"กม. ปิโตรเลียม" ในมือ "สนช." ติดหล่ม "กับดักผลประโยชน์" เผือกร้อนรัฐบาล "บิ๊กตู่" (21 พ.ย. 59)

ประชาชาติธุรกิจออนไลน์ 21 พฤศจิกายน 2559
"กม.ปิโตรเลียม" ในมือ "สนช." ติดหล่ม "กับดักผลประโยชน์" เผือกร้อนรัฐบาล "บิ๊กตู่"

โดย ทีมข่าวเศรษฐกิจ

ในบรรดากฎหมายที่อยู่ในขั้นพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เวลานี้มีอยู่ 1 ฉบับที่ต้องติดตามด้วยใจระทึกว่าจะทำคลอดได้สำเร็จหรือไม่ นั่นคือ ร่างแก้ไขพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ปิโตรเลียม พ.ศ.... และร่างแก้ไข พ.ร.บ.ภาษีเงินได้ปิโตรเลียม พ.ศ....

ซึ่งกระทรวงพลังงานคาดการณ์ว่า ร่างกฎหมายทั้ง 2 ฉบับน่าจะมีการพิจารณาเสร็จสิ้นในเดือนธันวาคมนี้ หลังจากคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ปิโตรเลียม และร่าง พ.ร.บ.ภาษีเงินได้ปิโตรเลียม สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ได้เคยแจ้งเลื่อนพิจารณามาแล้ว โดยสัปดาห์ที่ผ่านมา คือ วันที่ 14 และ 16 พฤศจิกายน ทางคณะกรรมาธิการได้หารือเพื่อพิจารณารับ หรือแก้หลักการของร่างกฎหมาย 2 ฉบับ และคาดว่าจะพิจารณาอีกครั้งวันที่ 21 พฤศจิกายน ซึ่งก่อนการประชุมดูเหมือนจะเกิดการชิงไหวชิงพริบระหว่าง 2 ฝ่าย

"อนันตพร" ลุ้น กม.ผ่าน ธ.ค.นี้ พร้อมประกาศเปิดประมูล 2 แหล่งใหญ่ มี.ค.60

ฝ่ายสนับสนุนอย่างกระทรวงพลังงาน โดย พล.อ.อนันตพร กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ให้สัมภาษณ์ว่า กระทรวงหารือกับคณะกรรมาธิการฯเพื่อหาข้อสรุปของ พ.ร.บ.ให้ได้ภายในเดือนธันวาคม 2559 เปิดทางให้รัฐบาลออกประกาศให้มีการประมูล 2 แหล่งปิโตรเลียมที่สัมปทานจะหมดอายุปี 2565-2566 คือแหล่งเอราวัณ ของบริษัท เชฟรอน (ประเทศไทย) และแหล่งบงกช ของบริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม หรือ ปตท.สผ. ในเดือนมีนาคม 2559 หลังจากที่ทางกรรมาธิการขอเลื่อนการสรุปผลจากเดิมเดือนตุลาคม 2559 พร้อมกับยอมรับว่าหากไม่สามารถหาข้อสรุปได้คณะกรรมาธิการอาจขอเลื่อนสรุปผลออกไปอีก ซึ่งจะมีผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุนในอุตสาหกรรมปิโตรเลียม

เพราะเดิมร่างแก้ไขกฎหมาย 2 ฉบับ ได้ขอขยายระยะเวลาต่อที่ประชุม สนช.มาแล้ว 3 ครั้ง รวม 120 วัน โดยการขอขยายครั้งแรก 30 วัน ถึงวันที่ 21 กันยายน ครั้งที่ 2 ขอขยายอีก 30 วัน ถึงวันที่ 21 ตุลาคม และครั้งที่ 3 วันที่ 13 ตุลาคม 2559 ที่ประชุม สนช.ก็เห็นชอบให้ขยายระยะเวลาการพิจารณาออกไปอีก 60 วัน ถึงสิ้นสุดวันที่ 21 ธันวาคม 2559

ระบุหากช้ากระทบลงทุนปิโตรเลียมของประเทศ

พล.อ.อนันตพรยอมรับว่าหากกฎหมาย 2 ฉบับไม่สามารถสรุปได้ตามที่กรรมาธิการแจ้งไว้ก็อาจต้องเลื่อนออกไป จึงกังวลว่าจะกระทบการลงทุนแผนผลิตก๊าซธรรมชาติของไทยก็จะล่าช้าออกไป แต่เชื่อว่าภาครัฐจะสามารถชี้แจงให้นักลงทุนโดยเฉพาะ ปตท.สผ. และเชฟรอนเข้าใจได้ เพื่อคงกำลังผลิตก๊าซในระดับปกติต่อไป

เป็นท่าทีแบ่งรับแบ่งสู้จากเจ้ากระทรวงจนทำให้เกิดความสงสัยว่า ความพยายามออกกฎหมายของกระทรวงพลังงานจะสะดุดอีกแล้ว หรืออีกมุมก็อาจมีการล็อบบี้เสียงสนับสนุนไว้เรียบร้อยแล้ว

คปพ.ระบุร่าง กม.ปิโตรเลียม แค่สัมปทานจำแลง

ด้านฝ่ายคัดค้านร่างกฎหมายทั้ง 2 ฉบับอย่างเครือข่ายประชาชนปฏิรูปพลังงานไทย (คปพ.) ก็มาตามนัด จัดแถลงข่าวก่อนการประชุมคณะกรรมาธิการเพียง 2 วัน โดย ม.ล.กรกสิวัฒน์ เกษมศรี แกนนำ คปพ. เรียกร้องให้คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างแก้ไข พ.ร.บ.ปิโตรเลียม พ.ศ.. และร่างแก้ไข พ.ร.บ.ภาษีเงินได้ปิโตรเลียม พ.ศ...อย่างรอบคอบ เนื่องจากข้อมูลไม่ครบ โดยเฉพาะเรื่องการบริหารจัดการแหล่งปิโตรเลียมในประเทศ ที่กระทรวงพลังงานเสนอให้มีการกำหนดให้มีระบบแบ่งปันผลผลิตและรับจ้างผลิตนอกเหนือจากระบบสัมปทาน ตามที่ คปพ.เรียกร้อง แต่มองว่ายังไม่มีวิธีปฏิบัติที่เพียงพอ

"ควรแก้ไขหลักการกฎหมาย เพราะร่างที่ผ่านพิจารณาวาระแรก แม้ว่าจะเพิ่ม 2 ระบบการจัดการแหล่งปิโตรเลียมเข้ามาก็จริง แต่เป็นแค่เพียงการเติมชื่อไว้เพิ่มเติมท้ายร่างเท่านั้น ไม่มีวิธีปฏิบัติที่เพียงพอ เพราะส่วนใหญ่อิงกฎหมายสัมปทานเดิม เป็นสัมปทานจำแลง จึงเห็นว่าควรจะโหวตแก้ไขหลักการ เพื่อเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) ให้ส่งกลับมาพิจารณาอีกครั้ง" ม.ล.กรกสิวัฒน์กล่าว

เป็นความกังวลจาก 2 ฝั่ง ที่มีธงเดียวกันคือ เพื่อประโยชน์ประเทศ เพียงแต่แนวคิดต่างวิธีการบริหาร ทำให้การเปิดประมูล 2 แหล่งปิโตรเลียม รวมทั้งการเปิดให้สำรวจและผลิตปิโตรเลียม รอบ 21 ล่าช้าจนยากจะคาดการณ์ว่าจะดำเนินการได้เมื่อไหร่

ปธ.กมธ.ยันพิจารณาจบเร็วแต่ต้องมีคุณภาพ

ล่าสุด พล.อ.สกนธ์ สัจจานิตย์ ประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ปิโตรเลียม และร่าง พ.ร.บ.ภาษีเงินได้ปิโตรเลียม สนช. กล่าวถึงผลการประชุมเมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายน ว่า ในภาพรวมของการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ทั้ง 2 ฉบับมีความคืบหน้าไปมาก แต่ยังไม่เสร็จสมบูรณ์ ยอมรับว่ามีกระบวนการอยากให้คณะ กมธ.วิสามัญฯถอนร่างกฎหมายออกไป แต่ยืนยันว่า คณะ กมธ.วิสามัญฯไม่มีอำนาจถอนออก เพราะ สนช.เป็นผู้รับร่างกฎหมายมา ซึ่งหากต้องการให้ถอนร่าง พ.ร.บ.ทั้ง 2 ฉบับออกไป จะต้องผ่านการพิจารณาของที่ประชุม สนช.ก่อนเท่านั้น สำหรับข้อเสนอของภาคประชาชนที่ต้องการให้มีการตั้งบรรษัทน้ำมันแห่งชาติ รัฐบาลและกระทรวงพลังงานอยู่ในระหว่างการศึกษาว่าสมควรให้มีบรรษัทดังกล่าวหรือไม่ ดังนั้นในชั้นของคณะ กมธ.จะไม่ระบุเรื่องนี้ไว้ในร่าง พ.ร.บ.ทั้ง 2 ฉบับ เพราะการศึกษาของรัฐบาลและกระทรวงพลังงานยังไม่เป็นที่ยุติ

"อยากพิจารณากฎหมายฉบับนี้ให้จบเร็วๆ เพราะรัฐบาลก็เร่งมา โดยมีมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน ก็ขอให้ สนช.เร่งกฎหมาย 2 ฉบับนี้ให้เสร็จภายในเดือนธันวาคมนี้ ผมก็พยายามเร่งให้อยู่ แต่ต้องมีคุณภาพ เร่งมากไปและไร้คุณภาพ ผมก็ถูกติติง" พล.อ.สกนธ์กล่าว

รสนาเตือน สนช.โดนถอดถอน

หากผ่าน กม.ปิโตรเลียมอย่างไรก็ตาม นางรสนา โตสิตระกูล อดีตสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) กรุงเทพมหานคร และอดีตสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ตอบโต้ว่า หากโหวตผ่านร่างกฎหมายปิโตรเลียม 2 ฉบับ ในวันที่ 21 พฤศจิกายน ซึ่งกรรมาธิการจะหารือ อดคิดไม่ได้ว่าประชาชนจะเข้าชื่อถอดถอน สนช.เหมือนกับที่เคยถอดถอน ส.ส. 310 คน ครั้งที่โหวตผ่านกฎหมายนิรโทษกรรมสุดซอยหรือไม่ เพราะหากกฎหมายผ่านก็เท่ากับว่า สนช.เป็นเครื่องมือผ่องถ่ายทรัพยากรปิโตรเลียมที่มีมูลค่าปีละ 4-5 แสนล้านบาทไปให้เอกชนทั้งที่ประชาชนคัดค้าน เป็นพฤติกรรมที่น่าจะเข้าข่ายการกระทำทุจริตเชิงนโยบายเหมือนอดีตนักการเมือง

ในมุมของผู้ผลิตก๊าซ แน่นอนย่อมสนับสนุนรัฐบาลให้เปิดประมูล แต่ก็เป็นมุมที่น่าฟังในฐานะผู้ทราบข้อมูลข้อเท็จจริง ปริมาณก๊าซในแหล่ง ที่ฝ่ายหนึ่งอยากให้เปิดประมูลสัมปทาน และอีกฝ่ายไม่เห็นด้วย

ปตท.สผ.หวั่นประมูลช้ากระทบแผนการผลิต

นายสมพร ว่องวุฒิพรชัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ ปตท.สผ. เจ้าของแหล่งสัมปทานบงกช ในอ่าวไทย กล่าวว่า สัมปทานแหล่งบงกชของ ปตท.สผ.จะหมดอายุในปี 2566 ซึ่งเดิมรัฐบาลจะออกประกาศเปิดประมูล 2 แหล่งปิโตรเลียมได้ในช่วงเดือนมีนาคม 2560 มองว่ากำหนดการดังกล่าวยังไม่ก่อให้เกิดผลกระทบในอนาคต แต่กระบวนการทั้งหมดควรแล้วเสร็จภายในไตรมาสที่ 3 ของปี 2560 และหากเลื่อนออกไปอีกและทำให้การประมูลจริงล่าช้าออกไปจากไตรมาส 3 ของปีหน้า จะส่งผลให้กระทบต่อประสิทธิภาพการผลิต การทำงานจะยากขึ้นและไม่มีคุณภาพ เพราะงานทุกงานต้องมีการวางแผนล่วงหน้า และใช้เวลาในการดำเนินงาน

พลังงานเปิดผลกระทบเปิดสัมปทาน 2 แหล่งล่าช้า

อย่างไรก็ตาม กระทรวงพลังงานได้แสดงข้อมูลผลกระทบกรณี 2 แหล่งก๊าซในอ่าวไทยขาดความต่อเนื่องในการพัฒนาและผลิต โดยระบุว่า การผลิตก๊าซธรรมชาติตามสัญญาของ 2 แปลง อยู่ที่อัตรา 2,110 ล้าน ลบ.ฟุตต่อวัน เพื่อรักษาระดับการผลิต ณ อัตรานี้ ผู้ผลิตจำเป็นต้องเจาะหลุมผลิตเพิ่มเติมทุกปี ปีละประมาณ 476 หลุม (ข้อมูลปี 2558) ซึ่งการเจาะหลุมผลิตเพื่อรักษาระดับการผลิตดังกล่าว มีแนวโน้มต้องเพิ่มจำนวนหลุมเจาะมากขึ้นทุกๆ ปี เพราะขนาดโครงสร้างแหล่งกักเก็บมีขนาดเล็กลงเรื่อยๆ

และเมื่อผู้รับสัมปทานแปลงที่จะสิ้นอายุ?ดังกล่าวไม่มีความชัดเจนว่าจะได้เป็นผู้ดำเนินการต่อ จะทำให้ผู้รับสัมปทานตัดสินใจไม่ลงทุนเจาะหลุมและติดตั้งแท่นหลุมผลิตเพิ่มเติมในช่วง 5 ปีสุดท้ายก่อนที่สัมปทานจะสิ้นอายุ คือ ตั้งแต่ปี 2561 เป็นต้นไป ซึ่งจะทำให้อัตราการผลิตก๊าซธรรมชาติของแปลงดังกล่าวจะลดลงเรื่อยๆ ในอัตราประมาณ 40% ต่อปี ทำให้คาดว่าอัตราการผลิตของแปลงจะลดลงเหลือประมาณ 300 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวันในปี 2564


นำเข้า "แอลเอ็นจี" ค่าไฟเพิ่ม 15 สต.

ส่งผลให้ปริมาณการผลิตก๊าซธรรมชาติ ในช่วงปี 2561-2568 จะหายไปประมาณ 3.045 ล้านล้านลูกบาศก์ฟุต ทำให้ต้องมีการนำเข้าแอลเอ็นจีเพิ่มขึ้น 40 ล้านตัน เพื่อทดแทนก๊าซธรรมชาติที่หายไป มูลค่า 600,000 ล้านบาท กระทบต่อไฟฟ้าผันแปรอัตโนมัติ (เอฟที) เพิ่มขึ้น 15 สตางค์ต่อหน่วย ค่าภาคหลวงลดลง 140,000 ล้านบาท ภาษีเงินได้ปิโตรเลียมลดลง 102,420 ล้านบาท และกระทบต่อการนำเข้าก๊าซหุงต้ม (แอลพีจี) 111,200 ล้านบาท วัตถุดิบสำหรับอุตสาหกรรมปิโตรเคมี

ถือเป็นความเสี่ยงที่คนไทยเห็นแล้วร้อนๆ หนาวๆ แต่ คปพ.ก็อ้างว่า หากกฎหมาย 2 ฉบับผ่านจะเสียหายมากกว่า?

นาทีนี้ก็อยู่ที่รัฐบาลว่าจะชั่งน้ำหนักเลือกฟังข้อมูลอันน่าเชื่อถือที่มีอยู่ครบถ้วน และตรวจสอบยืนยันได้ทางใด เพื่อตัดสินใจเลือกแนวทางที่เป็นประโยชน์ต่อบ้านเมืองมากที่สุด

 

ที่มา : นสพ.มติชน