เคาะแผน 'อีอีซี' 5 ปี 7.1 แสนล้านบาท (18 พ.ย. 59)

กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ 18 พฤศจิกายน 2559
เคาะแผน 'อีอีซี' 5 ปี 7.1 แสนล้านบาท


เคาะแผน 'อีอีซี' 5 ปี 7.1 แสนล้านบาท

บอร์ดเขตเศรษฐกิจพิเศษ เคาะแผนงานพัฒนาอีอีซีระยะ 5 ปี วงเงิน 7.1 แสนล้านบาท พร้อมเดินหน้าทันทีปีหน้า คาดเห็นผลใน 3 ปี ขณะที่เอกชนพร้อมขานรับ

การประชุมคณะกรรมการนโยบายการพัฒนาพื้นที่เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ (คนพ.) ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีเป็นประธานวานนี้ (17 พ.ย.) อนุมัติแผนพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก(อีอีซี)ระยะ 5 ปีและอนุมัติงบประมาณลงทุนกว่า 7 แสนล้านบาท โดยจะเริ่มตั้งแต่ปี 2560 

การอนุมัติงบประมาณและรายละเอียดโครงการที่ชัดเจน ชี้ให้เห็นว่านโยบายจะเริ่มเดินหน้าตั้งแต่ปีหน้าเป็นต้นไป โดยมีพื้นที่ราว 30,000 ไร่ ครอบคลุม 3 จังหวัด คือ ฉะเชิงเทรา ชลบุรีและระยอง 

นายปรเมธี วิมลศิริ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) กล่าวว่าที่ประชุม คนพ. มีมติเห็นชอบหลักการแผนงานพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออกปี 2560-2564 (Eastern Economic Corridor :EEC) ประกอบด้วย 12 กลุ่มย่อย รวม 173 โครงการ มูลค่ารวม 712,645.23 ล้านบาท แบ่งเป็นงบประมาณของภาครัฐ 147,434.64 ล้านบาท ส่วนที่เหลือเป็นของภาคเอกชนและรัฐวิสาหกิจ 

ขณะเดียวกันได้เห็นชอบโครงการสำคัญที่ต้องเร่งดำเนินการในปี 2560 จำนวน 48 โครงการ วงเงินรวม 6992.67 ล้านบาท โดยให้หารือรายละเอียดกับสำนักงบประมาณเพื่อของบกลางจากปีงบประมาณ 2560 ส่วนแผนการลงทุนในปี 2561 อยู่ระหว่างรวบรวมและประสานกับหน่วยงานต่างๆ แต่เบื้องต้นคาดว่าจะมีโครงการในกลุ่มอีอีซีของบประมาณบูรณาการในปี 2561 ประมาณ 20,000 ล้านบาท 

“สำหรับปี 2560 ได้เร่งรัดโครงการต่างๆ ให้เริ่มได้เร็วขึ้น เพื่อให้เห็นผลภายใน 3 ปี จึงคาดว่าจะเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อของบเพิ่มประมาณ 6,000-7,000 ล้านบาท แต่ต้องกลั่นกรองกับสำนักงบประมาณก่อนว่าตัวเลขจริงๆ จะเป็นเท่าใด”นายปรเมธีกล่าว 

สั่งสภาพัฒน์เร่งทำมาสเตอร์แพน 

นายปรเมธี กล่าวว่าที่ประชุมฯ มอบหมายให้ สศช. ปรับปรุงแผนงานพัฒนาอีอีซี ระยะ 5 ปีให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติในระยะ 20 ปีและแผนงบประมาณ พร้อมทั้งระบุประโยชน์ที่จะได้รับให้แล้วเสร็จภายใน 1 เดือน พร้อมจัดทำแผนแม่บท (Master Plan) ของอีอีซี โดยพล.อ.ประยุทธ์ สั่งการให้เพิ่ม 3 แผนงานย่อยเพื่อเสริมให้การพัฒนามีความสมบูรณ์มากขึ้น ได้แก่ 1. แผนพัฒนาด้านนวัตกรรม (EECi) ของกระทรวงวิทยาศาสตร์ ซึ่งจะทำให้พื้นที่อีอีซี เป็นเครือข่ายของสถาบันวิจัยที่สามารถเชื่อมโยงกับภาคอุตสาหกรรม รวมทั้งมีแรงงานฝีมือเฉพาะด้านและนักวิจัยไว้รองรับ 

2.แผนพัฒนาด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ (IT) ของกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เพื่อช่วยให้โครงสร้างพื้นฐานด้านไอที่มีประสิทธิภาพสูงและรองรับกิจกรรมต่างๆ ได้ พร้อมประสานกับกระทรวงมหาดไทยเพื่อพัฒนาเมืองอัจฉริยะ 

3. แผนพัฒนาด้านชุมชนและสาธารณสุข เนื่องจากต้องการสร้างความมั่นใจให้ประชาชนในพื้นที่ว่าจะมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นพร้อมกับการพัฒนาด้านเศรษฐกิจและอุตสาหกรรม สำหรับการพัฒนาด้านชุมชน เช่น การสร้างศูนย์กลางตลาดผลไม้ การประชาสัมพันธ์ให้ชุมชนในพื้นที่มีส่วนร่วมกับการพัฒนา รวมถึงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านสาธารณสุขซึ่งยังไม่เพียงพอ 

“สภาพัฒฯ จะต้องจัดทำ Master plan ของโครงการ เพราะมีอีกหลายโครงการต้องศึกษาความเหมาะสมและการออกแบบรายละเอียด และมีหลายโครงการที่ต้องจัดให้เชื่อมต่อกัน โดยจะมีการเพิ่มแผนงานที่นายกฯ สั่งในวันนี้เข้าไปใน Master Plan ซึ่งจะทำให้โครงการและเงินลงทุนมากกว่า 7 แสนล้านบาท” นายปรเมธีกล่าว 

บีโอไอเตรียมเปิดตัวใหญ่ต้นปีหน้า 

สำหรับปี 2559 มีเอกชนขอการส่งเสริมการลงทุนในรูปแบบคลัสเตอร์และอยู่ในพื้นที่อีอีซี แล้วประมาณ 18,000 ล้านบาท เช่น อุตสาหกรรมดิจิทัล รถยนต์ แผงโซลาร์เซลล์ และปิโตรเคมี และคาดว่าจะเริ่มลงทุนจริงในปี 2560 ขณะเดียวกันโครงการพัฒนาซูเปอร์คลัสเตอร์ปิโตรเคมียังแผนลงทุนอย่างต่ำ 360,000 ล้านบาทในช่วง 5 ปี 

ในปีหน้า สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ยังจะเชิญนักลงทุนและผู้เชี่ยวชาญในต่างประเทศเข้าร่วมสัมมนาในช่วงต้นปีเพื่อส่งเสริมการลงทุนในอีอีซี และจะมีการจัดโรดโชว์ในต่างประเทศเพื่อสร้างความเชื่อมั่น เช่นเดียวกับปีนี้ที่นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ได้เดินทางไปโรดโชว์ที่ฝรั่งเศสและเยอรมนี 

คาดประกาศใช้พรบ.เขตศก.พิเศษใช้ต้นปี60 

ขณะเดียวกันจะจัดตั้งศูนย์อำนวยความสะดวกและข่าวสารนักลงทุน (One stop Service) บริเวณพื้นที่แหลมฉบังหรือมาบตาพุดในปี 2560 เพื่ออำนวยความสะดวกให้นักลงทุนซึ่งคาดว่าจะเข้ามาในพื้นที่มากขึ้น พร้อมเร่งรัดโครงสร้างพื้นฐานและระบบโลจิสติกส์ในปี 2560-2561 ให้เร่งเปิดประมูล ก่อสร้างและเบิกจ่ายงบประมาณให้ได้มากที่สุด 

นายปรเมธี กล่าวถึงร่าง พ.ร.บ.การพัฒนาพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก พ.ศ. ... ว่า ขณะนี้ร่างกฎหมายยังอยู่ระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมการกฤษฎี (คณะพิเศษ) แต่นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ได้ติดตามกระบวนการออกกฎหมายให้เป็นไปอย่างรวดเร็ว โดยคาดว่าจะประกาศใช้ได้ช่วงภายในต้นปี 2560 

ส.อ.ท.ชี้เพิ่มเชื่อมั่นนักลงทุน 

นายเกรียงไกร เธียรนุกุล รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า การที่รัฐบาลอนุมัติงบลงทุนในโครงการ อีอีซี นี้ ช่วยให้นักลงทุนมีความมั่นใจลงทุนใน3 จังหวัด มากขึ้น โดยเฉพาะผู้ที่เข้ามาขอรับการส่งเสริมการลงทุนจากบีโอไอแล้ว ก็จะทำให้เกิดการลงทุนจริงในปีหน้าเพิ่มขึ้น 

นายเกรียงไกร กล่าวว่าอีอีซี ถือเป็นการต่อยอดจากโครงการอิสเทิร์นซีบอร์ด ที่มีศักยภาพอยู่แล้ว ดังนั้นเมื่อเกิดอีอีซี ก็ทำให้นักลงทุนทั้งในประเทศ และต่างประเทศตื่นตัว โดยเฉพาะในวันนี้ที่รัฐบาลกำหนดงบลงทุนระยะยาว 5 ปี อย่างชัดเจน ว่าในแต่ละปีจะลงทุนโครงสร้างพื้นฐานอะไรบ้าง ก็ยิ่งทำให้นักลงทุนมั่นใจ 

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าปัจจัยภายในประเทศต่างๆจะเป็นบวก แต่ยังมีปัจจัยลบจากต่างประเทศ โดยเฉพาะการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐ ที่นาย โดนัล ทรัมป์ ขึ้นมาเป็นประธานาธิบดี ก็เป็นปัจจัยหนึ่งที่นักลงทุนทั่วโลกจะต้องจับตาดูนโยบายสหรัฐอย่างใกล้ชิดใน 100 วันแรกของรัฐบาลทรัมป์ 

“ถ้าไม่มีผลกระทบต่อไทย การลงทุนต่างๆก็จะเข้ามาตามที่ได้ตั้งเป้าหมายไว้” 

คาดพื้นที่ 3 จังหวัดดึงดูดนักลงทุน 

ด้านนายเอกรัตน์ ทองธวัช ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมปิโตรเคมี ส.อ.ท. กล่าวว่าภาคเอกชนตื่นตัวในเรื่องอีอีซี แต่ในช่วงต้นยังไม่มั่นใจในนโยบายเพราะยังไม่เห็นความเป็นรูปธรรม ดังนั้นเมื่อรัฐบาลอนุมัติเม็ดเงินการลงทุนที่ชัดก็ทำให้เอกชนมีความมั่นใจมากขึ้น เพราะไม่เพียงแต่มีการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน แต่ยังมีการสร้างเมืองใหม่ แหล่งท่องเที่ยว และอุตสาหกรรมต่างๆอย่าง ซึ่งยิ่งเป็นแรงดึงดูดให้ทั้งนักลงทุนไทย และต่างชาติ เข้ามาลงทุนในพื้นที่ 3 จังหวัดนี้ 

นายเอกรัตน์ กล่าวว่าหลังจากที่รัฐบาลได้อนุมัติงบลงทุนก้อนใหญ่ออกมาแล้ว ต่อจากนี้ก็จะมีแผนการลงทุนในระยะสั้นต่างๆตามมา ก็จะยิ่งแสดงให้เห็นถึงความตั้งใจจริงของรัฐบาล โดยเอกชนก็ได้วางแผนโครงการต่างๆคู่ขนานไปกับการลงทุนของภาครัฐ