ชาวแม่สายปักหลักค้าน ‘บ่อบำบัดน้ำเสีย’ จัดเวรตรึงพื้นที่ – เฝ้าทางเข้าออก 24 ชั่วโมง (21 พ.ย. 59)
Green News TV 21 พฤศจิกายน 2559
ชาวแม่สายปักหลักค้าน ‘บ่อบำบัดน้ำเสีย’ จัดเวรตรึงพื้นที่ – เฝ้าทางเข้าออก 24 ชั่วโมง
ชาวเหมืองแดง ต.แม่สาย ปักหลักเฝ้าพื้นที่ยาวยัน ม.ค.ปีหน้า กันเอกชนเข้าวางท่อบ่อบำบัดน้ำเสียเทศบาล ขณะอุทธรณ์คดีศาลปกครอง
ชาวบ้านเหมืองแดง หมู่ 2 ต.แม่สาย อ.แม่สาย จ.เชียงราย ในนามกลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมแม่สาย กางหลังคาผ้าใบปักหลักเฝ้าบริเวณจุดก่อสร้างโครงการบ่อบำบัดน้ำเสียของเทศบาล ต.แม่สาย นับตั้งแต่วันที่ 12 ต.ค.2559 ภายหลังบริษัทเอกชนที่ได้รับการว่าจ้างจากทางเทศบาล ได้มีความพยายามเข้ามาดำเนินการวางท่อในขณะที่ปัญหาการคัดค้านยังไม่ได้รับข้อสรุป และอยู่ระหว่างการอุทธรณ์คดีในชั้นศาลปกครองสูงสุด
นายจัตุรวิชช์ ดอกไม้ ประธานกลุ่มอนุรักษ์ฯ เปิดเผยว่า ก่อนหน้านี้ศาลปกครองกลางได้มีคำพิพากษายกฟ้อง และไม่ให้การคุ้มครองชั่วคราวตามที่ชาวบ้านร้องขอ ทางผู้รับเหมาจึงมีความพยายามเข้ามาก่อสร้างให้ได้ตามสัญญาว่าจ้าง ขณะที่ทางเทศบาลก็จะยกเลิกโครงการต่อเมื่อมีคำสั่งศาล ดังนั้นในระหว่างการอุทธรณ์ชาวบ้านจึงต้องเฝ้าระวังไม่ให้มีการเข้ามาดำเนินการในพื้นที่ เพราะหากมีการเริ่มต้นแล้วจะไม่สามารถหยุดยั้งได้
“เราไม่ได้คัดค้านบ่อบำบัดน้ำเสีย แต่เราคัดค้านพื้นที่ก่อสร้าง เนื่องจากโครงการนี้มาสร้างในพื้นที่ประชิดกับแม่น้ำสาย ซึ่งเป็นแม่น้ำสายหลักที่หล่อเลี้ยงชาวบ้าน และที่สำคัญคือบริเวณนั้นเป็นจุดที่น้ำไหลบ่าลงสู่แม่น้ำสายในช่วงหน้าน้ำ หากมีบ่อบำบัดน้ำเสียพื้นที่ 19 ไร่ เกิดขึ้น ก็เท่ากับจะเป็นสิ่งกีดขวางทางน้ำไหล ส่งผลให้ชาวบ้านไม่ต่ำกว่า 4 ชุมชน ใน ต.แม่สาย จะได้รับผลกระทบเรื่องน้ำท่วมอย่างแน่นอน”นายจัตตุรวิชช์ กล่าว
ทั้งนี้ ชาวบ้านกว่า 600 ครัวเรือนในหมู่บ้านเหมืองแดง ได้แบ่งเวรยามออกเป็น 4 กลุ่ม คือชุมชนบ้านกลาง ศาลเจ้า สันนา และผามควาย โดยแต่ละกลุ่มจะแบ่งออกเป็นอีก 5 หมวด หมวดละ 10 คน เพื่อผลัดกันมาเฝ้าบริเวณจุดดังกล่าวทุกวัน ตั้งแต่เวลา 7.30-19.00 น. หลังจากนั้นจึงเป็นชุดรักษาความปลอดภัย (ชรบ.) มารับช่วงเฝ้าต่อในเวลากลางคืน ซึ่งชาวบ้านตั้งเป้าหมายว่าจะเฝ้าไปจนถึงอย่างน้อยเดือน ม.ค.2560 ที่บริษัทหมดสัญญาลง
นายจัตตุรวิชช์ กล่าวว่า นับตั้งแต่ความพยายามครั้งแรกในปี 2552 จนถึงปัจจุบัน เทศบาลได้พูดถึงโครงการบ่อบำบัดน้ำเสียแห่งนี้เพียง 2 ครั้งเท่านั้น โดยหลังจากแจ้งครั้งแรกว่าจะมีการก่อสร้าง ในอีก 4 ปีถัดมาคือช่วงต้นปี 2556 ก็ชี้แจงว่าจะเริ่มก่อสร้างเลยเพราะได้รับงบประมาณแล้ว ชาวบ้านจึงต้องใช้ทุกช่องทางที่มีในการคัดค้าน เพราะรับไม่ได้ที่ถูกมัดมือชกโดยไม่มีการสอบถามความคิดเห็นใดๆ
อนึ่ง พื้นที่ก่อสร้างโครงการบ่อบำบัดน้ำเสียของเทศบาล ต.แม่สาย เป็นพื้นที่ราชพัสดุซึ่งอยู่ติดกับโครงการชลประทานเชียงรายเหมืองแดง โดยใช้งบประมาณ 260 ล้านบาท ในพื้นที่ 19 ไร่