กนอ. ดึง18 นิคมฯหนุน SMEs ลงทุน นำร่อง 15 จังหวัด "เขตเศรษฐกิจพิเศษ" ให้ "บีโอไอ" จูงใจ (20 พ.ย. 59)
ประชาชาติธุรกิจออนไลน์ 20 พฤศจิกายน 2559
กนอ.ดึง18นิคมฯหนุนSMEsลงทุน นำร่อง15จังหวัดเขตเศรษฐกิจพิเศษให้บีโอไอจูงใจ
"กนอ." กันพื้นที่ 18 นิคมใหญ่หนุน SMEs ลงทุน พร้อมให้สิทธิประโยชน์บีโอไอ หากลงทุนในนิคม-เขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดน-ชายแดนใต้ ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล 8 ปี ลดหย่อนภาษีเงินได้ 50% เป็นเวลา 5 ปี, ลดหย่อนอากรขาเข้า 75% วัตถุดิบ 5 ปี, หักค่าขนส่งค่าไฟฟ้า-ประปา 2 เท่าของค่าใช้จ่าย 15 ปี ฯลฯ "วีรพงศ์" เผยนำร่องเฟสแรก 15 จังหวัด
นายวีรพงศ์ ไชยเพิ่ม ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) เปิดเผย "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า เนื่องจากภาครัฐมีนโยบายส่งเสริมและสนับสนุนตามแนวทางประชารัฐ ที่ต้องการให้ผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ลงทุนในภาคการผลิต กนอ. จึงกำหนดให้นิคมอุตสาหกรรมใหม่ทั้งที่ กนอ.ลงทุนเองและร่วมลงทุนกับเอกชน จะต้องแบ่งพื้นที่ส่วนหนึ่งให้ SMEs เพื่อตั้งโรงงานผลิต โดยจะเน้นไปยังพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดน (SEZ) ซึ่งในเฟสแรกมี 6 จังหวัด คือ อ.แม่สอด จ.ตาก, อ.อรัญประเทศ จ.สระแก้ว, พื้นที่ชายแดน จ.ตราด, พื้นที่ชายแดน จ.มุกดาหาร, อ.สะเดา จ.สงขลา และ อ.เมือง จ.หนองคาย รวมถึงพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษรูปแบบคลัสเตอร์ (Cluster) ใน 9 จังหวัด คือ จ.นครราชสีมา จ.อยุธยา จ.ปราจีนบุรี จ.ฉะเชิงเทรา จ.ชลบุรี จ.ระยอง จ.ปทุมธานี จ.เชียงใหม่ และ จ.ภูเก็ต
ขณะนี้มี 2 นิคมที่เริ่มดำเนินการแล้ว ได้แก่ 1.นิคมอุตสาหกรรมสระแก้ว พื้นที่รวมทั้งหมด 660 ไร่ แบ่งเป็นโซน SMEs พื้นที่ 60 ไร่ หรือสัดส่วนประมาณ 10% ของพื้นที่ทั้งหมด 2.นิคมอุตสาหกรรมภาคใต้ หรือ นิคมเมืองยาง (Rubber City) พื้นที่ทั้งหมด 750 ไร่ เป็นโซน SMEs พื้นที่ 50 ไร่
"สำหรับเงื่อนไขไม่ได้กำหนดละเอียดว่าต้องลงทุนเท่าไร หรือขนาดพื้นที่ในแต่ละนิคมจะต้องกันไว้เท่าไร หรือราคาเช่า ราคาซื้อต้องเท่าไร เพราะเราจะสร้างเป็นโรงงานสำเร็จรูปผู้ประกอบการสามารถนำเครื่องจักรเข้าไปติดตั้งดำเนินการผลิตได้เลย SMEs ไม่ต้องลงทุนก่อสร้างเอง"
สำหรับนิคมที่อยู่ระหว่างการพัฒนาและเตรียมการพัฒนา (ต้องจัดทำผังแม่บทและจัดทำรายงาน EIA) แบ่งเป็นพื้นที่ กนอ. ดำเนินการเองและร่วมดำเนินการกับเอกชน ซึ่งอยู่ในเขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดน ได้แก่ นิคมอุตสาหกรรมตาก จ.ตาก พื้นที่ 822 ไร่, นิคมอุตสาหกรรมหนองคาย จ.หนองคาย พื้นที่ 2,961 ไร่ และนิคมอุตสาหกรรมนราธิวาส จ.นราธิวาส พื้นที่ 1,730 ไร่ ส่วนที่อยู่ในเขตเศรษฐกิจพิเศษคลัสเตอร์ ได้แก่ นิคมอุตสาหกรรมอมตะนคร(โครงการ 2) พื้นที่คงเหลือ 8,227 ไร่, นิคมอุตสาหกรรมปิ่นทอง (โครงการ 4) พื้นที่คงเหลือ 654 ไร่, นิคมอุตสาหกรรมปิ่นทอง (โครงการ 5) พื้นที่คงเหลือ 995 ไร่, นิคมอุตสาหกรรมบ้านบึง พื้นที่คงเหลือ 1,205 ไร่นิคมอุตสาหกรรมเหมราชอีสเทิร์นซีบอร์ดแห่งที่ 2 พื้นที่คงเหลือ 1,881 ไร่, นิคมอุตสาหกรรมเหมราชอีสเทิร์นซีบอร์ดแห่งที่ 3 พื้นที่คงเหลือ 2,202 ไร่, นิคมอุตสาหกรรมยามาโตะอินดัสตรีส์ พื้นที่คงเหลือ 690 ไร่, นิคมอุตสาหกรรมระยอง (บ้านค่าย) พื้นที่คงเหลือ 908 ไร่, นิคมอุตสาหกรรมเหมราชระยอง 36 พื้นที่คงเหลือ 1,281 ไร่, นิคมอุตสาหกรรมเหมราชอีสเทิร์นซีบอร์ดแห่งที่ 4 พื้นที่คงเหลือ 2,142 ไร่, นิคมอุตสาหกรรมทีเอฟดี 2 จำนวน พื้นที่ 841 ไร่ และนิคมอุตสาหกรรมคอสมิค พื้นที่ 465 ไร่
สำหรับนิคมอุตสาหกรรมในอนาคต ซึ่ง กนอ.ดำเนินการเองอยู่ในเขตเศรษฐกิจพิเศษคลัสเตอร์ ได้แก่ นิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด พื้นที่คงเหลือ 940 ไร่
ทั้งนี้ SMEs ที่ลงทุนในนิคมและอยู่ในพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษทั้งชายแดนและชายแดนใต้ จะได้รับสิทธิประโยชน์จากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) โดยกำหนดให้ทุกประเภทกิจการที่ให้การส่งเสริมได้รับสิทธิประโยชน์ทางด้านภาษีอากรสูงสุด คือ ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล 8 ปี ลดหย่อนภาษีเงินได้นิติบุคคล 50% เป็นเวลา 5 ปี, ลดหย่อนอากรขาเข้า 75% สำหรับวัตถุดิบนำเข้ามาผลิตเพื่อจำหน่ายในประเทศเป็นเวลา 5 ปี, หักค่าขนส่งค่าไฟฟ้าและค่าประปา 2 เท่าของค่าใช้จ่ายดังกล่าวเป็นเวลา 15 ปี และหักเงินลงทุนในการติดตั้งหรือก่อสร้างสิ่งอำนวยความสะดวก 25% ของเงินลงทุนโดยมีเงื่อนไขลงทุนขั้นต่ำ 500,000 บาท (ไม่รวมค่าที่ดินและทุนหมุนเวียน) อนุญาตให้นำเครื่องจักรใช้แล้วในประเทศมาใช้ได้มีมูลราคาไม่เกิน 10 ล้านบาท และลงทุนเครื่องจักรใหม่มีมูลค่าไม่น้อยกว่า 1 ใน 4 ของมูลค่าเครื่องจักรใช้แล้ว และต้องยื่นขอรับการส่งเสริมภายในวันที่ 31 ธ.ค. 2560