ 11 มีนาคม 2559
โรดแมปจัดการขยะ 26 ล้านตัน ปลดล็อกกฎหมาย-มหาดไทย เจ้าภาพหลัก
ดร.วิจารย์ สิมาฉายา
การจัดการขยะถูกหยิบยกขึ้นเป็น "วาระแห่งชาติ" ให้ต้องเร่งแก้ไข รวมถึงนำขยะมาใช้ประโยชน์หรือนำมาผลิตไฟฟ้า แต่จนถึงขณะนี้โครงการส่วนใหญ่ยังไม่คืบหน้า ประเด็นปัญหาหลักมาจากติดกฎหมายผังเมือง และการต้องปฏิบัติตาม พ.ร.บ.การให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ ซึ่งกระบวนการดำเนินการค่อนข้างใช้เวลานาน และแม้ภาครัฐพยายามแก้ล็อกโปรเจ็กต์บริหารจัดการขยะก็ยังเกิดขึ้นน้อยมาก ที่สำคัญมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการจัดการขยะจำนวนมาก แต่ไม่มีเจ้าภาพที่ชัดเจน "ประชาชาติธุรกิจ" สัมภาษณ์ ดร.วิจารย์ สิมาฉายา อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ถึงภารกิจในการสานต่อนโยบายบริหารจัดการขยะให้เป็นจริงนี้
- สถานการณ์ขยะในปัจจุบัน
ขยะหลักปัจจุบันแบ่งเป็นขยะชุมชน ขยะทั่วไป ขยะติดเชื้อ ที่กรมควบคุมมลพิษรับผิดชอบคือ ขยะชุมชนจากบ้านเรือน ปริมาณขยะอยู่ที่ 1.1 กิโลกรัม/คน/วัน หรือ 70,000 ตัน/วัน รวมแล้วอยู่ที่ 26-27 ล้านตัน/ปี ที่ควรได้รับการจัดการที่ถูกต้อง จากกรณีบ่อขยะแพรกษา สมุทรปราการ ที่ใช้วิธีเทลงทั้งกองและเกินกว่าที่บ่อฝังกลบจะรับได้ จนกระทั่งไฟไหม้ เป็นจุดเริ่มต้นของการจัดการขยะอย่างจริงจัง
ขยะชุมชนยังถูกแยกออกเป็นขยะทั่วไป ที่มีทั้งขยะอินทรีย์ อาหาร และเป็นขยะของเสียอันตรายจากชุมชน เช่น ขยะอิเล็กทรอนิกส์ เครื่องใช้ไฟฟ้า ฯลฯ ที่ต้องแยกจัดการ ฝังกลบเหมือนขยะทั่วไปไม่ได้ ซึ่งเป็นหน้าที่ขององค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) ต้องรวบรวมแล้วขนไปจัดการ ทั่วประเทศมีองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) อาทิ อบจ. องค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) เทศบาล รวม 7,700 แห่ง แต่มีบ่อฝังกลบอยู่2,450 แห่ง มีการจัดการที่ดี 20% ที่เหลือยังคงเทกองทั้งพื้นที่ป่าและทั่ว ๆ ไป ถ้าเผาก็เกิดมลพิษทางอากาศ
เมื่อเร็ว ๆ นี้มีระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีในการบริหารจัดการขยะทั่วไป และจะต้องจัดทำแผนแม่บท แผนปฏิบัติการในรายจังหวัด มีคณะกรรมการระดับชาติ มีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรฯเป็นประธาน มีคณะกรรมการระดับจังหวัด ซึ่งผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธาน แต่เมื่อเป็นแค่ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี และกฎหมายที่เกี่ยวข้องยังไม่ได้มีการยกเลิก การบริหารจัดการขยะจึงต้องเป็นไปตามกฎหมายที่มีอยู่ คือ 1) พ.ร.บ.ส่งเสริมรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม 2) พ.ร.บ.การสาธารณสุข 3) พ.ร.บ.รักษาความสะอาด 4) พ.ร.บ.การกระจายอำนาจฯ 5) พ.ร.บ.วัตถุอันตราย
- หน่วยงานหลักจัดการขยะ
เป็นหน้าที่ของ อปท. แต่ท้องถิ่นมีภารกิจมาก นอกจากนี้ต้องรอดูว่าจะขับเคลื่อนกฎหมายใดออกมาก่อน ก่อนหน้านี้มี พ.ร.บ.ส่งเสริมและรักษาสิ่งแวดล้อม และมีระเบียบสำนักนายกฯเกี่ยวกับการจัดการขยะ แต่ใช้ไม่ได้เพราะยังมี พ.ร.บ.บังคับใช้อยู่ต้องของบฯ ผ่านแผนจังหวัด แผนปฏิบัติการจัดการคุณภาพสิ่งแวดล้อม ตาม พ.ร.บ.สิ่งแวดล้อม จากนั้นส่งงบฯไปยังสำนักงานกระจายอำนาจ ส่งต่อมหาดไทย แต่โครงการขยะจะไปกินเงินส่วนเงินอุดหนุนทั่วไป (28%) ของท้องถิ่น อย่างไรก็ตาม เมื่อมองว่าเป็นยุทธศาสตร์ชาติ ก็ควรมีงบฯ รองรับ ปัจจุบันคนมองขยะทั้งเป็นทองคำและเป็นของเสีย ทุกคนคิดว่าเมื่อนำขยะไปผลิตไฟฟ้าแล้วจะคุ้ม จริง ๆ แล้วไม่คุ้ม ที่คุ้มเพราะได้ค่าไฟฟ้าแบบ Feed in Tariff ที่อัตราค่าไฟฟ้าสูงถึง 6-7 บาท/หน่วย
- โครงการนำร่อง
ที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ให้ความสำคัญ เช่น จ.พระนครศรีอยุธยา, สมุทรปราการ, ลพบุรี, สระบุรี, ปทุมธานี โดยเฉพาะในอยุธยา มีกองขยะสะสม เมื่อ คสช.เข้ามา ของบฯไปดำเนินการ ตอนนี้มีหลุมฝังกลบ ส่วนที่เหลือได้สร้างโรงไฟฟ้าขึ้นมารองรับ ส่วนของโรงไฟฟ้าขยะจะต้องเก็บค่าจัดการที่อัตรา 250 บาท/ตัน แต่ยังมีปัญหาอีกคือท้องถิ่นไม่ต้องการเสียเงิน ในอนาคตจะต้องมีพิจารณาในประเด็นนี้
- จะมีการแก้ไข พ.ร.บ.ร่วมทุนหรือไม่
ตอนนี้กำลังหาทางออกอยู่ ก่อนหน้านี้โรงขยะส่วนใหญ่ในพื้นที่สีเขียว ก็มีการประกาศยกเว้นให้ เว้นเพียง พ.ร.บ.ร่วมทุนฯ ที่ยังไม่มีการแก้ไข ตอนนี้มีหลายแห่งที่มีปัญหา เช่น ที่ลพบุรี รัฐเข้าไปเช่าที่เอกชนเพื่อนำขยะไปกอง เอกชนถือเป็นสมบัติของเขา ไม่ยอมให้นำขยะออกจากพื้นที่ เป็นต้น
- ทำอย่างไรกับข้อจำกัด
พ.ร.บ.ร่วมทุนฯ ยังต้องตีความให้กระจ่าง แม้กระทั่งเรามีขยะในบ่อของเทศบาล นำขยะให้บริษัทเอกชนไปแล้วเราได้เงิน สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ก็ยังตำหนิว่า นำทรัพย์สินรัฐไปให้คนอื่น ๆ เรื่องนี้ต้องดำเนินการให้ชัดเจน หรือแม้แต่มีผู้มาลงทุนในที่ดินของรัฐก็ไม่สามารถจะดำเนินการได้ เพราะเข้าข่าย พ.ร.บ.ร่วมทุนฯ ขณะเดียวกันหากจะจัดทำโครงการโรงไฟฟ้าขยะ ต้องมีขยะนำมาผลิตไฟฟ้าได้ปริมาณ 300 ตัน/วันถึงจะคุ้มค่าลงทุนระบบ แต่ขยะท้องถิ่นส่วนใหญ่ค่อนข้างน้อยประมาณ 10 ล้านตัน/วันเท่านั้น เพราะฉะนั้นควรทำในรูปแบบคลัสเตอร์ แต่ยังไม่มีกฎหมายรองรับ
ที่ภาครัฐดำเนินการขณะนี้คือกระทรวงมหาดไทยรับเป็นตัวหลักในส่วนของการปรับปรุงพ.ร.บ.รักษาความสะอาดฯกระทรวงทรัพยากรฯจะดูเป็นหลักในแง่ของวิชาการตอนนี้คณะกรรมการกฤษฎีกาอยู่ระหว่างพิจารณาว่าจะต้องดำเนินการอย่างไร
- ร่าง พ.ร.บ.ขยะแห่งชาติที่เคยร่างไว้
มีการนำเสนอคณะกรรมการกฤษฎีกาไว้ว่า หากมหาดไทยจะทำก็ต้องนำเรื่องนี้ไปพิจารณาด้วย เท่าที่ฟังน่าจะมีการปรับแก้ที่ค่อนข้างมาก ที่ผ่านมากฤษฎีกาได้เชิญหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องไปให้ความเห็นแล้ว
- มหาดไทยต้องเป็นตัวหลัก
ปกติมหาดไทยจะมีคณะกรรมการพิจารณา มีการออกระเบียบ ค่าธรรมเนียมต่าง ๆ โดยเฉพาะค่าธรรมเนียมเก็บขยะที่ 10-40 บาท/ครอบครัว/เดือน ค่อนข้างต่ำ เคยมีการศึกษาไว้ หากจะให้คุ้มค่าต้องเก็บค่าธรรมเนียมที่ 200 กว่าบาท ถามว่าให้เพิ่มได้หรือไม่ ซึ่งคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีกรอบอัตราที่ 200 กว่าบาท แต่ถามว่าท้องถิ่นจะเก็บได้หรือไม่ ก็ยังเป็นปัญหาอยู่
- การดำเนินการตามโรดแมปจัดการขยะ
ในโรดแมปมีประเด็นใหญ่ ๆ คือ 1) ขยะเก่า 30 ล้านตัน จะจัดการอย่างไร หลังจากที่จัดการไปแล้ว 60% 2) ระบบบริหารจัดการที่ค่อนข้างมีปัญหา ต้องแก้ไขกฎระเบียบให้บริหารจัดการได้เหมือนคอนเซ็ปต์ที่บอก คือการรวมกลุ่มเป็นคลัสเตอร์ แต่ยังไม่มีกฎหมายรองรับ อีกส่วนคือการสร้างวินัย การรีไซเคิล ต้องทำควบคู่ไปด้วย ขณะนี้เรื่องการนำขยะไปใช้ประโยชน์ทำได้ 18% ถือว่าค่อนข้างน้อย ต้องมองถึงการนำขยะอินทรีย์มาทำประโยชน์ แยกขยะไปเข้าโรงไฟฟ้า หรือหมักทำให้เกิดแก๊สชีวภาพ
- เอกชนยื่นขอผลิตไฟจากขยะ
กระทรวงพลังงานให้โควตาผลิตไฟฟ้าจากขยะ 500 เมกะวัตต์ขณะที่มีโครงการเสนอเข้ามา 22 โครงการ ที่เปิดดำเนินการไปแล้ว 3 ที่ ส่วนที่เหลือยังอยู่ระหว่างดำเนินการ
- ความคืบหน้าแผนแม่บทบริหารขยะ
แผนแม่บทการบริหารจัดการขยะมูลฝอย 2559-2564 ผ่านคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติไปแล้ว ต้องรอการรับรองของมติคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ จากนั้นจะเสนอ ครม. แผนตั้งเป้าว่าสิ้นปี 2564 บริหารขยะทั่วไปได้ 65% ขยะตกค้าง 100% ขยะติดเชื้อ 100% ขยะอุตสาหกรรม 100% งบประมาณดำเนินการรวม 50,000 ล้านบาท แต่หากเอกชนเข้ามาลงทุนก็จะลดการใช้เงินของรัฐลงได้