กรมโรงงาน-ดีเอสไอ ตั้งศูนย์แก้ไขปัญหาทิ้งกากขยะอุตสาหกรรม (24 เม.ย. 56)
Thai PBS 24 เมษายน 2556
กรมโรงงาน-ดีเอสไอ ตั้งศูนย์แก้ไขปัญหาทิ้งกากขยะอุตสาหกรรม
กรมโรงงานอุตสาหกรรม ได้ร่วมกับกรมสอบสวนคดีพิเศษ ตั้งศูนย์ป้องกันและปราบปราม แก้ไขปัญหาการลักลอบนำกากขยะอุตสาหกรรมไปทิ้งในพื้นที่ต่างๆ ซึ่งส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและชุมชน โดยจะมีการลงพื้นที่ตรวจสอบสัปดาห์หน้า
กรมโรงงานอุตสาหกรรม และกรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือ ดีเอสไอ จะลงพื้นที่ตรวจสอบการทิ้งกากขยะอุตสาหกรรม ในสัปดาห์หน้า หลังพบว่ามีกากขยะอุตสาหกรรมหายจากระบบการบำบัดไปจำนวนมาก
เบื้องต้นกรมโรงงานอุตสาหกรรม และ กรมสอบสวนคดีพิเศษร่วมกัน ตั้งศูนย์ป้องกันและปราบปรามผู้มีอิทธิพลร่วมกับศูนย์ปฏิบัติการพิเศษภาค 1 และ 2 เพื่อตรวจสอบเส้นทางการขนขยะจากโรงงานไปยังโรงบำบัดของเสียว่ามีช่องโหว่ที่ ใด รวมถึงให้เจ้าหน้าที่ลงพื้นที่ตรวจสอบข้อเท็จจริงของการบำบัดกากขยะ ในโรงบำบัดของเสียที่มีอยู่ 658 โรงทั่วประเทศด้วย
นายณัฐพล ณัฎฐสมบูรณ์ อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม ที่เข้าให้ข้อมูลกับ นายธาริต เพ็งดิษฐ์ อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ โดยระบุว่า ปัจจุบันพบการทิ้งขยะที่เป็นกากขยะอันตราย และกากของเสียแพร่ระบาด ทำให้เกิดบ่อบำบัดขยะพิษเถื่อนในหลายพื้นที่ และพบตัวเลขการขนย้ายกากขยะออกนอกโรงงานไม่ตรงกับข้อมูลที่แจ้ง จึงต้องการให้กรมสอบสวนคดีพิเศษตรวจสอบหาข้อเท็จจริง
จากข้อมูลของกรมโรงงานอุตสาหกรรม พบว่า ในโรงงานที่มีของเสียอันตรายและของเสียควบคุม 20 ประเภท ทั้งกากสารเคมี กากโลหะ ขยะอิเล็กทรอนิกส์ และมีโรงงานที่มีของเสียอันตรายประมาณ 16,000 โรงงาน พบสถิติว่าใน 1 ปี มีใบแจ้งขนออกกากขยะอันตรายจากโรงงาน 2.75 ล้านตันต่อปี แต่มีใบขนจริงหรือมีการนำไปบำบัดเพียง 900,000 ตัน ดังนั้น จึงมีกากของเสียอันตรายหายไปจากระบบมากถึง 1.85 ล้านตัน
ขณะที่กากของเสียไม่อันตราย มีใบแจ้งขนออกจากโรงงาน 41.5 ล้านตัน แต่พบมีการใบขนจริงเพียง 12 ล้านตัน หายไปจากระบบ 29.5 ล้านตัน หากรวมของเสียทั้ง 2 ประเภท จะพบว่า มีกากของเสียหายออกจากระบบปีละ 31.35 ล้านตัน จากจำนวนกากขยะที่หายไป ไม่ได้รับการบำบัดมากกว่า 31 ล้านตัน สำหรับขยะที่หายไปและไม่ได้รับการบำบัด เชื่อว่าเป็นการดำเนินการเพื่อลดค่าใช้จ่ายในการบำบัด ซึ่งมีค่าใช้จ่ายในการบำบัดถึงตันละ 3,000 บาท
นอกจากนี้นายพงษ์เทพ จารุอำพรพรรณ รองอธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ข้อมูลด้วยว่า ขณะนี้ยังมีการลักลอบนำกากอุตสาหกรรมไปทิ้งในพื้นที่ต่างๆ โดยเฉพาะจังหวัดรอบๆ กรุงเทพมหานคร เช่น จังหวัดชลบุรี ระยอง ฉะเชิงเทรา ปราจีนบุรี และสมุทรปราการ ซึ่งส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและชุมชนโดยรอบ
ที่ผ่านมากรมโรงงานอุตสาหกรรม ได้หามาตรการเข้มงวดเพื่อลดปัญหา คือการออกหรือต่อใบอนุญาตโรงงาน ที่โรงงานแต่ละแห่งต้องมีคู่สัญญาที่จะรับกากอุตสาหกรรมไปบำบัดหรือทำลาย การติดสัญญาณจีพีเอสติดตามรถที่รับกากอุตสาหกรรมไปกำจัดหรือบำบัด และที่จะเร่งดำเนินการที่สำคัญคือการเข้าตรวจโรงงานรีไซเคิลกากอุตสาหกรรม อันตราย หรือโรงงานประเภท 106 ที่กระจายตัวอยู่ทั่วประเทศ 420 แห่ง