สัมภาษณ์ "สมนึก จงมีวศิน" - หยุด ! แหลมฉบังเฟส 3 ก่อนสายเกิน (19 เม.ย. 56)

ประชาชาติธุรกิจออนไลน์ 19 เมษายน 2556
สมนึก จงมีวศิน หยุด ! แหลมฉบังเฟส 3 ก่อนสายเกิน

การคัดค้านการก่อสร้างท่าเรือน้ำลึกแหลมฉบังเฟส 3 และการก่อสร้างท่าเรือของบริษัทเอกชนใหม่อีก 2 แห่ง ของกลุ่มเครือข่ายประชาชนและประชาสังคมใน 8 จังหวัดภาคตะวันออกที่กำลังเป็นปัญหาบานปลาย และยังไม่สามารถหาทางออกได้ สาเหตุหลักมีที่มาที่ไปอย่างไร ดร.สมนึก จงมีวศิน นักวิจัยชุมชนอิสระ หนึ่งในแกนนำกลุ่มเครือข่ายประชาชน จะมาไขข้อข้องใจทั้งหมด

- สาเหตุที่คัดค้านแหลมฉบังเฟส 3

ช่วงระยะเวลา 20 กว่าปีที่ผ่านมา ภาคตะวันออกต้องเผชิญกับแผนพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งทะเลตะวันออก ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในพื้นที่อย่างมาก มีโครงการขนาดใหญ่เกิดขึ้นมากเกินพอดี โดยเฉพาะท่าเรือน้ำลึกแหลมฉบังเฟส 1 และเฟส 2 ที่มีการก่อสร้างเขื่อนกั้นคลื่นยื่นออกไปในทะเล ความยาวประมาณ 4 กม. และท่าเรือของเอกชนอีก 6 ท่า ที่มีหน้าท่ากว้าง 700-750 เมตรยื่นไปในทะเล และมีเขื่อนกันคลื่นที่อยู่กลางทะเลเต็มไปหมดเลย รวมกับเขื่อนของแหลมฉบังอีก 4 กิโลเมตร รวมกันทั้งหมด 6-7 กิโลเมตร ทำให้กระแสน้ำเปลี่ยนทิศทางหมด ส่งผลให้วิถีชีวิตและความเป็นอยู่ของคนในพื้นที่เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างสิ้นเชิง ชาวบ้านที่อาศัยอยู่บริเวณแหลมฉบัง อ่าวบางละมุง อ่าวนาเกลือ อ่าวอุดม ชาวบ้านและกลุ่มทำเรือประมงชายฝั่งกว่า 600 ลำสูญสิ้นพื้นที่ทำมาหากิน ปลาหลายชนิดสูญพันธุ์ เกิดการพังทลายของชายหาดถูกกัดเซาะเร็วกว่าปกติ ระบบนิเวศและสิ่งแวดล้อมเกิดการเปลี่ยนแปลงในทางหายนะ เกิดตะกอนขุ่นข้นสะสมบริเวณหน้าหาด พื้นที่ที่เคยเป็นหาดทรายกลายเป็นตะกอนเลนทับถมมาถึงบริเวณแหล่งท่องเที่ยวในตัวเมืองพัทยา

ชาวบ้านที่ทำประมงเจอเรือสินค้าใหญ่เข้ามา 20 นาทีต่อ 1 ลำ ท่าเรือน้ำลึกไม่ใช่แค่ขนสินค้า มีการต่อเรือ การซ่อมเรือ การต่อแท่นขุดเจาะน้ำมัน ต่อเรือน้ำมันขนาดใหญ่ อาจมีสารเคมีทั้งจากการขนส่งและการซ่อมเรือ รับจมเรือก็มี เวลาสินค้าเข้ามามีสารเคมีมีพิษมาด้วย มีหลายครั้งที่สารเกิดไฟไหม้ โชคดีที่ไม่มีการลุกลาม

สำหรับท่าเรือแหลมฉบังเฟส 3 จะใช้พื้นที่ประมาณ 4,125 ไร่ โดยการถมทะเลออกมาอย่างเดียว นอกจากนี้ยังมีท่าเรือแหลมฉบังเฟส 4 ในอนาคตอีก 880 ไร่ ยุทธศาสตร์สิ่งแวดล้อมเต็มแล้ว ไม่สามารถสร้างได้อีกแล้ว ก่อสร้างเพียง 2 เฟสเต็มที่แล้ว ที่สำคัญเมื่อสร้างเฟส 3 ขนาด 4,000 กว่าไร่ จะทำให้เหลือที่ทำกินประมงประมาณ 1,238 ไร่ ในจำนวนนี้เป็นที่ลุ่มที่ดอน 500-600 ไร่ เหลือ

ที่ทำกินจริงประมาณ 500 ไร่ เรามีเรือ 600 ลำ จะออกไปทำมาหากินกันอย่างไร ทำไม่ได้อยู่แล้ว เกิดปัญหาสังคมแย่งที่ทำกิน

- ท่าเรือไม่มีมาตรการป้องกันผลกระทบ

ตั้งแต่ก่อสร้างท่าเรือเฟส 1 และ 2 บอกว่าจะมีโรงบำบัดน้ำเสีย จนทุกวันนี้ยังไม่มีเลย อ้างติดปัญหาความขัดแย้งชุมชนกับท่าเรือ ท่าเรือแหลมฉบังเฟส 1 เปิดมากว่า 22 ปีแล้วยังสร้างไม่ได้อีกหรือ เมื่อมีการทวงถามจะอ้างว่ามีระบบอื่นเอาท่อดูดจากเรือไปขนทิ้ง ทางสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) ก็ไม่ว่าอะไร เพราะเป็นหน่วยงานรัฐกับรัฐ เป็น 1 ใน 6-7 เรื่องที่เราเคยเรียกร้องไป แต่ไม่พยายามแก้ อย่างเรื่องขุดคลองบางละมุง 10 ปีไม่เคยขุด พอจะสร้างท่าเรือเฟส 3 มาขอขุดคลอง เราก็บอกไม่ได้ เลี้ยงหอยอยู่ รัฐบาลพยายามสร้างความมั่นคงทางเศรษฐกิจอุตสาหกรรม แต่ลืมสร้างความมั่นคงทางอาหาร ตอนนี้ความมั่นคงทางอาหารเริ่มสั่นคลอนหมดแล้ว

- 6 ท่าเอกชนก่อปัญหามลภาวะ

ในอ่าวอุดมมีท่าเรือเอกชนมาตั้ง 6 ท่า ได้แก่ ท่าเรือของบริษัทไทยออยล์, ท่าเรือของ ปตท., เอสโซ่, เจ.ซี.มารีน, เคอรี่ สยามซีพอร์ต และสยามคอมเมอร์เชียล ปกติท่าเรือที่มีขนาดพื้นที่เกิน 10,000 ตารางเมตร ต้องจัดทำรายงานการประเมิน

ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) และการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (EHIA) ซึ่งแต่ละท่าเรือแจ้งว่าได้ปฏิบัติตามขั้นตอนถูกต้องตามกฎหมาย แต่จากคำบอกเล่าของชาวบ้าน ส่วนใหญ่ไม่ได้รับรู้การทำประชาพิจารณ์ของบริษัท รวมถึงการดำเนินโครงการที่เกิดขึ้นในท้องถิ่น แต่ละท่าเรือเวลาก่อสร้างก็ต่างคนต่างทำ ทั้งที่ควรมาวางแผนด้านยุทธศาสตร์สิ่งแวดล้อมร่วมกัน ปัญหาต่าง ๆ จึงไม่ถูกวางแผนหรือเตรียมพร้อมรับมือ จนก่อให้เกิดผลกระทบเรื้อรังมาถึงทุกวันนี้ ผลเสียไม่ได้เกิดจากท่าเรือเข้ามาอย่างเดียว

แต่การขนสินค้าทำให้เกิดฝุ่น เสียง มลภาวะทางน้ำ เพราะสินค้าที่ขนถ่ายตกลงไปกองเน่าเสีย การขนแป้งมันมีปัญหาเพราะตอนนี้ใต้น้ำมันหนาเป็นเมตร ตอนนี้หอยชักตีนเปลือกหอยเป็นรูพรุน หอยเนื้อเริ่มนิ่ม เหลว เปลือกหอยเริ่มเปื่อย ปลาหลายชนิดสูญพันธุ์ มันเริ่มชัดเจน มองในน้ำชัดเจน คราบต่าง ๆ อยู่ในน้ำ ล่าสุดคุยเรื่องคราบน้ำมัน ท่าธุรกิจน้ำมันทั้ง 3 ท่ามีโครงการที่จะช่วยขจัดหรือไม่ เอกชนบอกมี แต่เรือเล็กที่มารับน้ำมันในท่าพอออกมาหน้าท่าปั๊มน้ำทิ้ง เรียกว่าน้ำอับเฉา มีน้ำมันเปื้อนอยู่ ยังแก้ไม่ได้ บริษัทน้ำมันบอกถ้าเป็นเคสใหญ่จะแจ้งศูนย์ใหญ่ที่สิงคโปร์เข้ามาช่วยขจัด แต่นี่คราบเล็ก ๆ ช่วยขจัดสิ ไม่มีใครสนใจทำ ทำไม 3 บริษัทไม่รวมเงินตั้งกองทุนมาจัดการ

- อ่าวอุดมสัตว์น้ำแทบจะสูญพันธุ์

ชาวประมงที่อาศัยบริเวณอ่าวอุดมเคยจับปูได้ 20 กิโลกรัม ปัจจุบันจับได้ 3 กิโลกรัม ปูจะเล็กลง กุ้งจะเล็กลง ทะเลเราไม่สะอาด เราต้องปล่อยพันธุ์กุ้งพันธุ์ปูทุกปี ปัญหามันลุกลามไปถึงพัทยา คนที่ทำประมงชายฝั่งอยู่ที่ทางเรือก็ได้

ผลกระทบ ชายฝั่งมีตะกอนเลน เราจับสัตว์ทะเล 1% แต่ก็ต้องปล่อยคืน 99% จึงยังอยู่รอดได้ ผลพิสูจน์ว่ามันน้อยลงมาก จากเมื่อก่อนใช้อวน 2 กองสามารถจับกุ้งหอยได้จำนวนมาก ปัจจุบันต้องใช้อวนไม่ต่ำกว่า 10 กองจึงจะสามารถจับสัตว์น้ำได้

เท่ากับอวน 2 กอง แถมต้นปี 2555 บริษัทที่ปรึกษาของท่าเรือแหลมฉบังเคยลงพื้นที่เก็บตัวอย่างพบโลหะหนักในอ่าวบางละมุง พบทั้งตะกั่ว ปรอท โครเมียม และสัตว์น้ำเหล่านี้เมื่อชาวประมงจับได้จะถูกส่งขายไปในตลาด ได้รับผลกระทบต่อเนื่องไป

- แต่ละท่าเรือต้องทำ EIA & EHIA

ผมเคยทำงานในบริษัทข้ามชาติที่ทำหน้าที่ตรวจรับรองมาตรฐานต่าง ๆ มาแล้วหลายแห่ง คนตรวจสอบจะทราบดีว่าประเมินอย่างไรจะให้ผ่าน มันมีวิธีการ ตอนนี้เราพยายามให้ความรู้กับชาวบ้าน สิ่งที่ชุมชนต้องเรียนรู้มีอยู่ 4 รู้ ได้แก่ รู้ว่าตัวตนเราคืออะไร รู้ว่ามรดกเราคืออะไร รู้ว่าปัญหาและผลกระทบเราคืออะไร และรู้อนาคตเราจาก 3 รู้ก่อนหน้านี้ นี่คือ EIA ถ้ารู้แล้วอยู่ไม่ได้ ก็ไม่สร้าง ถ้ารู้แล้วอยู่ได้ก็สร้าง EIA ที่เหมือนตั้งตุ๊กตาไว้ EIA ทำกันเอง ไปให้เงินซื้อคนมาให้พูดให้ผ่าน แต่สำหรับเราจะไม่ให้ทำ EIA เกิดขึ้นง่าย ๆ ต้องมีกระบวนการ EIA พูดแค่สิ่งแวดล้อมกับสุขภาวะ แต่ลืมพูดถึงสังคม ความเสี่ยงสิ่งแวดล้อม ประเด็นชีวภาพ

- ทางออกในการแก้ปัญหา

ปัจจุบันแหลมฉบังมีจำนวนคนคัดค้าน 1,000 กว่าคน อ่าวอุดม 700 กว่าคน เพราะแต่ละคนอยู่ไม่ได้ แนวทางที่พยายามจะบอกมาตลอด คือ การสร้างท่าเรือในเฟส 1 และ 2 สามารถทำกิจการต่อไปได้ แต่ขอให้พอแค่นี้ อย่าสร้างเฟส 3 ต่อไปในพื้นที่นี้ เพราะว่าพวกเรารับไม่ไหวแล้ว แม้แต่ในส่วนของเฟส 2 ที่ยังไม่ได้พัฒนาก็สร้างต่อได้ เราได้ทำหนังสือชี้แจงอย่างชัดเจนไปที่วุฒิสภา การท่าเรือแห่งประเทศไทย สำนักนายกรัฐมนตรี เพื่อบอกว่าพอแล้ว แก้ปัญหาของเก่าให้ดีก่อน และล่าสุดเราได้ยื่นธรรมนูญชุมชนเพื่อการจัดการอย่างยั่งยืน โดยมีการตั้งคณะกรรมการร่วมโดยมีทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องเข้ามาร่วม แต่การเจรจาแก้ไขปัญหายังไม่มีความก้าวหน้าในทางปฏิบัติ