14 องค์กรสิทธิฯ ร้อง รบ.ไทยคุ้มครองเสรีภาพสื่อ-ไทยพีบีเอส ปม ‘เหมืองทองเลย’ ฟ้องหมิ่น (15 พ.ย. 59)

ประชาไท 15 พฤศจิกายน 2559
14 องค์กรสิทธิฯ ร้อง รบ.ไทยคุ้มครองเสรีภาพสื่อ-ไทยพีบีเอส ปม ‘เหมืองทองเลย’ ฟ้องหมิ่น

15 พ.ย. 2559 แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล (Amnesty International), อาร์ติเคิล 19 (Article 19), โครงการขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะด้านทรัพยากรแร่, คณะกรรมการคุ้มครองผู้สื่อข่าว (Committee to Protect Journalists), มูลนิธิศูนย์ข้อมูลชุมชน, มูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม, สมาพันธ์สิทธิมนุษยชนสากล (FIDH - International Federation for Human Rights), องค์กรฟอร์ติฟายไรท์ (Fortify Rights), ลอว์เยอร์ไรท์วอทช์แคนาดา (Lawyers’ Rights Watch Canada), องค์กรโพรเทกชั่น อินเตอร์เนชั่นแนล (Protection International), องค์กรผู้สื่อข่าวไร้พรมแดน (Reporters Without Borders), สมาคมเครือข่ายผู้สื่อข่าวในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (Southeast Asian Press Alliance), โครงการพัฒนาคนรุ่นใหม่เพื่อการเปลี่ยนแปลงสังคม  และมูลนิธิอาสาสมัครเพื่อสังคม ร่วมออกแถลงการณ์  เรียกร้องรัฐบาลไทยให้คุ้มครองเสรีภาพสื่อ ยกเลิกการเอาผิดทางอาญาสำหรับข้อกล่าวหาหมิ่นประมาท และปรับปรุงแก้ไขให้เนื้อหาของพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 สอดคล้องกับมาตรฐานกฎหมายระหว่างประเทศ รวมทั้งสิทธิที่จะมีเสรีภาพด้านความเห็นและด้านการแสดงออก

แถลงการณ์ ระบุว่า พวกเราเรียกร้องให้บริษัททุ่งคำ จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทประกอบกิจการเหมืองแร่ทองคำเพิกถอนการดำเนินคดีอาญาโดยทันทีและอย่างไม่มีเงื่อนไขต่อองค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย (ส.ส.ท) (สถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส) และผู้ประกอบวิชาชีพสื่อสี่ท่าน ทั้งที่ยังทำงานอยู่และเคยทำงานให้กับสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส เพื่อให้สอดคล้องกับเนื้อหาของหลักปฏิบัติของสหประชาชาว่าด้วยการดำเนินธุรกิจและสิทธิมนุษยชน (UN Guiding Principles on Business and Human Right) บริษัททุ่งคำ จำกัดควรคุ้มครองและเคารพสิทธิมนุษยชน และเยียวยาเมื่อเกิดผลกระทบร้ายแรงที่อาจเกี่ยวข้องกับการประกอบกิจการของบริษัท

บริษัททุ่งคำ จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทเหมืองแร่ทองคำซึ่งจดทะเบียนในไทย อ้างว่าสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอสสร้างความเสียหายให้กับชื่อเสียงของบริษัททุ่งคำ จำกัด เมื่อสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอสรายงานข่าวกล่าวหาว่าได้เกิดผลกระทบร้ายแรงด้านสิ่งแวดล้อม เนื่องจากการทำเหมืองทองคำแบบเปิดของบริษัทในจังหวัดเลย ทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือของไทย สถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอสและผู้สื่อข่าวของทางสถานีฯ อาจถูกดำเนินคดีหมิ่นประมาททางอาญาตามประมวลกฎหมายอาญาและพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 รวมทั้งข้อหาอื่น ๆ ทางบริษัทยังฟ้องคดีแพ่งความผิดฐานละเมิดเรียกค่าสินไหมทดแทนรวมเป็นเงิน 50 ล้านบาท รวมทั้งร้องขอให้เพิกถอนใบอนุญาตประกอบกิจการของสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอสเป็นเวลาห้าปี ศาลอาญาที่กรุงเทพฯ มีกำหนดจะอ่านคำสั่งหลังการไต่สวนมูลฟ้องข้อกล่าวหาของบริษัทในวันที่ 16 พฤศจิกายน 2559 โดยหากศาลรับพิจารณาคดี ก็จะเข้าสู่ขั้นตอนการสืบพยานต่อไป

เมื่อวันที่ 1 ก.ย. 2558 สถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอสออกอากาศคลิปวิดีโอรายงานข่าวรายการนักข่าวพลเมืองเกี่ยวกับการจัดค่ายเยาวชน เพื่อสร้างจิตสำนึกด้านสิ่งแวดล้อมในอำเภอวังสะพุง จังหวัดเลย เด็กนักเรียนหญิงอายุ 15 ปี ซึ่งเข้าร่วมในค่ายเยาวชน เป็นผู้บรรยายในวิดีโอข่าวของสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส และกล่าวหาว่า หกหมู่บ้านในบริเวณเหมืองแร่ทองคำ “เป็นพื้นที่ได้รับผลกระทบสิ่งแวดล้อมจากอุตสาหกรรมเหมืองแร่ทองคำ” 

ต่อมาวันที่ 12 พ.ย. 2558 บริษัททุ่งคำ จำกัด ยื่นคำฟ้องเพื่อดำเนินคดีต่อ วิรดา แซ่ลิ่ม ผู้สื่อข่าว สมชัย สุวรรณบรรณ ผู้อำนวยการสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอสในขณะนั้น ก่อเขต จันทเลิศลักษณ์ ผู้อำนวยการฝ่ายข่าวสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส โยธิน สิทธิบดีกุล ผู้อำนวยการฝ่ายโทรทัศน์และวิทยุ สถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส และสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอสเองด้วย โดยกล่าวหาว่า เนื้อหาในคลิปวิดีโอรายงานข่าวรายการนักข่าวพลเมืองทำลายชื่อเสียงของบริษัท 

บริษัททุ่งคำ จำกัดได้ยื่นฟ้องคดีหมิ่นประมาททางอาญาที่คล้ายคลึงกันหกคดีต่อสมาชิกของ “กลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิด” ซึ่งเป็นกลุ่มชาวบ้านหกหมู่บ้านที่อาศัยอยู่รอบเหมืองทองคำรวมกันรณรงค์เพื่อการคุ้มครองสิ่งแวดล้อม การฟื้นฟูสภาพแวดล้อมในท้องถิ่น และให้ปิดเหมืองทองคำของบริษัทในอำเภอวังสะพุง จังหวัดเลย

แถลงการณ์ระบุอีกว่า พวกเรายังคงกังวลกับการใช้กฎหมายหมิ่นประมาททางอาญา และพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ เพื่อจำกัดสิทธิที่จะมีเสรีภาพด้านความเห็นและเสรีภาพในการแสดงออกในประเทศไทย รวมทั้งเพื่อคุกคามนักปกป้องสิทธิมนุษยชนและผู้สื่อข่าว

สิทธิที่จะมีเสรีภาพในการแสดงออกได้รับการคุ้มครองตามข้อ 19 ของกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (International Covenant on Civil and Political Rights) ซึ่งไทยเป็นรัฐภาคี ตามกฎหมายระหว่างประเทศ การจำกัดเสรีภาพในการแสดงออกจะกระทำได้เฉพาะเท่าที่มีกฎหมายบัญญัติไว้เท่านั้น และต้องทำอย่างได้สัดส่วนและเพื่อความจำเป็นต่อการบรรลุเป้าหมายโดยชอบตามกฎหมาย การฟ้องร้องคดีและตั้งข้อกล่าวหาต่อสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส ผู้สื่อข่าวและสมาชิก “กลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิด” สะท้อนให้เห็นการใช้กฎหมายอาญาอย่างเหวี่ยงแห ซึ่งเป็นการละเมิดสิทธิที่จะมีเสรีภาพในการแสดงออก การเอาผิดทางอาญาต่อการแสดงความเห็นอย่างเสรี เป็นการสร้างความหวาดกลัวต่อสื่อมวลชนและนักปกป้องสิทธิมนุษยชน แม้ว่ารายงานข่าวเกี่ยวกับประเด็นสิ่งแวดล้อมและสิทธิมนุษยชนของพวกเขาจะเป็นไปเพื่อประโยชน์สาธารณะอย่างแท้จริง

หากศาลเห็นว่าจำเลยมีความผิดฐานหมิ่นประมาทตามมาตรา 328 ของประมวลกฎหมายอาญา และตามมาตรา 14 ของพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 ผู้สื่อข่าวสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอสอาจได้รับโทษจำคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับไม่เกิน 200,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

การกำหนดโทษจำคุกในคดีหมิ่นประมาทถือว่าเป็นการจำกัดอย่างไม่ได้สัดส่วนต่อสิทธิที่จะมีเสรีภาพในการแสดงออก และไม่อาจถือเป็นรูปแบบการลงโทษที่เหมาะสมสำหรับการหมิ่นประมาท ทั้งนี้ตามความเห็นของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (UN Human Rights Committee) ซึ่งเป็นคณะผู้เชี่ยวชาญที่ได้รับมอบหมายให้กำกับการปฏิบัติตามกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง รัฐบาลไทยควรยกเลิกการเอาผิดทางอาญาในคดีหมิ่นประมาทโดยทันที และปฏิเสธข้อเสนอให้แก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 ซึ่งทำให้เกิดข้อกังวลด้านสิทธิมนุษยชนตามรายละเอียดใน แถลงการณ์ร่วม ขององค์กรระหว่างประเทศห้าองค์กรเมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 2559 แถลงการณ์ดังกล่าวเรียกร้องให้รัฐบาลไทยปฏิบัติตามพันธกรณีระหว่างประเทศ เพื่อคุ้มครองสิทธิความเป็นส่วนตัว เสรีภาพด้านความเห็นและเสรีภาพในการแสดงออก

แถลงการณ์ระบุตอนท้ายด้วยว่า สิทธิที่จะมีเสรีภาพด้านความเห็นและเสรีภาพในการแสดงออกเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของสังคมทุกแห่งหน เสรีภาพเหล่านี้ส่งเสริมให้เกิดความโปร่งใส การตรวจสอบได้ และเอื้อให้เกิดการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนด้านอื่นๆ ประเทศไทยจะได้รับประโยชน์เมื่อนักปกป้องสิทธิมนุษยชน ผู้สื่อข่าวและสื่อมวลชนได้รับอนุญาตให้ปฏิบัติงานตามหน้าที่ของตนโดยสงบ และดำเนินกิจกรรมโดยไม่ต้องหวาดกลัวต่อการข่มขู่หรือการใช้กระบวนการทางกฎหมายเพื่อคุกคาม