กฟผ. มึนถูกหั่นงบลงทุนปี 60 หลังโรงไฟฟ้าถ่านหินไม่คืบ ลั่นเดินหน้าพัฒนาสายส่ง (21 พ.ย. 59)

ไทยโพสต์ออนไลน์ 21 พฤศจิกายน 2559
กฟผ.มึนถูกหั่นงบลงทุนปี60 หลังโรงไฟฟ้าถ่านหินไม่คืบ ลั่นเดินหน้าพัฒนาสายส่ง

กฟผ.โอดรัฐบาลหั่นงบลงทุน 60 เหลือ 50,000 ล้านบาท หลังเผยผุดโรงไฟฟ้าถ่านหิน กระบี่-เทพาไม่คืบ พร้อมเดินหน้าพัฒนาระบบสายส่ง ฟุ้งไตรมาสแรกปีหน้า สามารถเบิกจ่ายได้ไม่ต่ำกว่า 8,000 ล้านบาท ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศตามนโยบายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์

นายกรศิษฏ์ ภัคโชตานนท์ ผู้ว่าการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เปิดเผยว่า แผนการลงทุนในปี 2560 ของ กฟผ.ได้รับอนุมัติงบลงทุนจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) วงเงิน 57,587 ล้านบาท ลดลงจากเดิมที่ตั้งเป้าลงทุน 81,000 ล้านบาท เนื่องจากโรงไฟฟ้าถ่านหิน จ.กระบี่ และ อ.เทพา จ.สงขลา ยังมีความล่าช้ากว่าแผน รวมถึงแผนก่อสร้างโรงไฟฟ้าทดแทนบางปะกงที่ต้องทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (อีเอชไอเอ) ใหม่ทำให้การลงทุนในส่วนนี้จะยังไม่เกิดขึ้น

สำหรับเงินลงทุนปี 60 จำนวน 57,587 ล้านบาท จะเน้นดำเนินการโครงการก่อสร้างสายส่งไฟฟ้า เพื่อดูแลความมั่นคงด้านไฟฟ้าและรองรับไฟฟ้าจากต่างประเทศ 31,879 ล้านบาทที่มีสัดส่วน 50% ของงบลงทุนรวม รวมถึงแผนระยะยาวและครุภัณฑ์รวม 25,707 ล้านบาท นอกจากนี้ยังมีงบประมาณสำหรับโครงการโรงไฟฟ้าทดแทน โรงไฟฟ้าแม่เมาะเครื่อง 4-7 มูลค่า 5,758 ล้านบาท นอกจากนี้ยังการสร้างโรงไฟฟ้าทดแทนโรงไฟฟ้า ระยะที่ 1 วงเงิน 3,500 ล้านบาท และโรงไฟฟ้าทดแทนโรงไฟฟ้าบางปะกง จำนวน 2,258 ล้านบาท

อย่างไรก็ตาม จากโครงการลงทุนต่างๆ นั้น กฟผ.มั่นใจว่า ในช่วงไตรมาสแรก ปี 60 จะสามารถเบิกจ่ายงบประมาณได้ไม่ต่ำกว่า 8,000 ล้านบาท ซึ่งจะเป็นส่วนสำคัญในการกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศตามนโยบายของ นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายรัฐมนตรี ที่ต้องการให้รัฐวิสาหกิจเร่งรัดเบิกจ่ายงบประมาณ

"แผนการพัฒนาระบบส่งของ กฟผ.เป็นแผนลงทุนระยะยาว 10 ปี และดำเนินการไปแล้ว 2 ปี โดยเฉพาะในพื้นที่ภาคใต้ ที่ต้องมีการพัมนาระบบส่งเพื่อส่งไฟฟ้าจากภาคกลางไปรองรับความต้องใช้ และได้เร่งดำเนินการอย่างต่อเนื่อง แม้ว่าจะมีปัญหาในเรื่องการเข้าพื้นที่ แต่ปัจจุบันได้ขจัดอุปสรรคต่อการลงทุนและจ่ายค่าทดแทนให้กับชาวบ้านในพื้นที่แล้ว เหลือเพียงการขออนุมิตจากภาครัฐ เพื่อให้พื้นที่ป่าสนวน และพื้นที่ลุ่มน้ำ ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในภาคใต้ตั้งแต่ จ.สุราษฎร์ธานี ถึง ภูเก็ต ซึ่งหากก่อสร้างเสร็จตามแผน จะช่วยเสริมความมั่นคงไฟฟ้าในภาคใต้" นายกรศิษฏ์กล่าว

นายกรศิษฏ์กล่าวว่า แนวโน้มการใช้ไฟฟ้าในปี 2560 คาดว่าจะเติบโตใกล้กับประมาณการอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจ (จีดีพี) ที่ระดับ 3-4% หรือ เติบโตสูงกว่าเล็กน้อย เนื่องจากเศรษฐกิจในประเทศยังชะลอตัวตามทิศทางเศรษฐกิจโลก ขณะที่ค่าไฟฟ้า จะใกล้เคียงกับปีนี้ เพราะต้องต้นทุนค่าเชื้อเพลิงโดยเฉพาะราคาก๊าซธรรมชาติ ยังทรงตัวตามทิศทางราคาน้ำมันดิบ

แม้ว่าจะมีปัจจัยเสี่ยง จากการเปลี่ยนประธานาธิบดีของสหรัฐอเมริกา ที่อาจมีผลต่อนโยบายเศรษฐกิจและความต้องการบริโภคน้ำมันของสหรัฐ แต่สัญญาซื้อขายก๊าซธรรมชาติ เป็นสัญญาล่วงหน้าจึงยังไม่น่าจะมีผลกระทบกับไทย อย่างไรก็ตาม คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) จะพิจารณาค่าไฟฟ้าอัตโนมัติผันแปร (เอฟที) งวดเดือน ม.ค.-เม.ย.ปี 2560 ภายในเดือน ธ.ค.นี้.