นักสิ่งแวดล้อมชี้ สพฐ. ออกข้อสอบชี้นำ แฝงเจตนาหนุน "ถ่านหิน" (9 มี.ค. 59)

Thai PBS 9 มีนาคม 2559
นักสิ่งแวดล้อมชี้ สพฐ.ออกข้อสอบชี้นำ แฝงเจตนาหนุน "ถ่านหิน"

นักสิ่งแวดล้อมวิจารณ์การออกข้อสอบของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) วิชาวิทยาศาสตร์ว่าเป็นการให้ข้อมูลไม่รอบด้านเกี่ยวกับถ่านหินและทำให้เยาวชนเกิดความเข้าใจผิดเกี่ยวกับถ่านหินว่าเป็นเชื้อเพลิงที่สะอาด

กระแสวิจารณ์การออกข้อสอบของ สพฐ.เกิดขึ้นหลังจากที่ผู้บริหาร สพฐ.คนหนึ่งได้ตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับข้อสอบวิทยาศาสตร์ ระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 ที่จัดทำโดย สพฐ.ว่าเป็นการให้ข้อมูลที่ไม่ครบถ้วนเกี่ยวกับถ่านหิน โดยข้อสอบตั้งคำถามว่าเหตุใดการใช้เทคโนโลยีถ่านหินสะอาดมาผลิตกระแสไฟฟ้าจึงสามารถลดปริมาณเถ้าของถ่านหินและกำมะถันลงได้

ผู้บริหาร สพฐ.คนดังกล่าวตั้งข้อสังเกตว่าคำถามเกี่ยวกับการใช้ถ่านหินผลิตกระแสไฟฟ้าเป็นคำถามที่ต้องอยู่บนพื้นฐานของข้อมูลที่ถูกต้อง และขณะนี้ยังไม่มข้อยืนยันในทางวิชาการว่าถ่านหินเป็นพลังงานที่สะอาด

วันนี้ (9 มี.ค. 2559) นายประสิทธิชัย หนูนวล เครือข่ายปกป้องอันดามันจากถ่านหินกล่าวว่าหลังจากข้อสอบดังกล่าวได้รับการเปิดเผยต่อสาธารณะทำให้สังคมเกิดข้อสงสัยถึงเจตนาเบื้องหลังของ สพฐ.ในการออกข้อสอบเช่นนี้ว่าต้องการสนับสนุนหรือร่วมมือกับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ในการผลักดันโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินหรือไม่

นายประสิทธิชัยกล่าวว่า คำถามในข้อสอบของ สพฐ.นี้ให้ข้อมูลไม่ครบถ้วนซึ่งจะทำให้เยาวชนมีความเข้าใจผิดเกี่ยวกับถ่านหิน และมองว่าเป็นความพยายามในการลดกระแสต่อต้านการใช้ถ่านหิน ซึ่งถือเป็นเรื่องไม่ควรทำ เพราะข้อเท็จจริงจากงานวิจัยในมหาวิทยาลัยชั้นนำของโลกหรืองานวิจัยที่สหประชาชาติให้การสนับสนุน ต่างระบุว่า ถ่านหินเป็นสาเหตุสำคัญของภาวะโลกร้อน

นายธารา บัวคำศรี ผู้อำนวยการประจำประเทศไทย กรีนพีซเอเชียตะวันออกเฉียงใต้กล่าวว่า ข้อสอบวิทยาศาสตร์เช่นนี้ เป็นคำถามชี้นำ และความจริงแล้วถ่านหินสะอาดนั้นไม่มีอยู่จริง คำว่า "ถ่านหินสะอาด" (Clean Coal) เป็นเพียงคำประดิษฐ์ของอุตสาหกรรมถ่านหิน

การออกข้อสอบด้วยการตั้งคำถามเช่นนี้ สะท้อนให้เห็นถึงระเบียบวิธีและการเรียนรู้ในระบบการศึกษาไทยที่ล้าหลัง มุ่งการลดทอน ทั้งผู้สอนและผู้เรียนไม่สามารถเชื่อมโยงให้เห็นถึงความสัมพันธ์ของสรรพสิ่งต่างๆ นายธารากล่าว   

"ในทางปฏิบัติไม่มีโรงไฟฟ้าถ่านหินที่ใดที่สะอาดจริงๆ เพราะเทคโนโลยีถ่านหินสะอาด คือวิธีการปล่อยทิ้งมลพิษจากที่หนึ่งไปยังอีกที่หนึ่ง เมื่อใดที่มีการเผาไหม้ถ่านหินก็จะปล่อยสารปนเปื้อนออกมา ซึ่งอาจอยู่ในรูปของเถ้าลอย ก๊าซที่เข้าสู่ชั้นบรรยากาศ น้ำเสีย หรือกากของเสียที่ถูกทิ้งไว้หลังการเผาไหม้ ท้ายที่สุดล้วนแต่ก่อให้เกิดปัญหาสิ่งแวดล้อม แม้ว่าจะใช้เวลาวิจัยนับ 10 ปี และเสียงบประมาณการลงทุนทำการทดลองในสหรัฐฯ ถึง 5,200 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ แต่ไม่มีนักวิทยาศาสตร์คนใดสามารถทำให้ถ่านหินสะอาดได้" นายธารา ระบุ