กฟผ.ยันเดินหน้า โรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่ ตามแผนงานที่วางไว้ น้อมสืบสานปณิธานงาน ร.9 (18 พ.ย. 59)

ประชาไท 18 พฤศจิกายน 2559
กฟผ.ยันเดินหน้า โรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่ ตามแผนงานที่วางไว้ น้อมสืบสานปณิธานงาน ร.9


กรศิษฏ์ ภัคโชตานนท์ ผู้ว่าฯ กฟผ. (ที่มาภาพ เว็บไซต์ กฟผ.)

กฟผ.ยันเดินหน้า โรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่ ตามแผนงานที่วางไว้ น้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณอย่างหาที่สุดมิได้ ชวนชาวไทยสานต่อ 9 พระราชปณิธานของรัชกาลที่ 9 ด้านบอร์ด ปตท.เห็นชอบแยกธุรกิจน้ำมันกระจายหุ้นในอนาคต 

18 พ.ย. 2559 กรศิษฏ์ ภัคโชตานนท์ ผู้ว่าการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) กล่าวว่า โรงไฟฟ้าถ่านหิน ที่ จ.กระบี่ และโรงไฟฟ้าเทพา ที่ จ.นครศรีธรรมราช ยังดำเนินการตามแผนงานที่วางไว้ ขณะที่ปริมาณไฟฟ้าสำรองมีสูงถึงร้อยละ 27 ซึ่งมากกว่ากำลังสำรองตามมาตรฐานที่ร้อยละ 15 ซึ่ง อาจจะส่งผลให้กระทรวงพลังงานชะลอการก่อสร้างโรงไฟฟ้าบางโรงออกไปก่อน

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าจะมีปริมาณสำรองไฟฟ้าเกินร้อยละ 15 แต่ก็ยังมีความจำเป็นที่จะต้องก่อสร้างโรงไฟฟ้าใหม่ เนื่องจากเทคโนโลยีโรงไฟฟ้าใหม่ จะช่วยลดต้นทุนการผลิตไฟฟ้า และ มลพิษเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งจะทำให้ค่าไฟฟ้าถูกลง

สำหรับการก่อสร้างคลังก๊าซธรรมชาติเหลว หรือ แอลเอ็นจี ในอ่าวไทย ทาง กฟผ. ได้เสนอแผนงานต่อกระทรวงพลังงาน เพื่อนำเข้าที่ประชุมคณะกรรมกาบริหารนโยบายพลังงาน หรือ กบง. ในวันนี้ ซึ่งต้องรอมติที่ประชุม กบง. ว่าจะอนุมัติให้ทาง ปตท. หรือ กฟผ. เป็นผู้ดำเนินการนำเข้า ก๊าซ แอลเอ็นจี เพื่อสร้างความมั่นคงทางพลังงาน

นอกจากนี้ ผู้ว่าการ กฟผ. ยังได้น้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณอันหาที่สุดมิได้ โดยทาง กฟผ. ได้น้อมสืบสานปณิธานงานของ พระบาทสมเด็จพระปรมินทร มหาภูมิพล อดุลยเดช ร่วมสานต่อ 9 พระราชปณิธาน ทั้งการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืน การประดิษฐ์และนวัตกรรม การดูแลรักษาป่าและน้ำ ด้านความพอเพียงและการเอาชนะความยากจน การดูแลชาวนา การศึกษา การประหยัด การเสียสละและการให้ทาน และสุดท้ายการส่งเสริมให้เป็นคนดี เพื่อเทิดพระเกียรติพระอัจฉริยภาพ ด้านวิศวกรรม การพัฒนาแหล่งน้ำ เขื่อน และ พลังงาน ที่สามารถช่วยยกระดับคุณภาพของประชาชนให้ดีขึ้นพร้อมกับสร้างความเจริญให้ประเทศอย่างยั่งยืน 

ผู้ว่าการ กฟผ. กล่าวต่อไปว่า สำหรับพระราชปณิธานด้านที่ 1 การพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืน กฟผ. ได้จัดกิจกรรมเทิดพระเกียรติ ณ เขื่อนภูมิพล จ.ตาก และ กฟผ. แม่เมาะ จ.ลำปาง โดยที่เขื่อนภูมิพล กฟผ. จัดกิจกรรม “ตามรอยเขื่อนพระราชา” ด้วยการแปรอักษรแสดงความอาลัยจากแสงเทียน เป็นคำว่า “BHUMIBOL DAM TAK ♥ ร.๙” เมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายนที่ผ่านมา มีผู้ร่วมงานกว่า 6,000 คน และหลังจากนี้ จะมีการจัดนิทรรศการเส้นทางตามรอยพ่อ ระหว่างวันที่ 16 – 18 ธันวาคม 2559 โดยจะเป็นการจัดนิทรรศการตั้งแต่จุดที่ทรงประทับแรม ณ เขื่อนภูมิพล ไปจนถึงสวนน้ำพระทัย ซึ่งเป็นสวนที่ กฟผ. จัดเทิดพระเกียรติเดิมอยู่แล้ว และ ณ ที่นี้จะมีการแสดงภาพพระราชกรณียกิจที่เกี่ยวข้องกับเขื่อนพระราชาแห่งนี้ ไปจนถึงอาคารเฉลิมพระเกียรติ

อีกกิจกรรมสำหรับปณิธานด้านนี้ กฟผ. จะจัดงาน “9 ที่สุดของหัวใจ” ระหว่างวันที่ 9 – 11 ธันวาคม 2559 ณ กฟผ. แม่เมาะ จังหวัดลำปาง เพื่อถ่ายทอดพระราชกรณียกิจผ่านพลังแห่งภาพและเสียง ได้แก่ การแสดงละครเวที ประกอบแสง สี เสียง ที่ยิ่งใหญ่ ด้วยการนำแนวพระราชดำริของพระองค์ท่านมาร้อยเรียงเป็นเรื่องราวอันซาบซึ้ง เพื่อก่อให้เกิดแรงบันดาลใจในการพัฒนาตนเอง และประเทศชาติให้ยั่งยืนต่อไป การจัดฉายภาพยนตร์เทิดพระเกียรติ ที่ได้รับแรงบันดาลใจจากกระแสพระราชดำรัสเกี่ยวกับการทำความดี การจัดแสดงบทเพลงแห่งแผ่นดิน จากวงออเคสตร้าของนักเรียนโรงเรียนในจังหวัดลำปาง จะมาขับร้องบทเพลงพระราชนิพนธ์ การจัดแสดง“ภาพแห่งความจงรัก” ซึ่งเป็นภาพเขียนบนเซรามิกชุดพิเศษ การจัดทำบทเพลง “เสียงแห่งความภักดี” โดยให้ประชาชนกล่าวความรู้สึกถึงพระองค์ และส่งมอบไปยังสำนักพระราชวัง และการจัดนิทรรศการ “ที่สุดของหัวใจ” แสดงถึงพระเมตตาที่มีต่อพสกนิกร

สำหรับ พระราชปณิธานด้านที่ 2 การประดิษฐ์และนวัตกรรม กฟผ. จะจัดโครงการ “กล้าคิด กล้าทำ ตามรอยพ่อ” เพื่อรณรงค์ให้เกิดการสร้างสิ่งประดิษฐ์ด้านการประหยัดพลังงาน และพัฒนาศักยภาพชุมชน พร้อมนำไปพัฒนาเพื่อให้สามารถใช้งานได้จริง พระราชปณิธานด้านที่ 3 การดูแลรักษาป่าและน้ำ กฟผ. เป็นหน่วยงานหลักของประเทศที่ได้มีโอกาสปลูกป่าถวาย จึงจะดำเนินโครงการ “ปกป่า ป้องน้ำ ตามรอยพ่อ” เพื่อรณรงค์ให้ชาวไทยช่วยกันอนุรักษ์และฟื้นฟูทรัพยากรป่าไม้อย่างต่อเนื่อง พระราชปณิธานด้านที่ 4 ความพอเพียงและการเอาชนะความยากจน กฟผ. น้อมนำปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาดำเนินโครงการชีววิถีเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน โดยจะจัดกิจกรรม “รักพ่อให้พอเพียง” นำชุมชนในพื้นที่รอบหน่วยงาน กฟผ. ศึกษาดูงาน ด้านการใช้ทรัพยากรอย่างรู้คุณค่าและการดำรงชีวิตตามแนวทางเศรษฐกิจพอเพียง เพื่อสร้างให้เกิดเป็นชุมชนต้นแบบเศรษฐกิจพอเพียง 89 แห่ง พระราชปณิธานด้านที่ 5 การดูแลชาวนา กฟผ. ได้ช่วยเหลือชาวนา ผ่านโครงการ “ข้าวไทย 9 ไกล ยั่งยืน” โดยให้พนักงาน กฟผ. ซื้อข้าวคนละ 9 กิโลกรัม ถวายเป็นพระราชกุศล มาตั้งแต่วันที่ 9 พฤศจิกายนจนถึงปัจจุบัน พร้อมขอความร่วมมือช่องทางการจัดจำหน่ายกับโรงเรียนในโครงการห้องเรียนสีเขียว และพิจารณาจัดหาเครื่องสีข้าวให้แก่ชาวนาในพื้นที่รอบโรงไฟฟ้า รวมทั้งจะร่วมมือกับวิทยาลัยเทคนิคของจังหวัดต่างๆ ในการปรับปรุงเครื่องสีข้าวชุมชนให้มีประสิทธิภาพดีขึ้น เพื่อช่วยลดต้นทุนการผลิต ตลอดจนจัดทำโครงการ “ข้าวชาวนา เบอร์ 5” โดยจะส่งเสริมให้ชาวนาผลิตข้าวตามมาตรฐานฉลากประหยัดไฟฟ้า เบอร์ 5 พระราชปณิธานด้านที่ 6 การศึกษา กฟผ. เตรียมจัดสร้าง “ศูนย์การเรียนรู้ศาสตร์พระราชาด้านพลังงาน ปลูกป่า และชีววิถี” บริเวณพื้นที่ สีเขียว หรือ Green Buffer ของโรงไฟฟ้าพระนครเหนือ เพื่อให้ประชาชนได้ศึกษาเรียนรู้เรื่องพลังงาน การปลูกป่า และโครงการชีววิถีเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน สำหรับนำไปใช้ในการดำเนินชีวิต พระราชปณิธานด้านที่ 7 การประหยัด กฟผ. จะรณรงค์ส่งเสริมให้ชาวไทยสวมใส่ “เสื้อเบอร์ 5” โดยเชิญชวนผู้ผลิตและผู้ประกอบการเข้าร่วมโครงการฯ และร่วมรณรงค์ให้พนักงาน กฟผ. สวมใส่เสื้อผ้าประหยัดพลังงาน พระราชปณิธานด้านที่ 8 การเสียสละและให้ทาน กฟผ. จะรณรงค์ออกหน่วยรับบริจาคโลหิตจากพนักงาน กฟผ. ในปี 2560 ผ่านกิจกรรม “890,000 หยด ทดแทนพระคุณพ่อ” เพื่อถวายเป็นพระราชกุศล และพระราชปณิธานด้านที่ 9 การส่งเสริมให้เป็นคนดี โดยจะก่อสร้างพระบรมรูปพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช พร้อม 9 คำสอนของพ่อ ณ เขื่อนภูมิพล ซึ่งเป็นเขื่อนที่ได้ชื่อว่า ‘เขื่อนของพ่อ’

“กฟผ. มีความภาคภูมิใจที่ได้มีโอกาสทำงานสนองเบื้องพระยุคลบาท พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหา ภูมิพลอดุลยเดช เสมอมา ด้วยพระปรีชาสามารถที่หลากหลาย นำมาซึ่งความสว่างไสวและความเจริญให้กับประเทศ ตลอดจนสร้างความผาสุกต่อพสกนิกร กฟผ. จึงขอน้อมดำเนินงานตามพระราชปณิธาน เพื่อสานต่อและเผยแพร่พระเกียรติคุณสืบไป” ผู้ว่าการ กฟผ. กล่าวในตอนท้าย

บอร์ด ปตท.เห็นชอบแยกธุรกิจน้ำมันกระจายหุ้นในอนาคต
ขณะที่ เทวินทร์ วงศ์วานิช ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.ปตท. เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการบริษัท ปตท.วันนี้ ( 18 พ.ย.) ได้มีมติเห็นชอบการปรับโครงสร้างธุรกิจ ปตท. โดยการโอนกิจการของหน่วยธุรกิจน้ำมัน รวมถึง สินทรัพย์และหนี้สินของหน่วยธุรกิจดังกล่าว ตลอดจนหุ้นของบริษัทที่เกี่ยวข้องให้แก่ บริษัท ปตท. ธุรกิจค้าปลีก จำกัด และการเปลี่ยนชื่อเป็น บริษัท ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (PTT Oil and Retail Business Company Limited, “PTTOR”) และการให้ PTTOR เป็นบริษัทแกน (Flagship Company) ของกลุ่มปตท. ในการดำเนินธุรกิจน้ำมันและ ค้าปลีก
 
และเห็นชอบแผนการเสนอขายหุ้นสามัญเบื้องต้นของ PTTOR ต่อประชาชนทั่วไปเป็นครั้งแรก และการนำ PTTOR เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (“การปรับโครงสร้างธุรกิจ ปตท.”) และเห็นชอบให้ ปตท .นำเสนอ การปรับโครงสร้างธุรกิจ ปตท.ดังกล่าว ต่อหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้อง เช่น กระทรวงพลังงาน คณะกรรมการนโยบาย รัฐวิสาหกิจ (“คนร.”) คณะรัฐมนตรี และที่ประชุมผู้ถือหุ้นของ ปตท. เพื่อพิจารณาอนุมัติตามกฎเกณฑ์ที่เกี่ยวข้อง ต่อไป
 
 
ที่มา สำนักข่าวไทย และเว็บไซต์ กฟผ.