"ทรัมป์" ปั๊มคาร์บอนเชื่อ‘โลกร้อน’ไม่มีจริงลุยฉีกข้อตกลง‘ปารีส’–เข้ายุค‘ฟอสซิล’เบ่งบาน? (11 พ.ย. 59)
Green News TV 11 พฤศจิกายน 2559
‘ทรัมป์’ปั๊มคาร์บอนเชื่อ‘โลกร้อน’ไม่มีจริงลุยฉีกข้อตกลง‘ปารีส’–เข้ายุค‘ฟอสซิล’เบ่งบาน?
… สำนักข่าวสิ่งแวดล้อม (Greennews)
แวดวง “สิ่งแวดล้อม” ทั่วโลกกำลังหวาดวิตกและตกอยู่ในสภาพกลืนไม่เข้าคลายไม่ออก ภายหลัง โดนัลด์ ทรัมป์ (Donald Trump) นักธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ เจ้าของกาสิโนและโรงแรมหลายแห่ง ในฐานะผู้แทนพรรครีพับลิกัน ชนะการเลือกตั้งได้รับเลือกเป็น “ประธานาธิบดี” คนที่ 45 ของสหรัฐอเมริกา
นั่นเพราะตลอดระยะเวลาการหาเสียงอย่างเข้มข้น “ทรัมป์” มักปล่อยคำพูดและนำเสนอนโยบายที่เป็น “ปฏิปักษ์” กับสิ่งแวดล้อม
เขาจึงถูกเปรียบเปรยว่าเป็น “ภัยคุกคาม” ของนานาชาติ โดยเฉพาะกับความพยายามของนานาประเทศที่ต้องการแก้ปัญหาเรื่องการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศ
“ทรัมป์” เร่งปั๊มคาร์บอน เชื่อโลกร้อนไม่มีจริง
“การเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศเป็นเรื่องหลอกลวง” ทรัมป์ ระบุไว้ตอนหนึ่งในการหาเสียง โดยเขาเชื่อว่าปัญหาโลกร้อนเป็นเพียง “วาทกรรม” ของประเทศจีนที่พยายามจะหยุดยั้งการเติบโตภาคอุตสาหกรรมของสหรัฐอเมริกา
“นั่นเป็นวาทกรรมของประเทศจีนที่พยายามทำให้ภาคอุตสาหกรรมของสหรัฐอเมริกาอ่อนแอลง”ว่าที่ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา ระบุ
ข้อมูลจาก Statista พบว่า ในปี 2015 สหรัฐอเมริกาเป็นประเทศที่ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เป็นลำดับที่ 2 ของโลก รองจากประเทศจีน โดยคิดเป็น 15.9% ของปริมาณก๊าซคาร์บอนที่ปล่อยทั่วโลก
สำหรับภาคการผลิตไฟฟ้า ปล่อยก๊าซคาร์บอนมากที่สุดคิดเป็นอัตราส่วน 30% ของการปล่อยก๊าซทั้งหมด โดยข้อมูลปี 2014 จาก Environmental Protection Agency : EPA ซึ่งเป็นหน่วยงานหลักด้านสิ่งแวดล้อมและมอนิเตอร์การปล่อยก๊าซเรือนกระจกของสหรัฐอเมริกา ระบุว่า 67% ของคาร์บอนในภาคการผลิตกระแสไฟฟ้ามาจากการเผา “เชื้อเพลิงฟอสซิล”
นั่นจึงปฏิเสธไม่ได้เลยว่า “สหรัฐอเมริกา” เป็นตัวแปรสำคัญที่ทำให้อุณหภูมิโลกสูงขึ้น จนเกิดเป็นปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่มนุษยชาติต้องเผชิญอยู่ในปัจจุบัน
ทว่า “ทรัมป์” กลับสะท้อนวิธีคิดของตัวเองผ่านการเปรยคำพูดว่า จะยุบ EPA ทิ้งให้รู้แล้วรู้รอด
ร้อนถึง Myron Ebell ซึ่งเป็นตัวเต็งที่จะได้ขึ้นแท่นผู้บริหาร EPA ภายใต้รัฐบาลชุดใหม่ ที่ต้องออกมาให้สัมภาษณ์สนับสนุนทรัมป์ผ่าน National Geographic ว่า การเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศจะไม่เป็นปัญหาไปอีก 100-200 ปี ดังนั้นโลกจึงควรมีการเข้าถึงพลังงานทุกประเภท
“ผมไม่สนับสนุนนโยบายช่วยเหลือทางด้านภาษีแก่ธุรกิจพลังงานหมุนเวียน” ตัวเต็งผู้บริหาร EPA รายนี้ ระบุ
บริษัทวิจัยอิสระ Lux Research ประมาณการณ์ว่า นโยบายต่างๆ ที่ทรัมป์นำเสนอจะทำให้สหรัฐอเมริกาปล่อยก๊าซคาร์บอนเพิ่ม 16% ภายในปี 2024 หรืออีกเพียง 8 ปีข้างหน้าเท่านั้น
นั่นคือภาพจำลองอนาคตของสหรัฐอเมริกา
ฉีกข้อตกลงปารีส รื้อทิ้งแผนลดก๊าซเรือนกระจก
นอกจากภาพนโยบายสิ่งแวดล้อมภายในประเทศแล้ว บนเวทีโลก “ทรัมป์” ก็จัดจ้านไม่แพ้กัน
“ทรัมป์” มีแนวคิด “ยกเลิก” การดำเนินมาตรการ Climate Action Plan และ Clean Power Plan ซึ่งเป็นแผนลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่จัดทำขึ้นในสมัยอดีตประธานาธิบดีบารัค โอบามา
แผนดังกล่าว ตั้งเป้าไว้ว่าจะลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนในภาคการผลิตกระแสไฟฟ้าลงให้ได้ 1 ใน 3 ภายในปี 2030 หรืออีกประมาณ 14 ปีข้างหน้า (เทียบเคียงกับอัตราการปล่อยก๊าซคาร์บอนในปี 2005)
ที่สำคัญก็คือ ทั้ง 2 แผน เป็นมาตรการที่สหรัฐอเมริกาได้ให้คำมั่นไว้กับผู้นำ 197 ประเทศ ในการประชุมรัฐภาคีอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศสมัยที่ 21 (COP 21) ณ กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส เมื่อปี 2015
ทว่า จนถึงวินาทีนี้ มีความเป็นไปได้สูงที่สหรัฐอเมริกาจะ “ฉีกทิ้ง” ทุกข้อตกลง
โดนัลด์ ทรัมป์ ส่งสัญญาณชัดเจนว่าจะนำพาสหรัฐอเมริกา “ออกจาก” ข้อตกลงปารีส (Paris Agreement) ที่มีผลบังคับใช้อย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 4 พ.ย.2559
นั่นทำให้ มหาอำนาจผู้ปล่อยก๊าซเรือนกระจำเป็นลำดับ 2 ของโลก ไม่จำเป็นต้องร่วมมือกับนานาประเทศเพื่อควบคุมอุณหภูมิโลกไม่ให้เพิ่มขึ้นเกินกว่า 2 องศาเซลเซียส ภายในสิ้นศตวรรษที่ 21 อีกต่อไป
ด้วยท่าทีของสหรัฐอเมริกาเช่นนี้ อาจทำให้ประเทศอื่นๆ ที่เข้าร่วมในข้อตกลง “เอาเยี่ยงอย่าง” จนนำไปสู่ปรากฏการณ์ “แตกแถว” และคว่ำข้อตกลงในท้ายที่สุด
“ฟอสซิล” เบ่งบาน อเมริกา Great Again
มีความเป็นไปได้สูงที่ข้อตกลงบนโต๊ะเจรจาจะถูก “ล้ม” โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อนานาประเทศเริ่มขานรับแนวคิดฝ่ายขวา เห็นได้จากการเหยียดเชื้อชาติและศาสนาที่ทวีความรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ หรือแม้แต่กรณีการลงประชามติของชาวอังกฤษเพื่อออกจากการเป็นสมาชิกสหภาพยุโรป (อียู)
ในส่วนของ “ทรัมป์” เอง ตลอดระยะเวลาการหาเสียงก็มีบ่อยครั้งที่แสดงอาการ “เหยียด” ผ่านคำพูด ซึ่งพฤติกรรมเช่นนี้ย่อมไม่เป็นผลดีต่อการแสวงหาความร่วมมือระหว่างประเทศในการแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อม และอาจส่งผลให้วงเจรจาแตกกระเจิงได้
“ทรัมป์” พูดชัดว่า ต้องการให้อเมริกายิ่งใหญ่อีกครั้ง (Great Again) โดยจะสนับสนุน “การลงทุน” ของชาวอเมริกาเพื่อคนอเมริกา นั่นทำให้บรรดานักวิเคราะห์ต่างเห็นตรงกันว่า ภายใต้การนำของประธานาธิบดีคนที่ 45 ธุรกิจขุดเจาะ “เชื้อเพลิงฟอสซิล” จะเบ่งบาน
The Wall Street Journal สื่อยักษ์ใหญ่ของสหรัฐอเมริกา รายงานว่า ในขณะที่รัฐบาลโอบามาปฏิเสธมาโดยตลอด “ทรัมป์” กลับเกริ่นว่าจะเชิญบริษัทพลังงานสัญชาติอเมริกันอย่าง TransCanada Corp ให้มายื่นขอทำโครงการท่อส่งน้ำมันจากแคนาดา ผ่านสหรัฐอเมริกาเพื่อไปยังอ่าวเท็กซัส
ขณะที่บริษัทท่อส่งก๊าซสัญชาติอเมริกาอย่าง Energy Transfer Equity L.P ได้รับอานิสงค์จากการชนะการเลือกตั้งของ “ทรัมป์” ไปเป็นที่เรียบร้อย โดยหุ้นบริษัทกระโดดขึ้น 18% โดยผู้บริหารบริษัทได้ให้สัมภาษณ์กับสื่ออเมริกันว่า จะสามารถเปิดท่อส่งแห่งใหม่จากแหล่งขุดเจาะน้ำมันในรัฐนอร์ทดาโกตาไปยังรัฐเท็กซัสได้ภายในปี 2017 ซึ่งแนวท่อผ่าพื้นที่อ่อนไหวและที่อยู่ของ “กลุ่มชนเผ่า”
ทว่า ท่าทีของ “ทรัมป์” เริ่มอ่อนลงภายหลังชนะการเลือกตั้ง
“ผมอยากจะบอกกับโลกว่าในขณะที่เราจะให้ความสำคัญกับชาวอเมริกาก่อน แต่เราก็จะติดต่อประสานกับทุกคนอย่างเป็นธรรม ทุกคน ทุกประเทศ เราจะมองหาจุดร่วม ไม่เป็นศัตรูกัน เราจะเป็นหุ้นส่วน ไม่มีข้อขัดแย้ง” ทรัมป์ กล่าวภายหลังผลการเลือกตั้งออกอย่างเป็นทางการ
คงไม่มีใครทราบว่า “ทรัมป์” จะดำเนินนโยบายที่ดุดันและขวางโลกตามที่เขาปราศรัยในระหว่างการหาเสียงหรือไม่ และข้อเท็จจริงประการหนึ่งก็คือ “ทรัมป์” เป็นบุคคลที่คาดเดาได้อยาก และมีพฤติกรรมกลับไป-กลับมาอยู่ตลอดเวลา
เป็นไปได้อีกเช่นกันว่า เขาอาจจะพูดไปเพียงเพื่อต้องการสร้างฐานความนิยม และวงการสิ่งแวดล้อมทั่วโลกก็หวังว่ามันจะเป็นเช่นนั้น